วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ตั้งครรภ์กับการขับรถยนต์ / โดย พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์

On August 21, 2017

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์

ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ล้วนแล้วส่งผลให้ขาดความคล่องตัวในการเดินทาง แต่อาจมีความจำเป็นต้องสัญจรทางรถยนต์ หลายคนคงมีความกังวลว่าจะขับรถตามปรกติได้หรือไม่ และมีข้อปฏิบัติอย่างไรในระหว่างการขับรถให้ปลอดภัยสูงที่สุด

แม่ที่ตั้งครรภ์สามารถนั่งรถยนต์หรือแม้กระทั่งขับรถยนต์ด้วยตนเองได้ โดยอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขับรถ ช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษมี 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงไตรมาสแรกหรือช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ช่วงนี้การเปลี่ยนแปลงขนาดหน้าท้องยังไม่มากนัก แต่หากเกิดปัญหาในระหว่างการขับขี่ก็จะเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายได้ ส่วนช่วงไตรมาสสุดท้ายคือช่วงก่อนคลอดในเดือนที่ 7-9 ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล หากยังต้องทำงานประจำอยู่ก็สามารถขับรถไปทำงานประจำวันหรือเดินทางในระยะใกล้ได้ แต่ต้องระมัดระวังอย่างมาก

ไม่ควรขับรถเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อว่าหากเกิดอุบัติเหตุจะได้หยุดรถได้ทันท่วงที ควรหลีกเลี่ยงการนั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป ควรปรับเบาะนั่งให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ โดยห่างจากพวงมาลัย 10-12 นิ้ว อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นเส้นทางชัดเจน โดยที่มือสามารถหมุนพวงมาลัย เท้าเหยียบเบรกและคันเร่งได้ถนัด แล้วจึงคาดเข็มขัดนิรภัย โดยให้แนวทแยงของเข็มขัดคาดผ่านร่องอกไปตามแนวโค้งของท้อง ส่วนแนวนอนของเข็มขัดอยู่เหนือต้นขาและกระดูกเชิงกราน ห้ามคาดทับบริเวณหน้าท้องตำแหน่งของมดลูกโดยตรง

ควรสำรวจความเรียบร้อยของยานพาหนะ ประกอบด้วย การเช็กลมยาง แบตเตอรี่ หม้อน้ำ น้ำมันเครื่อง ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็สามารถขับขี่รถยนต์ได้อย่างความปลอดภัย เดินทางโดยสวัสดิภาพ


You must be logged in to post a comment Login