วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

แก้หรือเพิ่มปัญหา / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On July 11, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยมีความพยายามจะแก้ไขกันมานานแล้ว แต่ปัญหาก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลทหาร คสช. ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่มาบังคับใช้แทนของเดิมที่มองว่าแก้ปัญหาไม่ได้

ที่รัฐบาลเลือกออกเป็น พ.ร.ก. แทนที่จะเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตามขั้นตอนปรกติ เพราะเห็นว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข

การออก พ.ร.ก. มีหลักเกณฑ์ว่าทำได้เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเรื่องฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม แม้การออก พ.ร.ก. เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีและมีผลบังคับใช้ในทันที แต่ตามขั้นตอนต้องเสนอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาอนุมัติ หากที่ประชุมสภาไม่เห็นชอบ พ.ร.ก. ก็ไม่มีผลบังคับใช้

ในส่วนของ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่กำลังเป็นปัญหานั้น เมื่อรัฐบาลทหาร คสช. ประกาศ พ.ร.ก. แล้วเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และส่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาในทางปฏิบัติ ด้วยอำนาจพิเศษ มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ก็มีคำสั่งให้ชะลอการบังคับใช้ไปอีก 120 วัน นับแต่วันที่ 23 มิถุนายนซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้

หากพิจารณาจากเหตุผลที่ใช้อธิบายการออก พ.ร.ก. ที่ว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวที่มีอยู่มีบทบัญญัติที่ไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ทําให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

ดังนั้น เพื่อให้สามารถทําการจัดระเบียบ การป้องกัน การคุ้มครอง การเยียวยา และการใช้บังคับกฎหมาย รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวได้ทั้งระบบ อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องออก พ.ร.ก. ฉบับนี้

แม้รัฐบาลทหาร คสช. จะเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำ แต่ต้องยอมยืดเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก. ออกไปอีกระยะหนึ่ง (ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วนกันแน่)

สาเหตุที่ต้องถอยเพราะ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่มีข้อกำหนดหลายอย่างที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น

ผู้ใดรับคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน

ผู้ใดให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ปรับไม่เกิน 400,000บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน

คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ผู้ใดยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000-1,000,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน จำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆก็ถูกปรับให้สูงขึ้นด้วย เช่น

ค่าใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานฉบับละ 20,000 บาท ค่าต่ออายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานครั้งละ 20,000 บาท ค่าจ้างคนต่างด้าวคนละ 20,000  บาท

ด้วยอัตราโทษที่สูงขึ้นทำให้หลัง พ.ร.ก. นี้มีผลบังคับใช้เกิดการไหลออกของแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เพราะเกรงว่าจะมีความผิด แต่รัฐบาลทหาร คสช. มั่นใจว่าเดินมาถูกทาง ไม่ทบทวน ไม่ปรับแก้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้คิดใหม่ทำใหม่ โดยเฉพาะเรื่องอัตราโทษที่กำหนดไว้สูงมาก เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก

ทั้งนี้ ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลักๆนอกจากการเข้าเมืองมาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ยังมีเรื่องการทำงานไม่ตรงกับใบอนุญาต ย้ายถิ่นฐานทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และการทำงานในประเภทที่ไม่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำ

แม้กฎหมายเดิมจะมีบทลงโทษน้อยกว่ากฎหมายใหม่ แต่ก็เป็นอัตราโทษที่ค่อนข้างสูงพอสมควร จึงเกิดคำถามว่าการเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้นจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงหรือไม่

ที่สำคัญคือ อัตราโทษที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นช่องว่างให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายใช้หาผลประโยชน์นอกระบบได้มากขึ้นหรือไม่

อีกประเด็นคือ ค่าธรรมเนียมต่างๆที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือไม่

ต้องยอมรับว่าการออก พ.ร.ก. ของรัฐบาลทหาร คสช. ทำด้วยเจตนาดีที่ต้องการแก้ปัญหา เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับจ้องเรื่องการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่าการกำหนดโทษให้สูงขึ้นอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้หากไม่แก้ที่จิตสำนึกของนายจ้างและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

เหรียญมี 2 ด้าน ทุกอย่างมี 2 มุมมอง รัฐบาลมองว่าโทษที่รุนแรงขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาการลบเลี่ยงได้ ในขณะที่ฝ่ายอื่นมองว่ากฎหมายใหม่อาจไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยและธุรกิจเฉพาะที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว เป็นการออกกฎหมายมาทำร้ายผู้ประกอบการ ทำลายระบบเศรษฐกิจ

แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะอยู่กับปัญหา รู้ปัญหา แต่เข้าใจว่าก่อนออก พ.ร.ก. นี้ไม่ได้ระดมความเห็นจากฝั่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย จึงอาจไม่รู้ผลกระทบที่จะตามมา

ก่อนที่กฎหมายจะกลับมาบังคับใช้เต็มรูปแบบอีกครั้งหลังหมดเวลาผ่อนผัน 120 วัน ยังพอมีเวลาที่จะพิจารณาปรับแก้ให้เกิดความเหมาะสม หรือถ้าไม่ปรับแก้ เมื่อบังคับใช้แล้วเกิดผลกระทบรัฐบาลทหาร คสช. ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ


You must be logged in to post a comment Login