วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ระวังตกรางอำนาจ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On June 26, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

“ทุกคนให้ความสำคัญกับ 4 คำถามของผมมากไปหรือเปล่า ผมไม่ได้บอกว่าประชาชนจะต้องมาไลค์ทั้ง 6 ล้านคน มันไม่ใช่ จะกี่ล้านผมไม่รู้ จะคนเดียวหรือ 10 คนก็รับฟัง มี 100 คนก็รับฟัง 100 คนว่าเขาว่าอย่างไร” (13 มิ.ย. 60 ที่ทำเนียบรัฐบาล)

เป็นคำกล่าวของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการตั้งคำถาม 4 ข้อต่อประชาชน เนื่องจากอยากรู้ว่าหากหลังเลือกตั้งไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารประเทศจะทำอย่างไรที่มีประชาชนให้ความสนใจร่วมตอบคำถามค่อนข้างน้อย

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอยากโค้ตคำพูดของนายกฯที่พาดพิงไปถึงเพจเฟซบุ๊คอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีคนกดไลค์ทะลุ 6 ล้าน ในประโยคที่ว่า “จะคนเดียวหรือ 10 คนก็รับฟัง มี 100 คนก็รับฟัง 100 คนว่าเขาว่าอย่างไร” เพื่อสะกิดถามว่าพร้อมรับฟังจริงหรือไม่

หากพร้อมรับฟังจริง กรณีที่มีประชาชน นักวิชาการ องค์กรวิชาชีพ สมาคมทางธุรกิจต่างๆจำนวนมากออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการใช้อำนาจมาตรา 44 ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะว่าอย่างไร จะรับฟังคำท้วงติงนี้หรือไม่

สาเหตุของการท้วงติงเพราะใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองไม่ให้เป็นความผิดติดตัวกรณีการดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย

โดยคำสั่งที่ 30/2560 เรื่อง การเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง มีรายละเอียดยาวพอสมควร แต่หลักใหญ่ใจความน่าจะอยู่ที่คำสั่งในข้อ 3 ซึ่ง ผศ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปเนื้อหาน่าสนใจดังนี้คือ

การออกคำสั่งในข้อที่ 3 มีจุดมุ่งหมายเพื่อไม่ให้รัฐบาลและผู้ดำเนินการตามโครงการนี้ต้องมีความรับผิดจากเหตุที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม

1.กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการ และการเสนอราคา

2.กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

3.คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2560 เรื่อง การกํากับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ

4.ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535

5.ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549

6.ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2544

7.ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2544

“เรื่องธรรมาภิบาลในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐเขาเอาไว้ใช้บังคับกับคนอื่นนะครับ ไม่ใช่กับรัฐบาลของหัวหน้า คสช.”

สรุปให้เข้าใจง่ายๆคือ กฎหมาย ระเบียบต่างๆเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมีความล่าช้าแม้จะพยายามผลักดันมาตลอดตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ จึงจำเป็นต้องละเว้นการบังคับใช้

นอกจากข้อ 3 แล้วยังมีผู้ชี้ให้ดูคำสั่งข้อ 2 กล่าวคือ

กำหนดให้ National Development and Reform Commission ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากประเทศจีนเป็นผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงทั้งในส่วนงานออกแบบรายละเอียดโครงสร้าง งานปรึกษาควบคุม งานการก่อสร้าง งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร

หากรัฐวิสาหกิจหรือบุคลากรของรัฐวิสาหกิจจีนดังกล่าวต้องดำเนินการในลักษณะการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสมในการกำหนดมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูง

ข้อกฎหมายที่มีการยกเว้นกับผู้ประกอบอาชีพด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม โดยรวมแล้วหมายถึงอนุญาตให้บุคคลที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพหรือเป็นคนจีนที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรมในไทยสามารถดำเนินงานตามอาชีพนี้ได้ ทั้งที่ปรกติไม่สามารถทำได้ (ขอบคุณผู้ให้ข้อมูลนี้ และขออภัยที่จำที่มาไม่ได้)

องค์กรใหญ่อย่างธนาคารโลกก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจมาตรา 44 เร่งรัดโครงการโดยการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับ พร้อมเสนอแนะให้ใช้กฎหมายปรกติเพื่อให้มีการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และแนะนำให้เปิดประมูลโครงการเป็นการทั่วไปเพื่อให้ไทยมีโอกาสใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่มีอยู่จากทั่วโลก ไม่ใช่ล็อกสเปกเอาของจีนที่ยังมีคำถามว่าเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนดีกว่าของชาติอื่นๆจริงหรือไม่

ผู้รับผิดชอบโครงการอย่างกระทรวงคมนาคมออกมาชี้แจง 4 เหตุผลความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน อันประกอบด้วย

1.เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 รัฐบาล เทคโนโลยีของจีนไม่ได้ด้อยและแพงกว่าของประเทศอื่น มีข้อกำหนดให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีต้องใช้วิศวกรจีน เพราะวิศวกรไทยไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้

2.มูลค่าการออกแบบโครงการไม่ถึง 10,000 ล้านบาทอย่างที่พูดกัน แต่มีแค่ 1% ของโครงการ ซึ่งเป็นอัตราตามมาตรฐานราคากลางที่กฎหมายกำหนด คือมีมูลค่า 1,700 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวม 179,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินรวมมูลค่าโครงการขณะนี้ได้ปรับลดลงมาอีก 20% จากกรอบวงเงินลงทุนที่ได้รับการเสนอมา

3.แหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการก่อสร้างยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะกู้จากแหล่งไหน โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะพิจารณาจากแหล่งที่ทำให้มีต้นทุนก่อสร้างต่ำที่สุด

4.การบริหารการเดินรถจำเป็นต้องใช้ผู้ก่อสร้างดำเนินการ เพราะไทยไม่มีประสบการณ์บริหารการเดินรถไฟความเร็วสูง ไม่มีประสบการณ์บำรุงรักษาเส้นทางและระบบเดินรถ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งการร่วมทุนบริหารจัดการเดินรถยังไม่ได้ข้อสรุป ยังอยู่ระหว่างการเจรจา

ที่น่าสนใจคือ เรื่องใหญ่อย่างเงินทุนหรือการบริหารจัดการหลังก่อสร้างเสร็จยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด แต่คำสั่งตามมาตรา 44 กลับตีกรอบเวลาให้ต้องลงนามในสัญญาก่อสร้างภายใน 120 วัน โดยเสนอให้ต่อเวลาออกไปได้หากลงนามไม่ทันตามเงื่อนเวลาที่กำหนด

ประเด็นสำคัญนี้น่าจะอยู่ที่ความชัดเจนในหลักประกันความโปร่งใสของโครงการ เมื่อใช้อำนาจละเว้นการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับจะใช้อะไรเป็นหลักประกันเรื่องความโปร่งใส

ในยุคที่พูดเรื่องธรรมาภิบาล เป็นห่วงว่าถ้าหลังเลือกตั้งได้รัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร

แต่สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “ธรรมาภิบาล” หรือไม่

เปิดหวูดเร่งโครงการต้องระวังอาจทำให้ตกรางอำนาจได้ เพราะเสียงคัดค้านดังมาจากทั่วทุกสารทิศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


You must be logged in to post a comment Login