วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

ดาวอังคารมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว / โดย ทีมข่าวการเมือง

On August 21, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ผ่านไปอีกคดีสำหรับกรณี “ไผ่ ดาวดิน” นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เมื่อศาลจังหวัดขอนแก่นได้อ่านคำพิพากษาลับตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยรายงานข่าวระบุว่า “ไผ่” ให้การรับสารภาพพร้อมน้ำตาเป็นเวลานาน ซึ่งก่อนหน้านี้ “ไผ่” ได้ขอประกันตัวถึง 10 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต

“ไผ่” เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ “พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10” ของ “บีบีซีไทย” ไว้บนเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้แชร์บทความเดียวกันประมาณ 2,600 ราย แต่ปรากฏว่า “ไผ่” ถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว แม้แต่ “บีบีซีไทย” ที่เผยแพร่บทความก็ไม่ถูกดำเนินคดี

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม “ไผ่” ได้ตัดสินใจรับสารภาพ ซึ่งนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของ “ไผ่” กล่าวว่า “ไผ่” ตัดสินใจรับสารภาพ “โดยสมัครใจและไม่มีแรงบีบคั้น” โดยให้เหตุผลว่า “หากสืบพยานต่อไปอาจมีผลสะเทือนในหลายเรื่อง” ซึ่งอาจสืบเนื่องจากการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับ ซึ่ง “ไผ่” ยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

กรณีของ “ไผ่” ถูกกดดันด้วยวิธีการต่างๆมาโดยตลอด ซึ่งเป็นอุปสรรคในการต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรงอย่างนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจก็ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากการทำกิจกรรมที่ทางเท้าบริเวณด้านหน้าศาล

นอกจากคดีนี้แล้ว “ไผ่” ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาอีก 1 คดีคือ คดีชูป้ายและชู 3 นิ้วต่อต้าน 1 ปีรัฐประหารระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภาคอีสานบริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่น

จากอิสรภาพ “ไผ่” ถึงเสรีภาพ “เนติวิทย์”

กรณีของ “ไผ่” สะท้อนถึงการต่อต้านรัฐประหารของนักศึกษาและนักวิชาการด้วยการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ แม้จะเป็นไปอย่างสงบ หรือแม้แต่ยืนเฉยๆ ก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาต่างๆ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมของนักศึกษาและนักวิชาการถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลทหารและ คสช. รวมทั้งผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

เช่นเดียวกับกรณีของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานสภานิสิตจุฬาฯ พร้อมด้วยเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯอีก 7 คน ที่ถูกโยงว่าเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหาร ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ซึ่งเกิดความชุลมุนกรณีอาจารย์ “ล็อกคอ” 1 ในสภานิสิตจุฬาฯ จนกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมออนไลน์ไปทั่ว

ที่สำคัญไม่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการสอบสวนด้านจรรยาบรรณกับอาจารย์ที่ “ล็อกคอนิสิต” หรือไม่ อย่างไร แต่นายเนติวิทย์และเพื่อนกลับถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยว่าแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยเจตนาเดินออกจากแถวขณะประกอบพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ซึ่งจะมีการตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

โดยเฉพาะนายเนติวิทย์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนเพิ่มอีก 1 กรณีคือ ใช้สถานที่ราชการจัดประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์

แม้นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จะโพสต์ความเห็นว่า เป็นแค่ข้อหาเบาทั้ง 2 ข้อ ถ้าถูกตัดสินว่าผิดก็แค่ถูกตัดคะแนนความประพฤติไม่มาก ไม่มีผลต่อการจบหรือเกียรตินิยม อย่ากังวลมากนัก และยังอุทธรณ์ผลหลังจากนั้นได้ด้วย แต่ปรากฏว่าคณาจารย์และนักวิชาการไทยถึง 128 คนจากหลายสถาบันในนามของ “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)” ได้ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อสิทธิเสรีภาพของนิสิตที่ถูกสอบสวนและเกียรติภูมิของจุฬาฯ จึงเรียกร้องให้ผู้บริหารจุฬาฯเข้าใจและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งแนะว่าควรใช้โอกาสนี้สร้างปัญญาให้แก่คนในประชาคมและสังคมด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงอย่างมีสติ เพื่อให้เห็นข้อดีข้อเสียของทั้งสองฝ่ายและแสวงหาแนวทางแก้ไขต่อไป ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจกับนิสิต ทั้งพิธีกรรมถวายสัตย์ฯก็เป็นเพียงสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อราว 20 ปีที่แล้วเท่านั้น

“การก้าวไปข้างหน้าให้ทันตามพลวัตของโลกยุคใหม่ จารีตประเพณี ค่านิยมและความเชื่อในทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทย ล้วนต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญญาชนคนรุ่นใหม่มักมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนผู้มีอำนาจที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงและใช้อำนาจดิบลงโทษผู้ที่เห็นต่างนั้นมักประสบกับการต่อต้านอย่างรุนแรง”

แถลงการณ์ยังให้ผู้บริหารของจุฬาฯตระหนักถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่พื้นที่สิทธิเสรีภาพในสังคมไทยหดแคบลงทุกขณะ มหาวิทยาลัยจะยังเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้สมาชิกของประชาคมได้มีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานเหลืออยู่บ้าง

ที่สำคัญนายเนติวิทย์ได้โพสต์ภาพจดหมายจากศาสตราจารย์นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักภาษาศาสตร์และนักวิชาการจากสหรัฐ ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว (14 สิงหาคม)  ที่ส่งมาให้กำลังใจโดยมีรายละเอียดว่า “ได้ทราบข่าวอย่างหดหู่เกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างน่ารังเกียจ ซึ่งคุณ (เนติวิทย์) ตกเป็นเหยื่อและการคุกคามต่อคุณอย่างรุนแรงจากการที่คุณยืนหยัดเพื่อความยุติธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐาน ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้คนอย่างคุณคือคนที่จะถางทางประเทศไปสู่อนาคตที่สดใสได้ หวังและเชื่อว่าการกระทำอันอยุติธรรมต่อคุณจะสิ้นสุดไปโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะสามารถก้าวดำเนินต่อไปด้วยความพยายามอันน่าเคารพและกล้าหาญของคุณเพื่อนำประเทศให้ก้าวเดินต่อไป”

นายเนติวิทย์ได้กล่าวขอบคุณผู้ให้กำลังใจในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และจะไม่ย่อท้อที่จะฝ่าฟันไปให้ได้ เพราะถ้าไม่มีตรงนี้ (จุฬาฯ) ประชาธิปไตยและเสรีภาพก็ไม่มี ทั้งที่ตนและเพื่อนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

เมื่อมาตรา 44 เปิดทางตั้งอธิการบดี “คนนอก” ได้

ประเด็นสิทธิเสรีภาพยังถูกจับตามากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ร่วมกับมาตรา 256 ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 37/2560 เปิดทางให้ “คนนอก” เป็นอธิการบดีและผู้บริหารในมหาวิทยาลัย อ้างว่าเพื่อไม่ให้การบริหารงานของสถานศึกษาต้องหยุดชะงักจนไม่สามารถขับเคลื่อนสถานศึกษาได้อย่างเป็นระบบ ขาดความต่อเนื่อง และเกิดความล่าช้า โดยเพิ่มอำนาจที่สำคัญคือ

“…เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพ ให้สถาบันอุดมศึกษามีอํานาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดํารงตําแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้

ในการดําเนินการเพื่อให้มีสภาคณาจารย์ตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ให้คณาจารย์และบุคลากรอื่นของสถาบันอุดมศึกษานั้น ซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์ แต่เป็นข้าราชการหรือพนักงานของสถาบันอุดมศึกษานั้น มีสิทธิเลือกและดํารงตําแหน่งในสภาคณาจารย์ได้เช่นเดียวกัน

ในกรณีเห็นสมควร นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้…”

คำสั่งของหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในการพยายามนำ “การทหาร” มาครอบงำ “โลกวิชาการและการศึกษา” ซึ่งเป็นแนวความคิดที่สวนทางอย่างยิ่งกับกระแสของโลกปัจจุบันหรือโลกยุค 4.0 ที่ “ทั่นผู้นำ” พยายามกรอกหูสร้างภาพให้รัฐประหารครั้งนี้ “ไม่เสียของ-เสียเปล่า” ทั้งที่ผ่านมากว่า 3 ปี รัฐบาลทหารและ คสช. ล้มเหลวเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเร่งด่วนที่จะสร้างความปรองดอง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งยังจมปลักกับระบบและค่านิยมเดิมๆ แล้วยังจะดึงให้สถาบันอุดมศึกษาซึ่งถือเป็นสถานที่ทางวิชาการที่จะบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้เป็นอนาคตของประเทศและประชาชน เพราะมหาวิทยาลัยถือเป็นพื้นที่แสวงหาและเรียนรู้ พื้นที่ของเสรีชนที่ต้องมีอิสระที่จะคิดและสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

แต่วันนี้กลับกำลังถอยหลังไปเหมือนยุครัฐบาลเผด็จการทหารในอดีตที่มหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการและคนในประเทศเหมือน “หุ่นยนต์” ที่ต้องรับคำสั่งจากผู้มีอำนาจเท่านั้น เพราะประกาศฉบับนี้ให้อำนาจกับ คสช. อย่างเต็มที่ในการตั้ง “คนนอก” มาดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด รวมถึงควบคุมในส่วนของ “สภาคณาจารย์” ซึ่งระบุชัดเจนว่าอำนาจในการจะแย้งหรือแก้ไขการแต่งตั้งใดๆอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือหัวหน้า คสช. นั่นเอง

หลังจากคำสั่ง คสช. ประกาศและมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 9 สิงหาคม ก็เกิดปฏิกิริยาจากคณาจารย์และนักวิชาการ 260 คน ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มนักวิชาการที่มีจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารมาโดยตลอดเท่านั้น ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในนามของ “เครือข่ายคณาจารย์และบุคลากรอุดมศึกษาไทย” เรียกร้องให้หยุดแทรกแซงเสรีภาพในมหาวิทยาลัย เพราะคำสั่ง คสช. ถือเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแทรกแซงความเป็นอิสระของสถาบันอุดมศึกษา นับตั้งแต่มีการดึงผู้บริหารของมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐผ่านการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ได้แถลงการณ์ให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและหยุดแทรกแซงมหาวิทยาลัยในทุกรูปแบบในทันที เพราะเป็นการอ้างปรากฏการณ์เพียงบางส่วนของมหาวิทยาลัยมาใช้แบบ “เหมารวม” เพื่อควบคุม กำกับ และแทรกแซงอำนาจทางการบริหาร ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยสูญเสียความเป็นอิสระ ขาดเสรีภาพทางวิชาการและการเป็นสถาบันที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการสร้างปัญญาของสังคม ทั้งทำให้มหาวิทยาลัยตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทางการเมือง อันจะทำให้เกิดการสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์และเป็น “พิษร้ายทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย” ในอนาคต

ทหารที่เคยเป็น“อธิการบดี” จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

เมื่อย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่ามีนายทหารเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยรัฐหลายคน ซึ่งเป็นยุคที่ปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหารทั้งสิ้น โดยยุคแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม และยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ทหารที่เคยเป็นอธิการบดีจุฬาฯมี 3 คนคือ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็น 2 ครั้งคือ 25 พฤศจิกายน 2479 ถึง 1 สิงหาคม 2487 และ 21 ตุลาคม 2492 ถึง 21 กรกฎาคม 2493 พล.อ.ท.มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฎ์ เป็น 2 ครั้งคือ 17 สิงหาคม 2493 ถึง 16 สิงหาคม 2504 และ 7 กันยายน 2504 ถึง 6 กันยายน 2506 และ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็น 3 ครั้งคือ 7 กันยายน 2506 ถึง 6 กันยายน 2508, 7 กันยายน 2508 ถึง 6 กันยายน 2510 และ 7 กันยายน 2510 ถึง 26 มีนาคม 2512

ส่วนทหารที่เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มี 3 คนคือ พล.ท.สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ ระหว่าง 8 เมษายน 2494 ถึง 18 มีนาคม 2495 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ระหว่าง 19 มีนาคม 2495 ถึง 26 กันยายน 2500 และ พล.อ.ถนอม กิตติขจร ระหว่าง 8 มกราคม 2503 ถึง 18 ธันวาคม 2506

มหาวิทยาลัย “เต็มใจ” ให้ตีตรวน?

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกในยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่มหาวิทยาลัยจะถูกแทรกแซงหรือคุมโดยทหารอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ทหารจะยังไม่ได้เข้ามาเป็นอธิการบดีหรือผู้บริหาร แต่ปัจจุบันผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็น “นอมินี” ที่สนับสนุนรัฐบาลทหารอยู่แล้ว ปัจจุบันก็มีผู้บริหารในมหาวิทยาลัยหลายคนที่พร้อมจะทำงานกับคณะรัฐประหาร หรือเห็นด้วยกับความคิดของคณะรัฐประหาร อย่างนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังจะครบวาระก็ออกมาสนับสนุนคำสั่งมาตรา 44 ที่เหมือนการตีตรวนมหาวิทยาลัยให้อยู่ในอำนาจของทหาร ที่ผ่านมานายสมคิดเป็นหนึ่งในผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เต็มใจทำงานร่วมกับคณะรัฐประหารมาโดยตลอด

แตกต่างสิ้นเชิงกับกลุ่มนักวิชาการที่ต่อต้านรัฐประหารที่หลายคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติและหลายคนถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา นักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย นายชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มช. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และ นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ถูกหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยอ่านแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมถึงวันที่ 18 กรกฎาคม ยังมีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ

เหลือแต่ดาวอังคารที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว?

การที่รัฐบาลทหารพยายามใช้อำนาจเพื่อแทรกแซงหรือตีตรวนแม้แต่ในมหาวิทยาลัยที่ถือเป็นพื้นที่เปิดกว้างและมีเสรีภาพที่สุดย่อมทำให้มีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วย การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารของนักศึกษาและนักวิชาการที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่สามารถล้มล้างอำนาจของคณะรัฐประหารได้ แต่ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาไม่น้อยจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร โดยเฉพาะประชาคมโลกที่ไม่ร่วมสังคายนาตามปรกติกับรัฐบาลทหาร

ดังนั้น ยิ่งรัฐบาลทหารและ คสช. อยู่นานเท่าไรก็ยิ่งต้องไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมใดๆ ไม่ว่าจะ “ลงจากหลังเสือ” หรือจะ “ต่อท่ออำนาจ” จึงไม่ใช่แค่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีอยู่เท่านั้น แต่ยังต้องทำให้คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกับการใช้อำนาจด้วย อย่างที่ “ทั่นผู้นำ” บอกว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงแค่การเลือกตั้ง หรือกรณีที่ให้ตอบ 4 คำถามชี้นำว่า หลังการเลือกตั้งหากไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะทำยังไง

เช่นเดียวกับการใช้อำนาจมาตรา 44 เปิดโอกาสให้ “คนนอก” เข้ามาบริหาร (ควบคุม) ในมหาวิทยาลัย ซึ่งถูกมองว่ายิ่งกว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะ “เสรีภาพทางวิชาการ” ถือเป็นรากฐานสำคัญของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยหรือในทางวิชาการจะต้องเป็นพื้นที่ของเสรีชน เป็นพื้นที่เสรีทางความรู้ เสรีภาพทางวิชาการจึงต้องไม่มีข้อจำกัดและข้อผูกมัดใดๆ

การออกคำสั่งมาตรา 44 ฉบับนี้จึงถูกตั้งคำถามเปรียบเปรยว่าเป็นการ “รัฐประหารทางวิชาการ” ที่เปลี่ยน “มหาวิทยาลัย” ให้เป็น “ค่ายทหาร” ใช่หรือไม่? เหตุใด “โลกทางวิชาการ” ที่ต้องมี “เสรีภาพ” จึงถูกปฏิรูปกลายไปอยู่ภายใต้ “โลกของทหาร” ที่ห้ามคิด ห้ามถาม ห้ามวิจารณ์ ต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น?

แทนที่พื้นที่ในมหาวิทยาลัยจะเป็นประตูไปสู่ประชาธิปไตยของสังคมทุกภาคส่วน เป็นสถานที่บ่มเพาะความคิดที่ต้องเปิดกว้างที่สุด มีอิสระและเสรีภาพมากที่สุด กลับกลายเป็นอีกพื้นที่ที่ถูกกระชับอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

พื้นที่ประชาธิปไตยและเสรีภาพสำหรับประเทศไทยและประชาชนคนไทยจึงมีแต่ถูกปิดประตูให้แคบลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่คนหนุ่มสาวที่ควรจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศและสังคมกลับต้องถูกควบคุมทั้งการ “จับขังคุกจริง” ในเรือนจำ และ “จับขังคุกทางความคิด” ในสถาบันการศึกษา ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุคประชาธิปไตย 99.99% ภายใต้ระบอบพิสดาร

ทุกพื้นที่ในสถาบันการศึกษา ไม่เว้นแค่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ที่ควรจะยังมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว กลับกลายเป็นถูก “กระชับพื้นที่เสรีภาพ” อย่างน่าอนาถ

เป็นคนไทยย่อมเลือกที่จะอยู่บนผืนแผ่นดินประเทศไทย คิดจะไปอยู่แผ่นดินประเทศอื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

หรือจะเหลือแต่บนดาวอังคารเท่านั้นที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว!!??


You must be logged in to post a comment Login