วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ยิ่งลักษณ์ “สู้..สู้..” / โดย ทีมข่าวการเมือง

On August 7, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ผ่านไปเรียบร้อยกับคำแถลงด้วยวาจาปิดคดีรับจำนำข้าว คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีองค์คณะรวม 9 คน โดยนายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวน ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท

อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ใช้เวลาแถลง 1 ชั่วโมงเต็ม ตั้งแต่ 09.30-10.30 น. ซึ่งมีตัวแทนสถานทูตในเครือสหภาพยุโรปกว่า 10 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างคับคั่ง โดยอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยืนยันว่าไม่ได้ละเลยหรือเพิกเฉยในการตรวจสอบเมื่อเกิดปัญหาโครงการรับจำนำข้าว และไม่ได้สมยอมปล่อยให้มีการทุจริตระบายข้าว โดยชี้ให้ศาลเห็นถึงความบริสุทธิ์และความตั้งใจดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่แถลงต่อสภาที่ผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม และยังมีมติ ครม. อีก โดยชี้แจงต่อศาลรวม 6 ประเด็นคือ

1.ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด และฟ้องของอัยการโจทก์มีพิรุธ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เริ่มกล่าวหาด้วยเอกสาร 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวน 79 วัน และชี้มูลความผิดหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน ทั้งที่ข้อกล่าวหาต่อคนอื่นเรื่องทุจริตระบายข้าวยังไม่มีข้อสรุป แล้วยังนำเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในสำนวนคดีระบายข้าวเสมือนมาเป็นหลักฐานใหม่กล่าวหาตน ทั้งที่ครั้งแรกในชั้น ป.ป.ช.  ที่กล่าวหาตนยังไม่มีเอกสารส่วนนี้ กระทั่งฟ้องตนแล้วจึงนำมาเสนอศาล

2.นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ต้องปฏิบัติตาม และเป็นนโยบายสาธารณะที่ทำเพื่อชาวนา

3.ยืนยันว่าไม่ได้เพิกเฉย เพราะมีการตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆเพื่อปฏิบัติการและถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้น การดำเนินนโยบายจึงเป็นไปในรูปแบบคณะกรรมการ มิใช่ตนในฐานะนายกฯใช้อำนาจตามอำเภอใจที่นึกจะทำก็ทำ หรือนึกจะเลิกก็เลิก

4.โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง แต่เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม คือยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้มีรายได้สูงขึ้น และยังส่งผลให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสภาพัฒน์ได้ยืนยันข้อมูลตรงกันว่าควรดำเนินโครงการไปจนถึงปี 2558 ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่ AEC

5.ยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. กรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. เคยมีหนังสือท้วงติงโครงการตนก็รับไว้ ไม่ได้ละเลยเพิกเฉยข้อเสนอแนะนั้น แต่ส่งให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาตามสายบังคับบัญชา กระทั่งมีการแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบ และยังให้หน่วยงานในจังหวัดดูแลเรื่องการสวมสิทธิ์ แต่ก็ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผล ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกฯต้องรับฟังหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญ

6.ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว ซึ่งข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องระดับปฏิบัติการ มีคณะกรรมการรับผิดชอบ และเป็นเรื่องที่กรมการค้าต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ดูแล โดย ครม. ใช้ความระมัดระวังและใส่ใจเรื่องการระบายข้าว โดยมีมติกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการป้องกันการทุจริตในการระบายข้าวให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องระบายข้าวแบบจีทูจี

ทำเพื่อชาวนา-ไม่ได้ทำอะไรผิด

รายงานข่าวระบุว่า ระหว่างการแถลงปิดคดี อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ถึงกับสะอื้นและร้องไห้เมื่อกล่าวถึงการดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของชาวนาว่า ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ทำคือใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคนเกื้อหนุนดูแล และตนได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ต้องเจ็บปวดในการต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ที่พยายามบิดเบือนและกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม

ดิฉันรู้ดีว่าดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง ดิฉันจึงหวังพึ่งศาลยุติธรรมได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริงและสภาวะแวดล้อมในขณะที่ดิฉันปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไม่ใช่การตั้งสมมุติฐานที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้วมาตัดสินการดำเนินการของดิฉันในอดีต

อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยังกล่าวว่า ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ ใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของตนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร” ซึ่งเป็นการชี้นำเสมือนว่ามีการกระทำผิดแล้ว ทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน รวมทั้งกระบวนการสร้างความเสียหายให้ต้องรับผิดทางแพ่งจำนวน 35,000 ล้านบาท เป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่สั่งการในที่ประชุมว่า ไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม ซึ่งตนเชื่อในคำกล่าวที่ว่า ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนจึงขอความเมตตาต่อศาลโปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้อง

คำแถลงปิดคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์กระชับและชัดเจน บอกที่มาและที่ไปของคดีที่มีข้อพิรุธตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล ซึ่งก่อนการฟ้องคดีอัยการสูงสุดเห็นว่ารายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม หลังการแถลงปิดคดีด้วยวาจาแล้ว องค์คณะศาลฎีกาฯได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาให้ยกคำร้องล่าสุดของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ยื่นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ขอให้เพิกถอนคำสั่งและกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบกรณีไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 เนื่องจากศาลเห็นว่าเเม้อำนาจที่สั่งว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจวินิจฉัยก่อนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยก่อนว่าเข้าข้อกำหนดในการส่งหรือไม่ ไม่ใช่ว่าต้องส่งทุกกรณี ดังแนวคำพิพากษาศาลฎีกา 10660/2553 การที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ใช่เพราะมีกระบวนพิจารณาผิดระเบียบจึงให้ยกคำร้อง โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 25 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ตามนัดเดิม

ทำไมเร่งอายัดทรัพย์

ที่สำคัญรัฐบาลทหารยังใช้คำสั่งทางปกครองให้อายัดทรัพย์อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จำนวนเงิน 35,000 ล้านบาท จากความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีการอายัดและถอนเงินในธนาคารของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไปแล้วกว่า 7 บัญชี ทำให้มีคำถามมากมายทั้งในแง่กฎหมายและวิชาการว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด จนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต้องให้กรมบังคับคดีชะลอการยึดทรัพย์ออกไป ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้แตกต่างจากการบังคับใช้กฎหมายรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว  ทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็กำหนดวันตัดสินคดีแล้ว หากศาลตัดสินว่าไม่ผิดก็อาจจะมีผลกับคดีทางแพ่ง เมื่อขั้นตอนทุกอย่างดำเนินการมาถึงตรงนี้แล้วจะมาเร่งคดีรับผิดทางละเมิดในเวลานี้เพื่ออะไร

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คสั้นๆว่า “ชี้นำตลอดเวลา ทั้งการใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยสั่งการเอง (มีรายงานการประชุม) ให้เร่งดำเนินการโดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นความยุติธรรม ทั้งการพูดเหน็บแนมในหลากหลายโอกาส ผมว่าคนเห็นทั้งประเทศครับ”

ข้าว “ปรส. ภาค 2”?

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมให้กำลังใจในวันที่ 25 สิงหาคมว่า เกิดจากอิสระทางความคิดของประชาชนเอง การมาศาลให้กำลังใจไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย รัฐบาลที่อ้างให้คนอื่นทำตามกฎหมายควรจะช่วยอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนจะดีที่สุด

ต้องยอมรับว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่เป็นนายกฯแล้วต้องเจอกับขบวนการโค่นล้มด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนถูกซ้ำด้วยการลงมติถอดถอนโดยสมาชิก สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ทั้งที่พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว ประกอบกับการแทรกแซงอัยการให้สั่งฟ้องคดีอาญาไม่กี่ชั่วโมงก่อน สนช. มีมติ ล่าสุดคือการเดินหน้ายึดทรัพย์ ทั้งที่จำนวนความเสียหายยังไม่ชัดเจนและคดีความก็ยังไม่ถึงที่สุด

นายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลการระบายข้าวดีในราคาอาหารสัตว์แต่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล อ้างว่าพรรคเพื่อไทยต้องการทำให้เกิดประโยชน์ต่อคดีและสร้างความเห็นใจในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น คือการบิดเบือนอย่างชัดเจน ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลต้องนำไปตรวจสอบคือ 1.ดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องอย่างเจ้าของโกดังรับผิดชอบ 2.การซื้อข้าวดีในราคาอาหารสัตว์จะทำให้ตลาดเกิดปัญหาทันที พ่อค้าจะทำกำไรมหาศาลจากข้าวต้นทุนต่ำ เอกชนรายอื่นจะทำราคาแข่งขันสู้ไม่ได้ ส่วนรัฐเองก็จะขาดทุนมากขึ้นไปอีก แล้วก็สุ่มเสี่ยงจะนำความเสียหายส่วนนี้มาโยนให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์อีก ดังนั้น การระบายข้าวคือความรับผิดชอบของรัฐบาล คสช. ที่จะต้องไปตรวจสอบ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุถึงกรณีการระบายข้าวในโกดังที่เป็นข้าวดีแต่ถูกนำมาขายเป็นอาหารสัตว์ว่า คงไม่ใช่แค่การสุ่มตรวจตัวอย่างที่ผิดพลาด เพราะมีความพยายามกีดกันและข่มขู่ผู้สื่อข่าวไม่ให้เข้าไปรายงานข่าวตามปรกติ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการปราบปรามการทุจริต พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าข้าวในโครงการรับจำนำที่อ้างว่าเกิดความเสียหายมีผลต่อการยึดทรัพย์อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ขณะนี้ จึงเห็นว่าหากเอาข้าวดีไปขายในราคาข้าวเน่าจริง นอกจากจะมีคนได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาแล้ว ในส่วนขาดทุนจากการขายข้าวดีในราคาข้าวเน่าก็จะโยนให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์รับผิดชอบโดยการยึดทรัพย์มาชดใช้ในส่วนขาดทุน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

นายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คการนำข้าวที่คนกินไปขายเป็นอาหารสัตว์ว่า ดูแล้วทำให้นึกถึงเมื่อหลายเดือนก่อน มีอดีตนายทหารท่านหนึ่งพูดให้ฟังว่า “คอยดูให้ดี โครงการรับจำนำข้าวจะกลายเป็น ปรส.ภาค 2” ซึ่งวันนี้ก็เริ่มเห็นความคล้ายกันรางๆคือ คดี “ปรส. ภาค 1” เอาสินทรัพย์มีค่าของคนไทยไปขายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า แล้วเอากลับมาขายคนไทยอีกครั้งในราคาสูง โยนบาปหาว่า “ลุงจิ๋วทำเจ๊ง” ในส่วน ปรส.ภาค 2 เอาข้าวคนกินไปขายเป็นอาหารสัตว์ราคาถูก แล้วค่อยเอากลับมาขายให้คนกินใหม่ในราคาสูง โยนบาปว่า “อาปูทำขาดทุน”

ขณะเดียวกันคนรับประโยชน์คือคนขาย ที่ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง และได้ทั้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามให้จมธรณี ส่วนคนเดือดร้อนยังคงเป็นคนไทยทั้งประเทศเหมือนเดิม ทั้งนี้ เขาได้ตั้งคำถามว่า ข้าวไทยซึ่งเป็นหยาดเหงื่อแรงงานของพี่น้องชาวนามีค่าแค่นี้เองหรือ

ไม่มีอะไรก็ไม่ต้องปกปิด?

ประเด็นข้าวดีข้าวเน่าในคลังรับจำนำข้าวทำให้ฝ่ายรัฐบาลทหารไม่ค่อยพอใจ และมองว่าเป็นเรื่องการเมืองเพื่อให้มีผลต่อคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ แต่การออกมายืนยันของเจ้าของคลังรับจำนำข้าวหลายแห่ง ไม่ใช่แค่ น.ส.อิศราภรณ์ คงฉวี ผู้แทนเจ้าของคลังวรโชติ (หลัง 2) ที่อ่างทองเท่านั้น ยังมีทั้งคลังข้าวที่สระบุรี อุบลราชธานี ลพบุรี และปทุมธานี

นางวนิดา ดำรงค์ไชย ตัวแทนคลังข้าวถาวรโชคชัย สระบุรี กล่าวว่า มีข้าวที่รับฝากจากโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2556/57 รวม 79,000 กระสอบ เป็นข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นข้าวเกรดเอ (ข้าวที่ผิดมาตรฐานแต่ยังปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้) 2 กอง และข้าวเกรดซี (ข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก) 2 กอง โดยยืนยันว่าสภาพข้าวทั้ง 4 กอง เป็นข้าวที่สามารถปรับปรุงคุณภาพให้คนบริโภคได้ แต่ต้นปี 2560 คลังข้าวนี้ถูกจำหน่ายไปเป็นข้าวที่ใช้ในอุตสาหกรรมตามเกณฑ์ของภาครัฐ โดยระบุว่ามีข้าวเกรดซีเกิน 50% จึงต้องระบายสู่อุตสาหกรรม

ที่ผ่านมาไม่มีหนังสือยืนยันผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวให้กับทางโกดัง ขณะที่นางวนิดาได้ทำหนังสือคัดค้านมาตลอดว่าข้าวในคลังไม่ใช่เกรดซี สามารถปรับปรุงให้คนกินได้ จึงยอมรับไม่ได้ ซึ่งข้าวในคลังถาวรโชคชัยยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายและยังมีของกลางอยู่ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบข้าวในคลัง โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมมองว่าปัญหานี้ภาครัฐต้องประเมินถึงผลกระทบก่อน และทางออกที่ดีคือการเจรจากับผู้ประมูลข้าวและตรวจสอบคุณภาพข้าวใหม่ จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับคุณภาพข้าวที่ตรงกัน ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด แม้การตรวจคุณภาพข้าวที่ผ่านมาจะยึดหลักมาตรฐานการตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับเนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ใช้มานานแล้ว แต่กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ในฐานะเจ้าของคลังต้องการทราบถึงหลักเกณฑ์ที่กรมการค้าต่างประเทศใช้คัดเกรดข้าวและแบ่งกลุ่ม รวมถึงข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำข้าวไปประมูลเพื่อการบริโภคได้

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรฐานการตรวจสอบข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการว่าเป็นมาตรฐานระดับสากล แต่ก็ยอมรับว่าข้าวที่อยู่ในสต็อกรัฐจากการประมูลมีปริมาณถึง 18 ล้านตัน ไม่สามารถตรวจสอบครบทั้ง 100% ได้ หากจะตรวจครบต้องใช้เวลาประมาณ 40 ปี จึงใช้วิธีสุ่มตัวอย่างตรวจกองละ 5-10% เพื่อแยกคุณภาพข้าวดีและข้าวเสื่อม

นายกิตติรัตน์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คเรื่องการตรวจสอบข้าวว่า ให้คนกลางที่น่าเชื่อถือพร้อมทั้งสื่อมวลชนเข้าตรวจเสีย สัปดาห์เดียวก็รู้เรื่องแล้วครับ หากทางการไม่มีอะไรจะต้องปกปิดก็ทำเถอะครับ ทุกฝ่ายจะได้สบายใจ

“ปนัดดา” ปรับเกณฑ์ใหม่?

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะยอมรับว่าการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่นำไปประมูลเป็นอาหารสัตว์อาจจะมีการเล็ดลอดออกไปได้ เพราะมีโกดังข้าวหลายพันคลัง จึงต้องใช้วิธีการสุ่มตรวจและนำไปพิสูจน์ดีเอ็นเอ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการระบายข้าวในจังหวัดอ่างทองที่มีการร้องเรียนแล้ว

แต่เมื่อย้อนกลับไปครั้งคณะทำงานของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพข้าวโครงการรับจำนำข้าว โดยแบ่งเกรดข้าวถูกมาตรฐานเป็นเกรด P เกรด A เกรด B และข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก ปรากฏว่ารัฐบาลขายข้าวในสต็อกได้เพียง 8 ล้านตัน จาก 18 ล้านตันในช่วงปี 2558-2559 จึงมีคนเสนอ “สูตรใหม่” ให้กับคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 โดยเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลข้าวใหม่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มคุณภาพดีสำหรับบริโภคทั่วไป (คนกิน) 3 ล้านตัน กลุ่มคุณภาพปานกลางอุตสาหกรรมที่มิใช่เพื่อคนบริโภค (อาหารสัตว์) และกลุ่มที่เก็บเกิน 5 ปีที่ไม่สามารถบริโภคได้ ให้ระบายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ทั้งคนและสัตว์ (พลังงาน) จนเกิดปรากฏการณ์แห่กันแย่งประมูลข้าวเกรดอาหารสัตว์และข้าวที่ไม่สามารถบริโภคได้ทั้งคนและสัตว์กันมากมายเป็นประวัติการณ์

นี่คือผลประโยชน์ที่อยู่บนความเสียหายของประเทศ และเจ้าของคลังข้าวที่ต้องออกมาโวยวายเพราะเป็นผู้เดือดร้อนโดยตรงจากการนำหลักเกณฑ์ใหม่มาใช้ ทำให้ข้าวดีที่คนกินกลายเป็นอาหารสัตว์ที่ผู้ประมูลสามารถนำไปปรับปรุงแล้วกลับมาขายใหม่ได้กำไรมหาศาล แต่ในทางการเมืองเรื่องข้าวดีไปขายเป็นข้าวเน่าก็หนีไม่พ้นที่จะถูกดึงไปเป็นประเด็นการเมือง เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกล่าวหาและอายัดทรัพย์อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์

ยิ่งลักษณ์ “สู้..สู้..”

วันพิพากษา 25 สิงหาคม 2560 ถือเป็นวันสำคัญทางการเมืองไทย ไม่ว่าคำพิพากษาอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะออกมาผิดหรือไม่ผิดก็ล้วนมีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองทั้งสิ้น แต่เชื่อว่าจากสภาพการคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่น่าเกิดความวุ่นวายอย่างที่ “ทั่นผู้นำ” และพวกพ้องพยายามสร้างภาพให้ประชาชนเกิดความกลัวแต่อย่างใด

ขณะที่การวาดภาพให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นเหมือนอสูรร้ายที่ทำให้ประเทศเกิดความหายนะ ทั้งที่เป็นนโยบายช่วยชาวนาที่เป็นประชากรถึง 40% ของประเทศ ก็มีคำถามคาใจจากประชาชนอีกมากมายว่า ถ้านโยบายช่วยเหลือประชาชนแล้วห้ามขาดทุน แถมยังมีความผิดอีก แบบนี้ทุกรัฐบาลก็ต้องมีความผิดใช่หรือไม่ หรือจะเปรียบเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลทหาร ใช้เงินงบประมาณไปกว่า 900,000 ล้านบาท ในมาตรการหรือโครงการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” หรือไม่ เศรษฐกิจวันนี้มั่งคั่งและมั่นคงหรือไม่ สรุปว่าเป็นนโยบายที่กำไรหรือขาดทุนกันแน่หากใช้มาตรฐานอย่างเดียวกันมาวัด

ทั้งนี้ ยังไม่รวมงบประมาณอีกหลายหมื่นล้านที่นำไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พืชผลทางการเกษตรตกต่ำเกือบทุกชนิด ธุรกิจมากมายต้องปิดกิจการเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้แต่ขายฝันหรือโยนความผิดไปให้รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ต่างอะไรกับมวลน้ำมหาศาลที่ท่วมสกลนครก่อนลุกลามไปจังหวัดต่างๆในภาคอีสานและภาคเหนือ ก็มีคำถามว่าเป็นภัยธรรมชาติทั้งหมด หรือความบกพร่องของรัฐราชการด้วยหรือไม่ หรือถ้าเป็นรัฐบาลทหารแล้ว “ทำอะไรก็ไม่ผิด” ใช่หรือไม่

“ทั่นผู้นำ” ยืนยันว่าคดีรับจำนำข้าวเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจอะไรไปแทรกแซง แต่ก็มีคำถามว่ากระบวนการยุติธรรมภายใต้ ป.ป.ช. ที่ใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน โดยเฉพาะระยะเวลาที่ดำเนินคดีนับตั้งแต่ ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 ใช้เพียงเวลา 21 วัน ในการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นการเร่งรัดและถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ยิ่งเปรียบเทียบกับคดีของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าเรื่องนโยบายประกันราคาข้าว คดีโรงพักฉาวทั่วประเทศ หรือคดีสลายการชุมนุมปี 2553 รวมถึงคดีของกลุ่ม กปปส. มากมาย หรือคดีของพันธมิตรเสื้อเหลือง ซึ่งเกิดก่อนคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยนั้น วันนี้ไปถึงไหนแล้ว ถือว่าเลือกปฏิบัติหรือไม่

อย่างคดีแกนนำเสื้อแดง 5 คดี ปรากฏว่าถูกจำคุกไปแล้ว 3 คดี รอนัดสืบพยานอีก 2 คดี ส่วนของ กปปส. 2 คดีอยู่ระหว่างนัดสืบพยานกับอุทธรณ์ คดีของพันธมิตรเสื้อเหลือง 7 คดี 5 คดีอยู่ระหว่างรอพิจารณาบ้าง สืบพยานบ้าง อุทธรณ์บ้าง รอฎีกาบ้าง อีก 2 คดีมีการตัดสินยกฟ้องหนึ่ง คดีดาวกระจายก็ยกฟ้อง โดยระบุว่าฟ้องซ้ำ พวกที่ฟ้องไม่ซ้ำมีโทษผิดก็เพียงให้รอลงอาญา เป็นต้น

เดือนสิงหาคมจึงเป็นอีกเดือนที่เสมือนกำลัง “ล้างบาง” พรรคเพื่อไทย เพราะนอกจากคดีใหญ่คือคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์แล้ว ยังมีคดีโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก รวมถึงคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นจำเลยในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกด้วย

ส่วนคดีสลายการชุมนุมปี 2551 ซึ่งล่าสุดศาลมีคำสั่งยกฟ้องอดีตนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพวก ซึ่งมีน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตกเป็นจำเลยด้วยนั้น แม้จะจบลงแบบไม่แปลกอะไร แต่ก็มีคำถามคาใจอีกเช่นกันว่า ทำไมคดีที่คล้ายคลึงกันแต่มีผู้บาดเจ็บล้มตายเกือบร้อยศพในการสลายม็อบเสื้อแดงที่ราชดำเนินและราชประสงค์จึงไม่เคยมีโอกาสถูกสั่งฟ้องจาก ป.ป.ช. แต่อย่างใด ยิ่งบางคดีมีเหตุผลว่าหลักฐานถูกน้ำท่วมไปแล้ว ยิ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมในการกล่าวหาและพยานหลักฐานก่อนส่งชั้นศาลถูกตั้งคำถามอย่างคาใจว่า เป็นไปด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่?

คดีรับจำนำข้าวจึงถูกจับตาไปทั่วโลก ขณะที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ถูกรัฐบาลทหารใช้คำสั่งทางปกครองให้อายัดทรัพย์ 35,000 ล้านบาทในความผิดโครงการรับจำนำข้าว โดยการกำหนดความเสียหายที่ยังมีข้อโต้แย้งไม่สิ้นสุด

แม้ “ทั่นผู้นำ” พูดชัดเจนว่าการอายัดทรัพย์ต้องเดินหน้าต่อไป เป็นคนละคดีกับที่ศาลฎีกาฯจะตัดสินวันที่ 25 สิงหาคมนี้ แต่ทั้ง 2 คดีก็แยกกันแทบไม่ออก เพราะ ป.ป.ช. และอัยการก็เอาความเสียหายการระบายข้าวมาเป็นหลักฐานในการกล่าวหาอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไว้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิเสธอย่างไรว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ที่สุดแล้วก็เกี่ยวข้องจนได้ ความพิลึกพิลั่นที่เป็นข้อที่ควรยกประโยชน์ให้ในความสงสัยจึงยิ่งทำให้ประชาชนเห็นใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และพร้อมจะเดินทางมาให้กำลังใจในวันที่ 25 สิงหาคม อย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้

แม้แต่สื่อต่างชาติก็ยังวิเคราะห์ว่า หากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุกก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับ ระบอบพิสดารแบบไทยๆ” ไปโดยปริยาย

คดีรับจำนำข้าวจึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก และทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้รับความเห็นใจมากขึ้น

ถ้าวันพิพากษา 25 สิงหาคม จะมีผู้มาให้กำลังใจ นายกฯปูแดงมืดฟ้ามัวดินก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

แม้เสียงตะโกนเชียร์.. ยิ่งลักษณ์ “สู้..สู้..” จะช่วยอดีตนายกฯหญิงคนนี้ไม่ได้ แต่เสียงนี้คงไม่จบลงเพียงแค่นั้น..

บางทีก่อนถึง 25 สิงหาคม อาจมีเรื่องที่ “พิสดารยิ่งกว่า” ที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นก็ได้.. อย่าเผลอกะพริบตา!!??


You must be logged in to post a comment Login