วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

มาร์กซ์กับประวัติศาสตร์ไทย / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On July 3, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ความจริงแล้วแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์เป็นเรื่องสังคมวิทยา หากเราไม่อคติเกินไปและไม่หลงใหลคลั่งไคล้เกินไป มันก็คือทฤษฎีสังคมวิทยาที่สามารถนำมาใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ในสังคมไทยได้ โดยถือว่าสังคมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่าในช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยา ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการค้าในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมาก ซึ่งตรงนั้นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนต้องเข้ามาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเจ้านครอินทร์ยึดอำนาจและเกิดการเปลี่ยนแปลงในกรุงศรีอยุธยา ถือว่าจีนอยู่เบื้องหลังให้เจ้านครอินทร์ขึ้นครองอำนาจ และเท่ากับเป็นการโค่นอำนาจของศรีวิชัยไปด้วย จนนักประวัติศาสตร์บางรายเชื่อว่าศูนย์กลางอำนาจของศรีวิชัยที่ไชยาได้ถูกทำลายลง และมีการจับตัวพระมหากษัตริย์ของศรีวิชัยได้แก่มหาจักรพรรดิศรีสุรินทรารักษ์ส่งตัวไปประหารชีวิตที่เมืองนานกิง

ตรงนี้ทำให้จีนเข้ามามีอำนาจเต็มที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และทำให้ฝ่ายอยุธยากลายเป็นฐานการค้าขายของจีนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ราชสำนักโปรตุเกสตั้งโรงเรียนสอนวิชาการเดินเรือขึ้นมา จากนั้นเป็นต้นมาโปรตุเกสได้กลายเป็นชาติที่สามารถขยายอำนาจทางทะเลของตัวเอง แย่งชิงการค้าเครื่องเทศไปจากกลุ่มพ่อค้าที่เมืองเวนิสของประเทศอิตาลีได้ ถือเป็นจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับโลก คือทำให้โปรตุเกสเริ่มแทรกตัวเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแย่งชิงการค้าเกี่ยวกับเครื่องเทศเริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้น

ขณะเดียวกันจีนเริ่มเกิดความหวั่นไหวที่ชาติยุโรปจะแทรกตัวเข้ามาหาผลประโยชน์ทางการค้าในเอเชียตะวันออก จึงมีการเตรียมการหลายอย่าง ที่เห็นชัดเจนก็คือการสร้างขบวนเรือเป่าฉวน ซึ่งเป็นขบวนเรือสำเภาขนาดใหญ่ นอกจากจะใช้สำรวจโลกเพื่อไม่ให้น้อยหน้าพวกตะวันตกแล้ว ขบวนเรือสำเภานี้ยังได้กลายเป็นเขี้ยวเล็บที่ทำให้จีนใช้บุกยึดช่องแคบมะละกาไปจากศรีวิชัยด้วย

ถ้าเรามองประวัติศาสตร์โดยใช้เรื่องการค้าเป็นทฤษฎีแล้วก็สอดคล้องกับมุมมองที่เรียกว่าจีนได้เริ่มพยายามขยายตัวในอิทธิพลทางการค้าเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในอีกเหตุผลหนึ่งคือ จีนมองเห็นช่องทางที่จะให้ฝ่ายอยุธยาเป็นฐานในการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาสู่ตลาดโลก

ช่วงสมัยราชวงศ์หมิง จีนเริ่มหันมาผลิตสินค้าที่เป็นเครื่องเคลือบมากขึ้น ถ้าเรามองในมุมนี้แล้วก็เท่ากับว่าจีนได้ใช้อยุธยาเป็นฐานในการผลิตและส่งออกสินค้าเครื่องปั้นดินเผา

จากมุมมองนี้เองจึงไม่แปลกอะไรที่ฝ่ายจีนเคยพยายามเข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นเหตุผลทำให้เจ้านครอินทร์ต้องเดินทางเข้ามาในประเทศจีนเพื่อนำช่างปั้นเครื่องเคลือบดินเผาสังคโลกจากเมืองจีนกลับมาที่สุโขทัย ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เดินทางไปเมืองจีนหาใช่เป็นพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หากแต่เป็นเจ้านครอินทร์

จากตัวอย่างเหล่านี้เราจึงเห็นได้ชัดเจนว่า อิทธิพลทางการค้านั้นครอบงำอยู่เหนือประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์แท้จริงแล้วเกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการค้านั่นเอง นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วนับพันปี ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอิทธิพลทางการค้าและกระแสโลกาภิวัตน์คงมีผลกับประวัติศาสตร์และชาติบ้านเมืองของเรา

มาถึงปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ และคงไม่มีใครที่คิดจะคัดค้านหรือขัดขวางไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ผมจึงเข้าใจว่าการทวนกระแสไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มทุนหรือแนวความคิดใดๆที่จะปฏิเสธอิทธิพลทางการค้าไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้ เพราะว่าประวัติศาสตร์และสังคมที่ผ่านมาได้ระบุให้เห็นเช่นนั้น

ผมจึงเห็นว่าการใช้แนวคิดและทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ เข้ามาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญและมีความจำเป็น

โลกในปัจจุบันนี้สำนักคิดต่างๆเริ่มหันกลับไปทบทวนและศึกษาแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์เพิ่มขึ้น ขณะนี้เห็นจะเป็นสำนักพิมพ์แม่คำผางของปรีดา ข้าวบ่อ ที่ได้จัดพิมพ์หนังสือแปล “ว่าด้วยทุน” (Das Kapital) ของคาร์ล มาร์กซ์ ผมเห็นว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจมากและตรงกับความต้องการของตลาด

ในยุคสมัยที่เราต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเมือง ใครมีโอกาสก็ขอเชียร์ให้จับจองเป็นเจ้าของ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีผู้แปลหรือถ่ายทอด Das Kapital ออกมาเป็นภาษาไทย ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนปรมาจารย์สุภา สิริมานนท์ เคยแปลออกมาแล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ผมว่า “บุญศักดิ์ แสงระวี” ก็ทำได้ไม่เลวทีเดียว จึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรพลาดและขอเชียร์ให้จับจองเป็นเจ้าของครับ!


You must be logged in to post a comment Login