วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

เหตุการณ์ 2475 ในบริบทโลก / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On June 26, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ในโอกาส 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เป็นวันครบรอบ 85 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของไทย แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีโจรการเมืองลักลอบเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรแล้วเอาหมุดหน้าใสไร้สาระมาใส่แทน สะท้อนว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ พ.ศ. 2475 ในสังคมไทยยังไม่จบ

ระบอบประชาธิปไตยตามความคาดหวังของคณะราษฎรยังไม่ได้หยั่งรากลึกในกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทย แม้เวลาจะผ่านมาถึง 85 ปี พวกอนุรักษ์นิยมสลิ่มก็ยังเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งไม่เหมาะสม เพราะชาวบ้านไทยยังไม่พร้อม ต้องให้กองทัพยึดอำนาจแล้วปฏิรูปการเมืองก่อนจึงมีประชาธิปไตยตามขั้นตอน

กรอบความคิดลักษณะนี้คณะราษฎรจึงตกเป็นจำเลยถูกโจมตีเสมอมาว่าเอาระบอบการเมืองที่ผิดพลาดมาสู่สังคมไทย ชิงสุกก่อนห่าม ไม่รู้จักรอคอยให้พระราชทานประชาธิปไตยให้กับประชาชนไทย ทั้งที่ความจริงในทางประวัติศาสตร์มีแนวทางการพิจารณาอีกแนวหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจการปฏิวัติ 2475 ในลักษณะที่กว้างขึ้น นั่นคือการนำเหตุการณ์ปฏิวัติในสยามไปพิจารณาในบริบทการเมืองโลก ซึ่งเราจะเห็น “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์” ที่ต้องเกิดการปฏิวัติ 2475 ไม่ว่าคณะราษฎรจะเป็นผู้กระทำการหรือไม่ก็ตาม จึงต้องทำความเข้าใจและมองการปฏิวัติ 2475 ในฐานะกระแสคลื่นทางการเมืองชุดหนึ่งจากสังคมโลกที่มีต่อสังคมไทย

ประเด็นแรกสุดที่จะต้องทำความเข้าใจคือ กระแสการเมืองโลกตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา คือการพังทลายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ประเทศมหาอำนาจที่เคยเป็นฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี รุสเซียและตุรกี ระบอบกษัตริย์ถูกโค่นลงทุกประเทศ ส่วนประเทศที่ยังมีระบอบกษัตริย์ในยุโรปต่างก็เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา

ส่วนในเอเชีย ระบอบกษัตริย์ของจีนถูกโค่นล้มตั้งแต่ พ.ศ. 2454 ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและมีระบอบรัฐสภาใน พ.ศ. 2474 สเปนมีการปฏิวัติโค่นระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ ดังนั้น สยามเมื่อ พ.ศ. 2475 จึงเป็นประเทศเดียวที่ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ถือเป็นประเทศล้าหลังทางการเมือง สถานการณ์ทางการเมืองของสยามเป็นสถานการณ์รอการเปลี่ยนแปลง แต่มีปัญหาคือ ชนชั้นนำของสยามสมัยนั้นไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ ยังเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมาะสมกับประเทศสยาม ประชาชนชาวไทยยังไม่พร้อม ต้องใช้ระบอบเก่าไปก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงระบอบได้

ปัญหาต่อมาคือ สังคมสยามสมัยก่อน พ.ศ. 2475 เป็นสังคมชนชั้นแบบศักดินาที่เจ้านายและขุนนางมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนคนสามัญที่เป็นไพร่ เจ้านายและขุนนางได้รับการยกเว้นถูกเกณฑ์แรง ไม่ถูกบังคับให้รับราชการทหาร โดยเฉพาะเจ้านายเชื้อพระวงศ์ซึ่งมีอยู่ 108 คนที่ประกอบด้วย “สกุลยศ” คือได้ฐานันดรมาโดยชาติกำเนิด มีวังเป็นที่พักอาศัย ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี ไม่ถูกพิจารณาคดีในศาล และได้เบี้ยหวัดเงินปีเป็นเงินเลี้ยงชีพตลอดชีวิต การที่สังคมไทยไม่มีระบบตัวแทนของชนชั้นอื่นและไม่มีระบบกฎหมายหลักทำให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์กลายเป็นผู้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและการใช้กฎหมาย ซึ่งในโลกไม่มีระบบสังคมเช่นนี้แล้ว

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่คือ ระบอบทุนนิยมที่เน้นการผลิตสินค้าขายตลาดโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงสร้างระบบราชการสมัยใหม่เพื่อรองรับอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้เกิดชนชั้นกลางสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นทั้งในและนอกระบบราชการ ที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางคือเมืองที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก โภคทรัพย์ในสังคมเมืองอยู่ในมือของชนชั้นกลางมากขึ้น แต่ปัญหาคือชนชั้นกลางเหล่านี้ไม่มีบทบาททางการเมือง จึงนำมาสู่ความกดดันภายในสังคม

ปัญหาอีกส่วนยังมาจากการเติบโตของลัทธิชาตินิยมของชนชั้นกลางที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วเอเชีย ที่ผ่านมามักอธิบายว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงริเริ่มลัทธิชาตินิยมในสยาม แต่ความจริงเป็นชาตินิยมชนชั้นสูงที่เน้นความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และยังรณรงค์ในหมู่ข้าราชบริพารไม่ให้ส่งผลต่อคนกลุ่มอื่นในสังคม ยิ่งกว่านั้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เลิกนโยบายชาตินิยมและไม่มีการรณรงค์ลัทธิชาตินิยมแบบใดอีก เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ชนชั้นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่เป็นชายถูกส่งไปศึกษาต่อในประเทศตะวันตกตั้งแต่ยังเล็ก ชนชั้นเจ้านายจึงคุ้นเคยกับฝรั่ง เมื่อมีปัญหาทางการเมืองก็สามารถต่อรองกับฝรั่งได้ แต่กระแสชาตินิยมในเอเชียขณะนั้นต่อต้านฝรั่งตะวันตก ซึ่งชนชั้นสูงสยามไม่เข้าใจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็ทรงทราบดี เพราะทรงหนังสือเป็นภาษาอังกฤษได้ดีกว่าภาษาไทย

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ยังชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของการรู้หนังสือนำมาสู่ช่องทางใหม่ในการเรียกร้องความเป็นธรรมในระบบ นั่นคือ การเขียนฎีกาและส่งหนังสือร้องทุกข์ ช่องทางลักษณะนี้ไม่มีความจำเป็นสำหรับชนชั้นสูง เพราะสามารถแสดงออกด้วยช่องทางอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า แต่ชนชั้นกลางและชั้นล่างถือเป็นช่องทางสำคัญในการเล่าความทุกข์และเสนอให้ชนชั้นสูงได้รับรู้ พบหลักฐานว่าฎีกาเหล่านี้หลงเหลืออยู่นับพันฉบับ แสดงให้เห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการพัฒนาของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ของชนชั้นกลางในการเสนอความคิดเห็นต่อสังคม รวมทั้งการวิพากษ์ต่อความเหลื่อมล้ำและเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ยังช่วยพัฒนาสำนึกแห่งความเท่าเทียมกัน ทำให้สิทธิที่ได้มาโดยชาติกำเนิดไม่เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ทำให้การปฏิวัติ 2475 ได้รับปฏิกิริยาในเชิงบวกมากกว่าที่เข้าใจ

จากบริบทดังกล่าวเห็นได้ว่ากระแสประชาธิปไตยเป็นลมตะวันตกชุดหนึ่งที่หอบเอาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สยาม นำมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งสภาภายใต้ระบบตัวแทน และนำอำนาจการปกครองออกจากกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์ไปสู่กลุ่มสังคมอื่นที่กว้างขวางมากขึ้น นำเอาลัทธิชาตินิยมไทยมาสู่ประเทศไทย แล้วเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ระบอบทุนนิยม นี่คือความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ 2475


You must be logged in to post a comment Login