วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

สื่อเทศมองเศรษฐกิจไทย

On July 31, 2017

นานทีจะมีสื่อและนักวิเคราะห์ต่างชาติ มองสถานการณ์รวมทั้งแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งบางประเด็นอาจเป็นความรู้ใหม่ของหลายฝ่าย และส่วนหนึ่งเป็นการ “ชี้เป้า” ให้ฝ่ายเกี่ยวข้องนำไปพิจารณา

วิลเลียม พีเซ็ค (William Pesek) เป็นสื่อต่างชาติรายล่าสุด ที่เขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย นำเสนอในเว็บไซต์ของ Nikkei Asian Review แห่งญี่ปุ่น เมื่อวันพุธ (26 ก.ค.) ที่ผ่านมา

พีเซ็คเป็นชาวอเมริกัน มีประสบการณ์ทำข่าวและวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ และธุรกิจของสหรัฐรวมทั้งเอเชียมากว่า 20 ปี เคยเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังหลายฉบับ เช่น  Bloomberg, New York Post, Straits Times และ Japan Times ปัจจุบันพำนักอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

พีเซ็คมองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเชิง ติเพื่อก่อ” โดยตั้งหัวข้อบทความว่า “Why Thailand risks a lost economic decade” (ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงซึมยาว)

พีเซ็คมองว่า ระยะเวลาที่รัฐบาลจากทหารเข้าบริหารประเทศมา 18 เดือน ถือว่าล้มเหลว ทำให้สถานะของประเทศแย่กว่าเดิม

ความล้มเหลวสำคัญที่สุด ได้แก่ ความล่าช้าในการผลักดันแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไล่ตั้งแต่การปรับปรุงท่าเรือ ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า และการกำหนดขั้นตอนที่ช่วยให้โครงการแล้วเสร็จง่ายขึ้น

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือระบบสินเชื่อธนาคาร การปล่อยกู้ที่ค่อนข้างเสี่ยง ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากที่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

และอีกปัญหาหนึ่ง ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีทักษะฝีมือ รวมทั้งสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ส่วนโครงการที่นักวิเคราะห์ชาวอเมริกัน ยกนิ้วให้รัฐบาลไทย คือแผน “Thailand 4.0” นำประเทศเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าในอนาคต โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และโครงการเมืองเกษตรสีเขียว

แต่พีเซ็คมองว่า โครงการสวยหรู ขณะการลงมือทำจริงยังมีปัญหา

นักวิเคราะห์ชาวอเมริกันมองว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรพร้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และรัฐบาลไทยสามารถจะผลักดันแผน “Thailand 4.0” สำเร็จ

โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องกำหนดวันเลือกตั้ง คืนประชาธิปไตยให้ประชาชนให้ชัดเจน ต้องปฏิรูประบบการศึกษา ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ และกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะ 10 ปี นับจากปีนี้ ให้ชัดเจน

พีเซ็คย้ำว่า ไทยมีทรัพยากรพร้อม เพียงแค่ปรับปรุงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ทำงานอย่างมีไฟ (Firepower) และลงมือปฏิบัติตามแผนอย่างจริงจัง (ไม่ใช่สักแต่พูด) ก็จะไปได้โลด


You must be logged in to post a comment Login