วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

จีนก่อหนี้ก้อนโตให้หลายชาติ

On August 4, 2017

โครงการ “แนวเขตและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) หรืออีกชื่อคือโครงการ “หนึ่งแนวเขตหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ของจีน

เป็นโครงการใหญ่ยักษ์ด้านการค้าการลงทุน ซึ่งชาติที่มีส่วนร่วม คาดหวังใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่งคั่ง

ขณะจีนมีแผนใช้เชื่อมต่อกับนานาชาติในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ผ่านทางรถไฟ ทางเรือ และระบบท่อ (ส่งน้ำมันและก๊าซ) จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจ การค้า การลงทุน

จีนเรียกโครงการมหึมาระดับเชื่อมโลกนี้ว่า “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21”

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ผู้เป็นต้นคิด เริ่มโครงการนี้เมื่อปลายปี 2013 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน การก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในหลายประเทศ รุดหน้าในระดับหนึ่ง

ทำให้แนวคิดของจีนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นไปได้ยาก เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น

ขณะเดียวกัน มี “ปรากฏการณ์” หนึ่ง เกิดแทรกขึ้นมา นั่นคือหลายประเทศที่ร่วมโครงการ มีหนี้ก้อนโตจากการลงทุนพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดคำถามทำนองว่า “เป็นโครงการสร้างชาติหรือสร้างหนี้กันแน่”

เดิมที ประเทศที่จีนทาบทามร่วมโครงการ เข้าใจว่าจีนจะเป็นฝ่ายลงทุนส่วนใหญ่ แต่จริงแล้วจีนให้ประเทศนั้นๆลงทุนเอง โดยจีนเสนอเงินกู้ให้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยุโรประบุว่า จีนคิดดอกเบี้ย 16% ขึ้นไป

ทำให้หลายประเทศติดหนี้จีนในระดับ “หนี้ท่วมตัว” โดยศรีลังกาติดหนี้จีนมากถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (272,000 ล้านบาท) ต้องนำรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไปชำระหนี้ให้จีน

กัมพูชาอยู่ในภาวะสาหัสเช่นกัน มีหนี้จีนประมาณ 3,120 ล้านเหรียญสหรัฐ (106,000 ล้านบาท)

ขณะปากีสถานก็อ่วมหนี้ไม่แตกต่างกัน ต้องชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยประมาณปีละ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (119,000 ล้านบาท) เป็นเวลา 20 ปี โดยหนี้ส่วนใหญ่กู้จากจีน

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเทศตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ขณะรัฐบาลท้องถิ่นบอกกล่าวชาวบ้านว่า การทุ่มทุนมหาศาลในวันนี้ จะส่งผลดีในวันหน้า เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้การค้าคึกคัก เศรษฐกิจโชติช่วง

อย่างไรก็ตาม อนาคตที่วาดฝันไว้ ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะเป็นจริง ขณะหนี้สินได้ปรากฏต่อหน้าแล้ว เป็นปัญหาใหญ่เสี่ยงทำให้ประเทศเผชิญวิกฤตการเงิน

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว นักวิเคราะห์ต่างชาติที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของจีน จึงเรียกโครงการ “หนึ่งแนวเขตหนึ่งเส้นทาง” ว่า

“กับดักหนี้ของจีน” หรือ “ช่องทางปล่อยกู้ของจีน”


You must be logged in to post a comment Login