วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

Normative Perception คำตอบประวัติศาสตร์ไทย (1) / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On September 4, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

ข้อเขียนชิ้นนี้ความจริงแล้วเป็นการเปิดเผยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงข้อมูลและบิดเบือนความจริง ซึ่งอาจถูกใช้ในการเขียนประวัติศาสตร์ไทย หรือบางประเทศมีเจตนาไม่ต้องการนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการทำงานในลักษณะการบิดเบือนและปลอมแปลงข้อมูลและข้อเท็จจริง

เรื่องราวที่จะเขียนเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ครั้งที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก้าวขึ้นเป็นอัศวินขี่ม้าเขียว ในครั้งนั้นผมได้เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ “สยามปะทะโลกาภิวัตน์” ซึ่งมีนายทหารจาก กอ.รมน. บางท่านสนใจและให้เกียรติสนับสนุนผลักดันผลงานเล่มนี้ อาทิ พล.อ.ธีระพงษ์ ศรีวัฒนกุล พล.อ.บุญชัย ถาวรเศรษฐ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนายทหารอีกหลายท่านใน กอ.รมน. คอยสนับสนุนเป็นกำลังใจให้ แม้จะเป็นเรื่องที่เสี่ยงและหมิ่นเหม่มากสำหรับสถานการณ์ในช่วงดังกล่าว

สำหรับผมก็มีความเสี่ยงอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงเวลานั้นอยู่ในภาวะการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยมีสนธิ ลิ้มทองกุล หัวหอกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อดีตลูกพี่เก่าของผมเป็นผู้นำในการขับไล่

หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นข้อมูลที่นำมาจากผลการสัมมนาทางวิชาการของสถาบันสุวรรณภูมิอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นทั้งสำนักพิมพ์และสถาบันทางวิชาการหนังสือสยามปะทะโลกาภิวัตน์ที่ผมเป็นผู้เขียนและเรียบเรียง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่เขียนถึงรากลึกของปัญหาอันเป็นมูลฐานที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองตอนนั้น ปัจจุบันกลายเป็นหนังสือที่หายากเล่มหนึ่ง แต่ถ้าสนใจจริงๆก็ยังพอหาอ่านได้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วไป หรือถ้าต้องการเก็บไว้เป็นหนังสือค้นคว้าจริงๆก็ยังพอหาได้อยู่ โดยอาจติดต่อไปที่สายส่งบริษัทเคล็ดไทย ซึ่งน่าจะหาให้ผู้สนใจได้ หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน

เขียนแนะนำอย่างนี้ไม่ใช่เพราะเป็นหนังสือที่ตัวเองเขียน แต่เป็นงานวิชาการที่หายากและเป็นประวัติศาสตร์ที่หลายคนถามหา ผมจึงขอถือโอกาสนี้ใช้พื้นที่คอลัมน์นี้ประสานงานไปด้วย

หนังสือเล่มดังกล่าวผมได้เกริ่นโดยยกเอาพุทธภาษิตบทหนึ่งซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลีว่า “เยธัมมาเหตุปัปภวา เตสังเหตุตถาคโต (อาหะ) เตสัญจโยนิโรโธจ เอวังวาทีมมหาสมโณ” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุของธรรมเหล่านั้น เมื่อสิ้นเหตุของธรรมเหล่านั้นจึงดับทุกข์ได้” พระมหาสมณะมีวาทะตรัสสอนเช่นนี้ สรุปสั้นๆคือ ปัญหาทุกอย่างนั้น ศาสนาพุทธให้แก้ตรงเหตุ

พระคาถาบทเยธัมมาฯเป็นพุทธภาษิตที่เผยแผ่ตั้งแต่ครั้งโบราณ มีปรากฏอยู่ในศิลาจารึกต่างๆ หรือหลังพระพิมพ์ดินเผาซึ่งสร้างขึ้นในสมัยโบราณ จากการค้นคว้าที่ลึกลงไปพบว่าพระคาถาบทดังกล่าวถือเป็นปรัชญาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคโบราณ

ประโยชน์ข้อแรกสำหรับตัวเองที่เกิดขึ้นจากการเขียนหนังสือเล่มนี้คือ ทำให้ตระหนักชัดว่าวิธีคิดและแนวทางในพระพุทธศาสนาหลายอย่าง โดยแท้จริงแล้วเราสามารถเอามาใช้เป็นแนวทางหรือเป็นทฤษฎีในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ได้ เช่นเดียวกับข้อเขียนบทความนี้ ถ้ากล่าวถึงระดับวิชาการก็คือเรื่องของกระบวนการรับรู้ในแบบมาตรฐานหรือ Normative Perception คือการรับรู้ของคนเราต่อความรู้มาตรฐาน เรื่องดังกล่าวถ้ามองในทางพุทธแล้วก็เกี่ยวโยงไปถึงอายตนะทั้ง 6 ซึ่งเป็นทวารที่เชื่อมโยงในการรับรู้ของคนเรา อันมีทั้งอายตนะภายในและภายนอก เป็นเรื่องของหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งอายตนะภายนอกและภายในจะเชื่อมโยงกันเป็นคู่คือ เสียงจะเชื่อมโยงกับหู จมูกเชื่อมโยงกับกลิ่น รสชาติก็เชื่อมโยงกับลิ้น

ที่ชี้ให้เห็นปัญหานี้ในทางประวัติศาสตร์ เพราะงานประวัติศาสตร์สามารถโน้มเอียงให้เกิดความรักชาติ สะท้อนถึงเรื่องของอัตลักษณ์หรือตัวตนของชาติ และยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภาพลักษณ์ โลกทัศน์ และเรื่องอื่นๆอีกหลายประการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์

มันจึงเป็นลักษณะ “อคติ” หรือ “ภยาคติ” การห่วงหาอาลัย ความจงรักภักดี ตลอดจนจิตวิญญาณ สิ่งต่างๆที่เป็นอายตนะเหล่านี้ถ้าจะอธิบายจริงๆในทางพุทธก็อาจจะทำได้ โดยวิธีการที่เรียกว่า “อินทรีย์สังวร” คือต้องมีการสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือต้องไม่ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป หรือฟังเสียง หรือดมกลิ่น ลิ้มรส หรือถูกต้องโผฏฐัพพะ คือรู้อารมณ์ด้วยใจ ระวังไม่ให้มีกิเลสครอบงำในเวลาของการรับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง 6

นี่คืออีกทฤษฎีหนึ่งที่เราเอาแนวคิดทางพุทธเข้ามาปรับใช้ในทางประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งกระบวนการเช่นนี้จะเกิดประสิทธิภาพได้ดีต้องกระทำโดยโยนิโสมนสิการ หรือการพิจารณาโดยละเอียดและถ่องแท้ ที่สำคัญต้องมีการใช้สติปัญญา คือมีสติที่จะแยกแยะและใช้ปัญญาพิจารณาก่อนจะเกิดกระบวนการผะสะระหว่างอายตนะภายในและภายนอก นี่คืออีกทฤษฎีหนึ่งที่ผมเห็นว่าปรัชญาและหลักคิดของพุทธะสามารถเอามาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้


You must be logged in to post a comment Login