วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

พายเรือในอ่าง / โดย พระพยอม กัลยาโณ

On September 4, 2017

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

เมืองไทยไปๆมาๆดูเหมือน “พายเรือในอ่าง” สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ที่กลับมามีจำนวนมากขึ้น เพราะปี 2560 เฉพาะในกรุงเทพฯ มีผู้เป็นโรคนี้ถึง 80,000 คน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 6 คน โดยในกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 14-24 ปีมากที่สุด เป็นกลุ่มชายรักชายมากถึง 68 เปอร์เซ็นต์

ข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) บอกว่ากำลังเร่งลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยเป้าหมายในปี 2563 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในกรุงเทพฯจะต้องลดลงจาก 2,000 รายต่อปีเหลือประมาณ 900 รายต่อปีหรือ 2.4 รายต่อวัน ทั้งตั้งเป้าว่าในปี 2573 ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต้องลดลงเหลือไม่เกิน 500 รายต่อปี

ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อรายเก่าจะส่งเสริมให้เข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อเอชไอวีหากไม่ได้รับยาต้านไวรัสภายใน 3-10 ปี จะส่งผลต่อร่างกายเป็นโรคเอดส์ในที่สุด แต่หากได้รับยาต้านไวรัสอย่างเหมาะสมทันเวลา ผู้ติดเชื้อก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปรกติ

การระบาดของโรคเอดส์จนถึงปัจจุบันสื่อถึงความวิปริตทางจิตใจ ซึ่งทางกทม.ก็พยายามรณรงค์ให้ลดลงให้ได้ ส่วนจะได้หรือไม่ ก็ต้องดูถึงอารมณ์ความต้องการความใฝ่ต่ำที่มันครอบงำจิตใจของคนเราด้วย เพราะอารมณ์ใฝ่ต่ำของมนุษย์นั้นมีมาช้านานแล้ว ช่วงนี้มาแผลงฤทธิ์ก็ทำให้ผู้คนอยู่ยากอยู่ลำบาก ไม่ผาสุกอย่างนิรันดร์ถาวร สุขแค่ชั่วครู่ชั่วยาม เพราะอารมณ์ใฝ่ต่ำที่ไม่รู้จักยั้งคิด คิดแต่สนุก

โบราณจึงบอกว่า “รักสนุก ระวังจะทุกข์ถนัด” นี่รักความกำหนัด ปล่อยให้อารมณ์ใฝ่ต่ำมาครอบงำจนกระทั่งชีวิตต้องตกทุกข์ระกำลำบาก อยู่ยาก อยู่ลำบาก ต้องเจ็บ ต้องป่วย งบประมาณการรักษาดูแลคนเจ็บคนป่วยในประเทศไทยจึงไม่ใช่น้อยเลย

แทนที่คนเราจะแสวงหาโชคหาลาภอันประเสริฐตามาสุภาษิตที่ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา-ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” แล้ววันนี้ได้ลาภหรือได้ทุกขลาภ สุขอยู่พักเดียวแต่ต้องห่อเหี่ยวไปตลอดชีวิต ถ้ารักษาไม่หาย โรคที่มาจากความสนุกทางเนื้อหนัง ความสุขทางเนื้อหนังที่ใฝ่ต่ำ จึงทำให้ชีวิตต้องเผชิญชะตากรรมที่ยากจะเยียวยาแก้ไขได้ เพราะโรคนี้ยังไม่มียาจะมาบำบัดรักษาได้อย่างถาวร ทำได้แค่ยับยั้งชั่วพักชั่ววูบ คนที่ติดเชื้อจึงเจ็บปวดเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้นก็ขอให้พวกเราชาวพุทธชาวไทย อยู่ด้วยหลักธรรม อย่าอยู่ในความกำหนัด ประกอบกิจกรรมใฝ่ต่ำก็จะพบกับความลำบาก เป็นทุกข์ ถ้าอยู่ในธรรมก็ไม่ไปอยู่ในกรรม ก็หวังว่าความรู้สึกที่ดีๆจะกลับมาเมื่อเกิดทุกข์ ทำให้เกิดศรัทธาและปัญญาที่จะดับทุกข์ อาตมาก็เชื่อว่าปัญญาจะอยู่เหนือทุกข์

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login