วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

เสกสรรค์’ประเมิน ‘ชนชั้นนำภาครัฐ’ อยู่ยาว 10 ปี

On June 20, 2017

เว็บไซต์ประชาไทถอดความปาฐกถาฉบับเต็มของ ‘ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถา เรื่อง “การเมืองไทย กับ สังคม 4.0” ในงานเสวนา “Direk’s Talk ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ” จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้อง ร.103 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 19 มิถุนายน 2560

                                                         ***************

“3-4 ปีที่ผ่านมา มักพูดถึงการเมืองโดยโยงนัยมาที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น
ทำให้เข้าใจกันผิดๆ ว่ามีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่เล่นการเมืองฝ่ายอื่นไม่ได้เล่นการเมือง
คำพูดรวบรัดดังกล่าวเมื่อบวกกับเรื่องคนดีคนไม่ดีก็จะกลายเป็นข้อสรุปว่า
นักการเมืองที่กุมอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี
ส่วนคนอยู่บนเวทีอำนาจโดยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง”

วันนี้รู้สึกยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาพูดคุยกับท่าน หลายปีที่ผ่านมาผมใช้วัยชราอยู่ในความเงียบสงัดไม่ได้พบปะผู้คน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่คิดถึงวงการที่คุ้นเคย และยิ่งไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่คิดถึงคณะและมหาวิทยาลัยที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ถึง 30 ปี การพบกันครั้งนี้ผมขอคารวะท่านด้วยแง่คิดบางประการต่อบ้านเมืองของเรา อย่างไรก็ดี คงต้องขอยืนยันตั้งแต่ต้นว่าหัวข้อนี้เป็นหัวข้อวิชาการ การวิเคราะห์เป็นแบบวิชาการซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้ หวังว่าจะไม่มีผู้ใดตีความไปในทางอื่น และไม่มีผู้ใดมาทำให้วัยชราของผมเงียบสงัดไปกว่านี้ ในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์และมาพูดในคณะรัฐศาสตร์ ผมคงพูดเรื่องอื่นไม่ได้นอกจากเรื่องการเมือง

ความหมายของการเมืองที่ใช้ในวันนี้ เป็นความหมายในระดับกว้างสุด จึงกินความทั้งนักการเมืองในระบบและนักการเมืองนอกระบบ ทั้งพวกที่แสวงหาชัยชนะโดยเลือกตั้งและพวกที่แสวงหาอำนาจโดยการแต่งตั้ง เพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมามักพูดถึงการเมืองโดยโยงนัยมาที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้เข้าใจกันผิดๆ ว่ามีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่เล่นการเมืองฝ่ายอื่นไม่ได้เล่นการเมือง คำพูดรวบรัดดังกล่าวเมื่อบวกกับเรื่องคนดีคนไม่ดีก็จะกลายเป็นข้อสรุปว่า นักการเมืองที่กุมอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนอยู่บนเวทีอำนาจโดยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นคนดี วาทกรรมเช่นนี้ไม่เพียงขัดกับหลักวิชาแต่ยังขัดกับธรรมชาติของความจริงเพราะที่ไหนมีอำนาจที่นั่นย่อมมีการเมือง จะว่าไปคนที่เกี่ยวกับการแข่งขันชิงอำนาจหรือการใช้อำนาจก็มีดีมีชั่วปะปนกันไป

ที่พูดเรื่องนี้เพราะมันช่วยอธิบายบ้านเมืองในช่วง 3-4ปี ตั้งแต่การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเลือกตั้งของมวลชนคนเสื้อเหลือง จนมีรัฐประหาร จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ใช่หรือไม่ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะมีคนเชื่อว่า ตัวเองกำลังทำความดี การเอาคนไม่ดีลงจากอำนาจ จากนั้นเขียนกติกาใหม่ ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจแล้วยกอำนาจให้กับฝ่ายคนดี พูดแค่นั้นอาจง่ายไป ถ้าจะพูดให้ยากขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพราะการชูธงความดีเท่านั้น แต่การชูธงดังกล่าวยังทำให้เห็นว่าใครขัดแย้งกับใคร เพราะอะไร พวกถูกกล่าวหาเป็นคนไม่ดีนั้นล้วนผูกติดกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ส่วนพวกถือตนเป็นคนดี ตอนแรกก็เป็นมวลชนคนชั้นกลางในเมืองกับแกนนำที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จากนั้นก็ส่งไม้ต่อไปยังชนชั้นนำภาครัฐให้ช่วยลงดาบสุดท้าย

“ความขัดแย้งที่ผ่านมาสะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย
นำไปสู่การเบียดขับแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบอบ
ความขัดแย้งที่ลงลึกขนาดนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ
ด้วยวิธีการจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำเหลืองแดง
ในขณะที่ตัวละครเอกถูกจัดไว้นอกสมการ
การเป็นคู่กรณีของชนชั้นนำภาครัฐนั้นสังเกตได้จากการที่นับวันอคติของพวกเขา
ยิ่งขยายจากการรังเกียจนักการเมืองบางตระกูลไปสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยรวม”

 

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 2556-2557 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งจากมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกัน แต่อาจกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนนั้นนำเก่าภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชนที่ขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกกุมกลไกรัฐราชการฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน ถ้าเราวางคอนเซ็ปท์ไว้เช่นนี้ก็จะเห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวใหญ่โตเกินบุคคลและคณะบุคคล เป็นความขัดแย้งที่สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย นำไปสู่การเบียดขับแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบอบ แน่นอน ความขัดแย้งที่ลงลึกขนาดนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำเหลืองแดง ในขณะที่ตัวละครเอกถูกจัดไว้นอกสมการ การเป็นคู่กรณีของชนชั้นนำภาครัฐนั้นสังเกตได้จากการที่นับวันอคติของพวกเขายิ่งขยายจากการรังเกียจนักการเมืองบางตระกูลไปสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยรวม ความรังเกียจต่อคู่ชิงอำนาจเคยแสดงออกมาแล้วในปี 2534 และ 2549

นอกจากนี้เรายังสังเกตได้ว่า หลังรัฐประหารปี 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างการเมืองเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน การทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเอง และประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ 2560 ก็สะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร อีกทั้งจำกัดพื้นที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ให้กุมอำนาจนำอีกต่อไป นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาแต่เป็นข้อสังเกตที่ยืนยันได้จากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญนั้นสามารถเห็นเจตจำนงของผู้ร่างได้จากบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ประการแรก ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเดิมเป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมโอกาสพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ระบบดังกล่าวจะทำให้การได้เสียงข้างมากของพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก รัฐบาลที่ตั้งขึ้นอาจต้องเป็นรัฐบาลผสม ไม่มีเสถียรภาพ พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ตามระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบบเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ถูกดัดแปลงให้ขึ้นต่อการเลือกตั้ง ส.ส.เขต โดยประชาชนใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว จากนั้นเอาคะแนนรวมของแต่ละพรรคจากเขตเลือกตั้งทั่วประเทศมาคำนวณหาจำนวนของผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคควรจะมีและจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ พรรคไหนชนะเลือกตั้งส.ส.เขตเต็มโควตาแล้วก็จะไม่มีสิทธิมีส.ส.บัญชีรายชื่อเลย หนทางอ้อมของระบบเลือกตั้งเช่นนี้ ทำให้การเสนอนโยบายระดับชาติของพรรคการเมืองถูกลดความสำคัญลง เพราะถ้าเราดูจากประสบการณ์เลือกตั้งที่ผ่านมา การเลือกตั้ง ส.ส.เขตนั้นผู้ลงคะแนนมักเลือกตัวบุคคลมากกว่าพรรค ส่วนการเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นมักเลือกพรรคที่มีนโยบายโดนใจ

ประการต่อมา ในขณะที่อำนาจของนักการเมืองพรรคการเมืองถูกจำกัดลงทั้งโดยตรงโดยอ้อม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ให้ชนชั้นนำภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้ข้าราชการชั้นสูงเป็นทั้งกรรมการสรรหาและเป็นผู้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและกลไกควบคุมต่างๆ และที่น่าสนใจคือ ในกระบวนการดังกล่าวบทบาทและอำนาของตุลาการถูกยกระดับให้สูงขึ้นและแผ่ขยายอำนาจออกไปมาก ประเด็นสำคัญที่สุดดังที่ทุกท่านทราบดี คือ บทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ส.ว.ชุดแรกมาจาการแต่งตั้งโดย คสช. และกำหนดให้มีอำนาจร่วมกับ ส.ส. ในการรับรองหรือไม่รับรองผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้เมื่อบวกกับบทบัญญัติที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นบุคคลนอกรายชื่อของพรรคการเมืองได้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน

ประการสุดท้าย ถ้าดูบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะเห็นว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ กับ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีส่งร่างเข้าสภาแล้ว ต้องออกมาภายใน 4 เดือน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นี่หมายถึงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายเพิ่มไม่ได้เลยและอาจต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบายของ คสช.เสียเอง  ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญ2560 ยังมีบทบัญญัติต่างๆ ที่ทำให้แก้ไขได้ยาก จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน ดังนั้น เมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี แน่ล่ะ ถ้าพูดถึงตัวบุคคลหรือแม้แต่ คสช. การสืบทอดอำนาจอาจไม่เป็นเส้นตรงขนาดนั้น แต่ถ้าพูดถึงชนชั้นนำภาครัฐแล้วการต้องการพื้นที่ถาวรและอำนาจนำทางการเมืองเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน

“ทำไมชนชั้นนำและพันธมิตรทางสังคมจึงกล้าร่างรัฐธรรมนูญที่เอียงข้างตัวเองมาได้ขนาดนี้
เป็นไปได้ที่พวกเขารู้สึกว่าฐานะชนชั้นนำของตนที่มีมาแต่เดิมกำลังถูกกัดกร่อนคุกคาม
ทั้งจากนักการเมืองที่โตมาจากภาคเอกชนและโดยระบอบประชาธิปไตย
ที่ผนวกมวลชนชั้นล่างเข้ามาสู่ระดับกำหนดนโยบาย
ยิ่งไปกว่านั้นระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็กำลังแปรรูปรัฐชาติให้เป็นเพียงแค่ผู้จัดการตลาด
ซึ่งเป็นตลาดที่ในแต่ละวันมีแต่จะย่อยสลายวัฒนธรรมจารีต
และทุบทำลายคุณค่าที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยึดถือ
ด้วยเหตุดังนี้ ชนชั้นนำภาครัฐจึงต้องการกลับมามีฐานะนำในการกำหนดความสัมพันธ์
ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลกในแนวทางที่ตัวเองยังมีบทบาท มีที่อยู่ที่ยืนครบถ้วน”

ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก คือ ทำไมชนชั้นนำและพันธมิตรทางสังคมจึงกล้าร่างรัฐธรรมนูญที่เอียงข้างตัวเองมาได้ขนาดนี้ ถ้าเราพักเรื่องผิดถูกดีชั่วไว้ก่อนเพราะอาจวิจารณ์ได้ในหลายทาง ในทัศนะส่วนตัวของผมคิดว่า เป็นไปได้ที่พวกเขารู้สึกว่าฐานะชนชั้นนำของตนที่มีมาแต่เดิมกำลังถูกกัดกร่อนคุกคาม ทั้งจากนักการเมืองที่โตมาจากภาคเอกชนและโดยระบอบประชาธิปไตยที่ผนวกมวลชนชั้นล่างเข้ามาสู่ระดับกำหนดนโยบาย ยิ่งไปกว่านั้นระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็กำลังแปรรูปรัฐชาติให้เป็นเพียงแค่ผู้จัดการตลาดซึ่งเป็นตลาดที่ในแต่ละวันมีแต่จะย่อยสลายวัฒนธรรมจารีตและทุบทำลายคุณค่าที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยึดถือ ด้วยเหตุดังนี้ ชนชั้นนำภาครัฐจึงต้องการกลับมามีฐานะนำในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลกในแนวทางที่ตัวเองยังมีบทบาท มีที่อยู่ที่ยืนครบถ้วน ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องคงฐานะทางการเมืองของรัฐชาติกึ่งจารีตไว้ให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ด้วยเหตุดังนี้ วาทกรรมเรื่องความดีจึงผูกติดกับวาทกรรมเรื่องความเป็นไทย และด้วยเหตุดังนี้จึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความวิตกกังวลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราคงต้องยอมรับว่าการยึดอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐครั้งนี้มีมวลชนสนับสนุนไม่น้อย รัฐประหาร 2557 ได้รับการเรียกร้องและนำร่องด้วยการเคลื่อนไหวมวลชน ซึ่งขยายตัวเป็นยุทธการที่โจมตีนักการเมืองจากการเลือกตั้งและล้มกระดานประชาธิปไตยไปในคราเดียวกัน แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งคณะรัฐประหารและขบวนนำร่องบอกว่าต้องการสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า แต่โดยไม่เป็นทางการถ้าเราติดตามข่าวสารทั้งในสื่อหลักและในโซเชียลมีเดียก็จะพบว่า มีคนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยมากขึ้น และเท่าที่มีการแสดงออก บรรดากลุ่มทุนใหญ่และคนชั้นกลางในเมืองดูจะมั่นคงสบายใจกับรัฐบาลอำนาจนิยมมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน แม้ว่าท่านเหล่านี้จะเป็นผู้ได้เปรียบในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แต่ก็อดรู้สึกถูกคุกคามไม่ได้ เมื่อฐานะได้เปรียบของพวกเขาถูกท้าทายโดยระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยการเคลื่อนไหวมวลชนชั้นล่างๆ เป็นฐานเสียง พวกเขาจึงขานรับเรื่องคนดีและความเป็นไทยด้วยความเต็มอกเต็มใจ ทำให้เสียงยืนยันที่ว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษและไม่จำเป็นต้องเหมือนฝรั่งดังกระหึ่มขึ้นมาพอสมควร โดยเฉพาะในหมู่ชนที่มีการศึกษาสูงกระทั่งผู้ที่เรียนหนังสือกับฝรั่งมาหลายๆ ปี ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับว่าพลิกทฤษฎีรัฐศาสตร์เก่าๆ ที่ว่าคนชั้นกลางเป็นฐานของระบอบประชาธิปไตยไปเลย

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะรู้สึกอึดอัดกับรัฐธรรมนูญนี้แค่ไหน ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ได้รับการยอมรับโดยเสียงข้างมาก โดยมีคนเห็นชอบราว 16.8 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบราว 10.5 ล้านเสียง แน่ล่ะ  โดยหลักการแล้วต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้โดยผ่านความเห็นชอบ แต่ในโลกความเป็นจริง คน 10 ล้านไม่ใช่คนหยิบมือเดียวที่จะมองข้ามได้ โดยยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าในช่วงรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีพื้นที่น้อยมากในการนำเสนอทัศนะของตน และยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าถอยไปต้นปี 2557 ประชาชนที่มาลงคะแนนเลือกตั้งโดยเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกจากวิกฤตที่ดีกว่ารัฐประหารก็มีจำนวนมากถึง 20 ล้านคน ทั้งที่มีความพยายามที่จะขัดขวางการเลือกตั้งครั้งนั้นในหลายๆ แห่ง

“การที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลที่คิดต่าง
ด้วยเหตุดังกล่าว การวางแผนผังจัดสรรอำนาจโดยไม่สอดคล้องกับดุลอำนาจทางสังคมที่เป็นอยู่
โดยผลักดันฐานะครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์มากเกินจริง
จึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทานหรือกระทั่งระเบิดเวลาไว้ตั้งแต่ต้น
อะไรเล่าทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกล้าทำอะไรที่เกินดุลกำลังเปรียบเทียบ
ระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำ
คำตอบอยู่ที่นโยบายสองประการ หนึ่ง คือ นโยบายไทยแลนด์ 4.0
สอง คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าวด้วยกลไกประชารัฐ”

ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามเนื้อหา การที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลที่คิดต่าง ด้วยเหตุดังกล่าว การวางแผนผังจัดสรรอำนาจโดยไม่สอดคล้องกับดุลอำนาจทางสังคมที่เป็นอยู่โดยผลักดันฐานะครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์มากเกินจริงจึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทานหรือกระทั่งระเบิดเวลาไว้ตั้งแต่ต้น เช่นนี้แล้วอะไรเล่าทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกล้าทำอะไรที่เกินดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำ โดยบัญญัติให้เสียงของประชาชนมีผลน้อยที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลและกำหนดนโยบาย ในความเห็นส่วนตัวของผม คำตอบอยู่ที่นโยบายสองประการ หนึ่ง คือ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยยกประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือที่เรียกกันว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 สอง คือ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังกล่าวด้วยกลไกประชารัฐ

แม้ดูภายนอกแล้วเหมือนนโยบายทั้งสองอย่างดังกล่าวเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่านี่เป็นมาสเตอร์แพลนในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก มันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำซึ่งมีการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน  แน่ล่ะ กล่าวสำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลชุดนี้ยังยึดโยงกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ซึ่งดำเนินไปในแนวทางของเสรีนิยมใหม่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 10 แห่ง รวมทั้งการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ล้วนเป็นโครงการที่จะใช้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติหรือทุนในประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคิดเป็นงบประมาณถึง 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มเส้นทางขนส่งในระบบราง สร้างสนามบินและท่าเรือน้ำลึก ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มความโยงใยอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับทุนนิยมโลกทั้งสิ้น ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ถอด 19 ธุรกิจออกจากบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพื่อเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ได้โดยเสรี ซึ่งบรรดาธุรกิจทั้ง 19 ประเภท มีธุรกิจการนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่า หรือธุรกิจที่มีส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นคู่สัญญาด้วย

แต่ก็อีกนั่นแหละ หากอาศัยระบบทุนนิยมที่ไร้ชาติมาสนองผลประโยชน์แห่งชาตินั้นนับเป็นเรื่องที่มีปัญหาย้อนแย้งกันอยู่ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดในรัฐบาลนี้แต่เป็นปัญหามาพักใหญ่แล้ว จริงอยู่การลงทุนของต่างชาติอาจเป็นหัวรถจักรฉุดลากเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอัตราที่สูงขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้นำไปสู่การกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำโดยอัตโนมัติ กระทั่งสวนทางกันในหลายๆ กรณี การที่รัฐไทยต้องลดภาษีนิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเวลา 5 ปี อนุญาตให้เช่าที่ดินและใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นได้ในระยะยาว ลดเงื่อนไขหลายๆ อย่างให้นักลงทุนพอใจ ย่อมหมายถึงว่าผลประโยชน์สูงสุดต้องตกเป็นของฝ่ายทุนอย่างแน่นอน ใช่หรือไม่ว่า โดยสภาพดังกล่าวย่อมขัดแย้งกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำหรือการปรับโครงสร้างรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น

พูดแบบตรงไปตรงมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นสะสมตัวมาหลายทศวรรษแล้ว ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่ทราบกันดีว่า คนรวย 10% แรกของประชากรไทยมีรายได้สูงกว่าคนจนที่สุด 10% ล่างถึง 35 เท่า และคนรวย 10% นี้เป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 79% ล่าสุด จากการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐกิจของนิตยสารฟรอบส์ปรากฏว่าเศรษฐี 500 กว่าคนที่รวยที่สุดในโลก มีคนไทยถึง 4 คน บางคนถึงขนาดติดอยู่ในร้อยชื่อแรก มีทรัพย์สินมากกว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนประเทศไทยนั้นถูกจัดเป็นประเทศเหลื่อมล้ำอันดับ 3 ของโลกรองจากรัสเซียและอินเดีย ทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในไทยได้เป็นอย่างดีคือ ที่ดิน เราจะเห็นได้ว่าเกษตรกร 40% ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง ขณะที่คนไทยมากกว่า 3 ใน 4 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆ เลย นักธุรกิจบางตระกูลกลับถือครองที่ดินถึง 6.3 แสนไร่ โฉนดที่ดิน 60% ของไทยอยู่ในมือประชากร 10% แน่นอน ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินย่อมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางการศึกษาและทางเลือกในการประกอบอาชีพ ตลอดจนการปรับตัวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์

สภาพดังกล่าวทำให้การเปลี่ยนสถานะทางชนชั้นของผู้เสียเปรียบเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้โครงสร้างทางชนชั้นของสังคมไทยมีลักษณะแข็งตัว และสร้างรอยแยกอย่างถาวรให้กับสังคม ความเหลื่อมล้ำสุดขั้วนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงของชนทุกชั้น ด้วยเหตุดังนี้ทุกฝ่ายจึงแสวงหาอำนาจการเมืองมาดูแลตน หรือใช้มันเปลี่ยนเกมที่ตนกำลังเสียเปรียบ ซึ่งอาจเป็นอำนาจเผด็จการก็ได้ในกรณีของชนชั้นสูงและคนชั้นกลางส่วนบน หรืออาจเป็นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้อย่างในกรณีเกษตรกรรายย่อยในชนบท จริงอยู่การใช้อำนาจทางการเมืองมาคุ้มครองผลประโยชน์ทางชนชั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ของมนุษยชาติ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ความปั่นป่วนผันผวนในเรื่องนี้ยิ่งทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นทั้งในสังคมไทยและยุโรป สหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ ฯลฯ

กลับมาเรื่องประเทศไทย 4.0 มันอาจเร็วไปที่จะประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายนี้ แต่ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้นมีความมุ่งหมายที่ดีในการพาประเทศไทยออกจากประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้โดยลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแล้วหันมาโฟกัสที่การค้าและการบริการ อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเปลี่ยนกระบวนการผลิต การทำงานอาศัยระบบดิจิตัล และอาศัยนวัตกรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแกนหลักของการสร้างรายได้

“ตามนโยบายประชารัฐ รัฐราชการเสนอตัวเป็นแกนนำผสานความร่วมมือ
ระหว่างทุนใหญ่กับธุรกิจรายย่อยหรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่น
โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อน
ด้วยเหตุดังนี้ ประชารัฐ จึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก
เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน
ไหลลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง
ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้”

แต่ก็อีกนั่นแหละ คนไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับการก้าวไปสู่การทำงานในระบบ 4.0 ในเรื่องนี้ประเด็นความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นอุปสรรค ถ้าดูตัวเลขผู้มีงานทำ 37.4 ล้านคน แรงงานในระบบอายุ 40 ปีขึ้นไปมีถึง 46% และสัดส่วนแรงงานในระบบ 50.5% เรียนหนังสือไม่เกินชั้นประถม ในจำนวนนี้มีถึง 1.2 ล้านคนที่ไม่มีการศึกษาเลย ในเมื่อแรงงานครึ่งหนึ่งอายุมากและมีการศึกษาน้อย การปรับตัวและยกระดับให้เป็นแรงงาน 4.0 คงทำได้ยากทีเดียว ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นไปได้ที่อำนาจการต่อรองของคนงานจะลดลงมากเพราะการผลิตการค้าและการบริการนับวันจะมีการใช้แรงงานน้อยลง โดยมีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ คนงานที่จะปรับทักษะให้สอดคล้องกับหุ่นยนต์และนวัตกรรมใหม่ๆ คงมีจำนวนน้อย คนที่จะตกงานมีมาก กลายเป็นสินค้าล้นตลาดราคาตกต่ำ ล่าสุด อีคอนไทย หรือสภาองค์การนายจ้างและผู้ประกอบการไทยได้ประเมินว่าจะมี 8 อาชีพที่เสี่ยงตกงานเพราะเทคโนโลยี 4.0 นั่นคือ พนักงานขายปลีกหน้าร้านในห้างและพนักงานขายตรง พนักงานโรงแรม พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน พนักงานในภาคอุตสาหกรรม แรงงานในภาคลอจิสติกส์ บุรุษพยาบาลและคนดูแลผู้ป่วย คนขับรถยนต์และรถบรรทุก คนทำงานเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในบรรดากลุ่มเสี่ยงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมถือครองสัดส่วน 80% ของมูลค่าส่งออก แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุค 2.0-2.5 ซึ่งในสัดส่วนนี้มี 25% เปราะบางมาก

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายผู้ประกอบการดูจะมีความพร้อมมากกว่าในการเข้าสู่ยุค 4.0 ดังที่จะเห็นผู้ประกอบการและหอการค้าไทยยืนยันว่าปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่มีความพร้อมแล้ว นโยบายของหอการค้าเองก็ผลักดันให้ผู้ประกอบการประมาณ 1 แสนรายทั่วประเทศเข้าสู่การค้าและการบริการแบบ 4.0 โดยตั้งเป้าไว้ในแผนงาน 2560-2561 ว่าจะยกระดับผู้ประกอบการ 50,000 รายให้มีศักยภาพสูงขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น 30%  หรือราว 20,000-30,000 ล้านบาท ปัจจุบันสัดส่วนจีดีพีในภาคการค้าและการบริการคิดเป็น 52% ของจีดีพีประเทศ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า การใช้ทุนข้ามชาติมาช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทยก็ดี ความสับสนอลหม่านด้านแรงงานในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ดี ล้วนแล้วแต่จะนำกลับมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การลดช่องว่างระหว่างรายได้จะเป็นแค่ความฝันระยะไกล

ผมคิดว่าผู้บริหารปัจจุบันคงรู้ปัญหาดีอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐราชการจึงหันมาใช้ระบบสวัสดิการอ่อนๆและระบบสังคมสงเคราะห์ เพื่อลดแรงกดดันจากชนชั้นล่าง ในการนี้รัฐบาลปัจจุบันเตรียมงบประมาณไว้ 80,000 ล้านบาทในการช่วยเหลือดูแลคนจนที่มาลงทะเบียนไว้ 14 ล้านคน

“นโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก
โดยทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ
หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
แต่ที่แน่ๆ ในทางนโยบายแล้ว มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง
…การหวังให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อนการยกระดับฐานะของธุรกิจ SMEs และธุรกิจชั้นล่างๆ
จะไม่สวนทางกับคำว่า “ชาติ” ของระบบทุนหรอกหรือ
เป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาใหญ่จะไม่กินปลาเล็ก”

นอกจากนี้ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้อาศัยการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเศรษฐกิจ 4.0 แต่อย่างเดียว  แต่ยังคิดยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “กลไกประชารัฐ” ขึ้นมาเป็นเครื่องจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จุดที่น่าสนใจที่สุดก็คือ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเติบโตของจีดีพีเท่านั้น หากแต่ยังมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ไปพร้อมกัน ตามนโยบายประชารัฐ รัฐราชการเสนอตัวเป็นแกนนำผสานความร่วมมือระหว่างทุนใหญ่กับธุรกิจรายย่อยหรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่น ทั้งนี้โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อน ด้วยเหตุดังนี้ ประชารัฐ จึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน ไหลลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ มันคือความพยายามที่จะแปรความขัดแย้งทางชนชั้นที่หลายท่านเกลียดและกลัว มาเป็นความร่วมมือทางชนชั้นภายใต้การนำของรัฐราชการ ดังนั้นกลไกประชารัฐจึงมีกลิ่นอายของความรักความสามัคคีของคนในชาติพอสมควร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงลัทธิ corporatism กับนิยามเรื่องรัฐของเฮเกล สิ่งที่เราไม่รู้คือ นโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก โดยทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ ในทางนโยบายแล้ว มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง ดังจะเห็นจากคำพูดของผู้นำเครือข่ายประชาสังคมท่านหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “ประชานิยมคือการเอาเงินของรัฐไปแจกชาวบ้าน นักการเมืองเอาบุญคุณ ชาวบ้านอ่อนแอเรื่อยไปไม่หายจน ประชารัฐคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชนคนรากหญ้าให้พ้นความยากจน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ สามารถควบคุมนักการเมืองทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

แน่นอน ถ้าตัดเรื่องเจตนาออกไปแล้ว การหวังให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อนการยกระดับฐานะของธุรกิจ SMEs และธุรกิจชั้นล่างๆ จะไม่สวนทางกับคำว่า “ชาติ” ของระบบทุนหรอกหรือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาใหญ่จะไม่กินปลาเล็ก อาจจะเร็วเกินไปที่จะมีข้อสรุปแบบฟันธงเรื่องนี้ออกมา แต่ที่น่าสนใจก็คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้เศรษฐกิจแบบไหน แต่เน้นว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและยั่งยืน อันนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยืนยันว่าประเทศไทยต้องใช้เศรษฐกิจเสรีและอาศัยกลไกตลาดเท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว จะทำให้รัฐเข้าไปไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างทุนใหญ่กับผู้ผลิตรายย่อยได้ง่ายขึ้น และบางทีอาจจะมีผลประโยชน์นอกกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เที่ยวนี้ชนชั้นนำภาครัฐไม่ได้เข้ามากุมอำนาจอย่างเฉื่อยเนือย
หรือแค่รักษาผลประโยชน์เดิมๆ ไปวันๆ
ตรงกันข้ามพวกเขาเปิดฉากรุกทางการเมืองอย่างเข้มข้น เป็นระบบ
ถึงขั้นมีมาสเตอร์แพลนในการสถาปนาอำนาจนำของตนให้มั่นคง ยั่งยืน และอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัตน์

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดคงเห็นแล้วว่า เที่ยวนี้ชนชั้นนำภาครัฐไม่ได้เข้ามากุมอำนาจอย่างเฉื่อยเนือย หรือแค่รักษาผลประโยชน์เดิมๆ ไปวันๆ ตรงกันข้ามพวกเขาเปิดฉากรุกทางการเมืองอย่างเข้มข้น เป็นระบบ ถึงขั้นมีมาสเตอร์แพลนในการสถาปนาอำนาจนำของตนให้มั่นคง ยั่งยืน และอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัตน์ พูดอีกแบบคือ 3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในเมืองไทยไม่ได้สะท้อนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่ากับเครือข่ายการเมืองของนายทุนบางกลุ่ม หากแต่ยังสะท้อนความพยายามของชนชั้นนำภาครัฐที่จะสร้างสังคมตามแนวคิดอนุรักษ์นิยมคู่ขนานกับการเกี่ยวร้อยกับทุนนิยมโลก มันเป็นความพยายามที่จะดำรงฐานะนำของรัฐราชการในการบริหารระบบทุนไร้พรมแดน แต่ประเด็นมีอยู่ว่า อุดมการณ์และวาทกรรมแบบรัฐชาติของระบบราชการนั้นโดยเนื้อแท้แล้วก็ไปกันไม่ได้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ขับเคลื่อนทุนไร้ชาติไร้พรมแดน ด้วยเหตุดังนี้เราจึงเห็นสภาพขัดแย้งกันเองระหว่างนโยบายเศรษฐกิจที่แลไปข้างหน้า กับนโยบายทางสังคมการเมืองที่แลไปข้างหลัง เช่น การศึกษาแบบท่องจำกับเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรม ดังที่นอม ชอมสกี้ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นถือปัจเจกชนเป็นตัวตั้งและใช้กลไกตลาดกร่อนสลายสังคม ชุมชน ชาติ หรือองค์รวมใดๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจมาก ในขณะที่รัฐราชการของไทยสมาทานลัทธิ neoliberal ซึ่งมีทั้งแนวคิดและการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับคอนเซ็ปท์ผลประโยชน์แห่งชาติหรือรัฐชาติ รัฐนี้จะยังคงใช้วาทกรรมรัฐชาติกึ่งจารีตขับเคลื่อนสังคมไทยให้หมุนตามศูนย์อำนาจได้แค่ไหน

กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว สิ่งที่ คสช.เสนอนับเป็นการ challenge ครั้งใหญ่ต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองตลอดจนนักทฤษฎีฝ่ายประชาธิปไตยครั้งใหญ่ ซึ่งถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับผังอำนาจและแนวทางบริหารประเทศแบบ Top-Down ก็คงต้องมีข้อเสนอในระดับที่ Grand พอๆ กัน ไม่ใช่พูดแค่หลักการลอยๆ เรียนตรงๆ ถ้าพรรคการเมืองใดคิดอะไรไม่ได้มากไปกว่าชนชั้นนำภาครัฐ หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ ก็ป่วยการที่จะมีพรรคเหล่านั้น เพราะพวกเขาจะกลายเป็นแค่กลุ่มแสวงหาอำนาจและเป็นแค่ส่วนตบแต่งพลังอำนาจที่ขับเคลื่อนรัฐราชการและควบคุมสังคมไทยอยู่แล้ว แต่ก็อีกนั่นแหละ

“สิ่งที่ คสช.เสนอนับเป็นการ challenge ครั้งใหญ่ต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง
ตลอดจนนักทฤษฎีฝ่ายประชาธิปไตยครั้งใหญ่
ถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับผังอำนาจและแนวทางบริหารประเทศแบบ Top-Down
ก็คงต้องมีข้อเสนอในระดับที่ Grand พอๆ กัน ไม่ใช่พูดแค่หลักการลอยๆ
เรียนตรงๆ ถ้าพรรคการเมืองใดคิดอะไรไม่ได้มากไปกว่าชนชั้นนำภาครัฐ
หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ ก็ป่วยการที่จะมีพรรคเหล่านั้น”

เรื่องนี้มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งล้วนเติบโตมาจากช่วงระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 จึงคุ้นเคยกับการร่วมมือกับชนชั้นนำภาครัฐในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกฯ คนนอก ดังนั้น ฉากหนึ่งที่อาจเกิดคือ พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งอาจผนึกกำลังกันหนุนผู้นำทางกองทัพทั้งที่เคยกีดกันพวกเขามาในการเลือกตั้งหลายครั้งมาก และชิงส่วนแบ่งอำนาจมาไว้กับตนแม้จะต้องเล่นบทพระรองก็ตาม การดูถูกหมิ่นหยามนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำภาครัฐแสดงออกอย่างเปิดเผยตลอดมา เพราะมันเป็นวาทกรรมหรือฐานคิดที่ลดฐานะนำของสถาบันในระบอบประชาธิปไตยอย่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3  ปีที่ผ่านมาคณะรัฐประหารและมวลชนที่สนับสนุนมักจะใช้วาทกรรมต่อต้านคอร์รัปชันพุ่งเป้าใส่นักการเมือง ตอนแรกอาจหมายถึงพรรครัฐบาลที่ถูกโค่น ต่อมากลับออกไปในทางเหมารวมทั้งหมด ทั้งที่ความจริง ข้าราชการกับพ่อค้านักธุรกิจต่างหากที่เป็นต้นแบบการคอร์รัปชั่น และมันก็ไม่ได้หายไปไหนในการปกครองแบบอำนาจนิยมนี้ จากการประกาศค่าดัชนีชี้วัดจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ต้นปี 2560 ไทยได้คะแนนเพียง 35 จาก 100 คะแนน ทำให้อออยู่ในอันดับ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ คะแนนดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 43 คะแนน ก่อนหน้านี้ในปี 2557 ไทยเคยได้ 38  อยู่อันดับที่ 85 ปี 2558 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 76 แต่คะแนนยังอยู่ที่ 38 เหมือนเดิม สาเหตุที่ทำให้คะแนนลดลงในคะแนนปีล่าสุด เพราะมีการนำข้อมูลความเป็นประชาธิปไตยเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องคอร์รัปชัน ยังเป็นประเด็นการเมืองที่มีนัยสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสังคมไทย ดังเราจะเห็นได้จากคำถาม 4 ข้อเรื่องธรรมาภิบาลที่ฝ่ายรัฐตั้งขึ้นแล้วรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันตอบ ใช่หรือไม่ว่า คำถามเหล่านั้นแท้จริงแล้วคือการเปิดฉากรุกทางการเมืองต่อบรรดานักการเมืองอีกระลอกหนึ่ง โดยผู้กุมอำนาจช่วงชิงเป็นฝ่ายกระทำก่อนเลือกตั้งจะเกิดขึ้น แต่อย่าเข้าใจผิด ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการกระทำระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลายท่านอาจมองว่าต้องการส่วนอำนาจ หากเป็นการต่อสู้ระดับชิงระบอบของ state elite ซึ่งต้องการสถาปนาความชอบธรรมของตนและลดทอนความชอบธรรมของคู่แข่ง ถ้าเรามองในระดับนี้จะพบว่า ฝ่ายชนชั้นนำเก่ามีสำนึกและยุทธศาสตร์ในการต่อสู้มากกว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองซึ่งมักมุ่งหวังชัยชนะที่แคบกว่ากันมากเพียงในระดับบุคคลหรือพรรคของตนเท่านั้น

“ในสายตาของผม โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับพรรคราชการได้ คือ
ต้องร่วมมือกันเองอย่างเหนียวแน่น แล้วตอบคำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องตอบคำท้าใหญ่เรื่องการพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย
ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริงและเป็นธรรมมากกว่า”

อันที่จริง ประเด็นธรรมาภิบาลตามความหมายสากล ไม่ใช่เรื่องศีลธรรม จริยธรรมหรือเรื่องคนดีแบบฉาบฉวย หากเป็นกระบวนการบริหารจัดการที่นำไปสู่ประสิทธิภาพ สะอาดปราศจากข้อกังขา กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วม และหลักฉันทามติเป็นสำคัญ ดังนั้น ถ้ากล่าวในเชิงคอนเซ็ปท์ล้วนๆ ระบอบประชาธิปไตยย่อมสร้างธรรมาภิบาลได้มากกว่าระบอบอำนาจนิยม อย่างไรก็ดี ไม่ทราบเป็นเพราะมีแผลกันอยู่มากหรือด้วยเหตุผลใด บรรดานักการเมืองจึงไม่ออกมาโต้แย้งเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีท้วงติงบ้างก็เป็นรายบุคคล ในสายตาของผม โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับพรรคราชการได้ คือ ต้องร่วมมือกันเองอย่างเหนียวแน่น แล้วตอบคำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องตอบคำท้าใหญ่เรื่องการพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริงและเป็นธรรมมากกว่า

ดังนั้น การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทางคือ ทางแรก นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่ได้กุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย กลายเป็นการเมืองแบบที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบเกี้ยเซียะ ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจผนึกกำลังทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ มีข้อเสนอแนะข้อโต้แย้งที่แตกต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศเรา

“ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 แวดวงวิชาการเคยพูดถึงการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด
ปัจจุบันคนเหล่านี้คือเป้าหมายหลักที่นโยบายประชารัฐต้องการช่วงชิงเป็นภาคี
ดังนั้นจึงน่าสนใจมากว่าจากนี้ไปกลไกของฝ่ายอนุรักษณ์
จะสลายความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวนาเสื้อแดงได้หรือไม่
การเลือกตั้งครั้งหน้าฐานมวลชนกลุ่มนี้จะย้ายค่ายหรือไม่”

กล่าวสำหรับภาคประชาชนโดยทั่วไป ฐานะของพวกเขาจะเป็นเช่นไรภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 และกลไกประชารัฐ ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน อันดับแรก หากพูดเรื่องเลือกตั้ง เสียงของพวกเขาจะมีน้ำหนักลดลง เพราะระบบเลือกตั้งใหม่และอำนาจของ ส.ว.จากการแต่งตั้ง จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองไหนจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้นทางเลือกในระดับนโยบายก็จะหายไปด้วย จะว่าไปแม้แต่ในเรื่องนี้ชนชั้นนำภาครัฐและมวลชนห้อมล้อมก็ขับเคลื่อนวาทกรรมดักหน้าไว้แล้วว่า การเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย วาทกรรมดังกล่าวใช้ประโยชน์ได้สองทาง คือลดทอนเครดิตของการเมืองแบบเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็คล้ายจะหันเหความสนใจของประชาชนจากประเด็นที่เสียงของพวกเขามีน้ำหนักน้อยลง กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมาเสียงประชาชนเคยมีน้ำหนักมากในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนโยบายที่พวกเขาพอใจ คนเหล่านี้ถูกทำให้เงียบสนิทมาตลอด 3 ปี ถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าเขาคิดอย่างไร จะแสดงออกทางการเมืองแบบไหนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทุกท่านคงนึกออกว่าในอดีตชาวนาไทยถูกทิ้งให้จมปลักกับความเสียเปรียบและไม่ถูกนับในทางการเมืองมาเป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้ เมื่อพรรคหนึ่งเสนอแนวทางประชานิยมช่วยเรื่องหนี้สินและราคาผลผลิต บรรดาเกษตรกรจึงสนับสนุนอย่างท่วมท้นและกลายเป็นผู้ตื่นตัวแบบฉับพลัน ก็น่าสนใจว่าเมื่อแนวทางแบบประชานิยมถูกปิดกั้นชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นไร

ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 แวดวงวิชาการเคยพูดถึงการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันคนเหล่านี้คือเป้าหมายหลักที่นโยบายประชารัฐต้องการช่วงชิงเป็นภาคี ดังนั้นจึงน่าสนใจมากว่าจากนี้ไปกลไกของฝ่ายอนุรักษณ์จะะสลายความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวนาเสื้อแดงได้หรือไม่ การเลือกตั้งครั้งหน้าฐานมวลชนกลุ่มนี้จะย้ายค่ายหรือไม่

อันดับต่อมา การเมืองภาคประชาชนจะมีสภาพเป็นเช่นใดกติกาการเมืองชุดล่าสุด พื้นที่สำหรับการเมืองภาคประชาชนยังมีเหลือหรือมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ถ้าพูดกับตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว เราอาจจะมองโลกในแง่ดีได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ยังยืนยันสิทธิเสรีภาพประชาชนในด้านต่างๆ ไว้โดยละเอียด ในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 49 อีกทั้งยังมีมาตรา 77 ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรากฎหมายแต่ละฉบับ และมาตรา 133 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเพื่อเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพได้

“คำมั่นสัญญาในรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรม
สิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นดูจะมีเงื่อนไขมากเหลือเกิน
โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเอื้อต่อการตีความครอบจักรวาล
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเล็กกฎหมายน้อย
สิทธิเสรีภาพของชาวบ้านย่อมขัดแย้งประสางากับความจริงทางเศรษฐกิจสังคมในไทย
ซึ่งสรุปได้ด้วยคำสองคำ คือ เหลื่อมล้ำ และ อยุติธรรม”

อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาในรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นดูจะมีเงื่อนไขมากเหลือเกิน โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเอื้อต่อการตีความครอบจักรวาล ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเล็กกฎหมายน้อย นอกจากนี้สิทธิเสรีภาพของชาวบ้านย่อมขัดแย้งประสางากับความจริงทางเศรษฐกิจสังคมในไทย ซึ่งสรุปได้ด้วยคำสองคำ คือ เหลื่อมล้ำ และ อยุติธรรม

ดังนั้น ลำพังมีกฎหมายคุ้มครองก็ไม่ได้หมายความว่าช่องว่างนี้จะหดแคบโดยพลัน เรามีตัวอย่างมากมายที่สิทธิชุมชนถูกละเมิดโดยทุนใหญ่หรือไม่ก็โครงการของรัฐเอง อีกทั้งตัวบุคคลที่เป็นผู้นำชาวบ้านจำนวนไม่น้อยก็สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าการเมืองภาคประชาชนนั้นมักจะเป็นเรื่องปากท้องและฐานทรัพยากรของชุมชน เราก็คงมองเห็นว่านโยบายสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ดี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็ดี สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังได้ เช่น ในกรณีท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ปัญหาที่ดินทำกินที่แม่สอด และกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เป็นต้น

แม้ว่านโยบายประชารัฐโดยกองทุนหมู่บ้าน จะมีโครงการเปิดร้านค้าชุมชน 2 หมื่นแห่ง ตลาดประชารัฐอีก 1,300 แห่ง แต่ถ้ายังคงเต็มไปด้วยปัญหาที่ดินทำกิน ถูกรุกล้ำฐานทรัพยากร การพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าในแนวนี้ก็คงไม่อาจราบรื่น

แน่นอน ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ภาคประชาชนเองก็อาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเช่นกัน ในระยะหลังพวกเขาใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ต่างๆ มาสนับสนุนการต่อสู้ของตนในปกป้องฐานทรัพยากรตนเอง ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้การเมืองข้างถนนเป็นการเมืองคีย์บอร์ดมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีอาจเป็นเพราะเหตุนี้ ผนวกกับสภาพการชุมนุมล้นเกินก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ตลอดจนความรู้สึก insecure อ่อนไหวในเรื่องอุดมการณ์ของรัฐ ชนชั้นนำที่กุมอำนาจจึงต้องการจำกัดขอบเขตของประชาธิปไตยทางตรงไปพร้อมกับประชาธิปไตยตัวแทน กล่าวคือ นอกจากกลไกคุมนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ยังมีการคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อที่ผลักดันกันอยู่

“นอกจากกลไกคุมนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ยังมีการคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน
เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ
อันนี้ไม่ทราบว่าตรงกับนักวิชาการบางท่านเรียกว่า สภาวะ deep state หรือ รัฐพันลึกได้หรือไม่
กล่าวคือ จะมีเลือกตั้งหรือรูปแบบภายนอกเป็นประชาธิปไตยก็มีไป
แต่เบื้องลึกรัฐยังควบคุมสังคมผ่านสารพัดกลไก”

อันนี้ไม่ทราบว่าตรงกับนักวิชาการบางท่านเรียกว่า สภาวะ deep state หรือ รัฐพันลึกได้หรือไม่ กล่าวคือจะมีเลือกตั้งหรือรูปแบบภายนอกเป็นประชาธิปไตยก็มีไป แต่เบื้องลึกรัฐยังควบคุมสังคมผ่านสารพัดกลไก

กลุ่มสุดท้ายที่ผมอยากจะเอ่ยถึงด้วยความเกรงใจ คือ ปัญญาชนและนักวิชาการ ชนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการเมืองสูงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพียงแต่วิวัฒน์จากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิต สมณะ มาเป็น ผศ. รศ. คอลัมนิสต์ หรือนักวิชาการอิสระเท่านั้นเอง

เท่าที่สังเกตเห็น ซึ่งอาจมองผิด ผมรู้สึกว่าปัญญาชนที่ถือตนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่ค่อย connect  กับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ส่วนใหญ่พอใจอยู่กับการออกความเห็นในเฟซบุ๊ก กระทั่งบางส่วนออกจะรังเกียจการเมืองภาคประชาชนโดยเห็นว่าแกนนำบางคนเคยต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

สำหรับเรื่องนี้ผมเองค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจ เพราะในอดีตทศวรรษ 1960 และ 1970 บรรดานักศึกษา ปัญญาชน นักวิชาการพากันเข้าหาประชาชนจนไม่เป็นอันอยู่ในห้องเรียน ครั้นเติบโตมีประสบการณ์มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในการพ่ายแพ้ ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่าดุลกำลังเปรียบเทียบทางการเมืองนั้นเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าสังคมกำลังมีปัญหาอะไร ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเกี่ยวร้อยกับพลังที่เป็นคุณในแต่ละช่วงสถานการณ์ผู้นั้นย่อมโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน

การเมืองเป็นเรื่องของฉันทามติ นักเคลื่อนไหวจึงต้องเอาสิบสู้สิบเสมอ เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างเดียวกับตน ไม่ใช่เอาหนึ่งสู้สิบแล้วนั่งภูมิใจท่ามกลางความพ่ายแพ้

แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมสงสัยว่าปัญญาชนรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ได้คิดอะไรในแนวนี้อีกแล้ว และสำหรับหลายคนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจเป็นความคิดก็ได้ หรือโดยไร้ความคิดก็ได้ นับเป็นจุดหมายสูงสุดในตัวมันเอง

ดุลกำลังเปรียบเทียบทางการเมืองนั้นเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าสังคมกำลังมีปัญหาอะไร
ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเกี่ยวร้อยกับพลังที่คุณเป็นคุณในแต่ละช่วงสถานการณ์
ผู้นั้นย่อมโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน การเมืองเป็นเรื่องของฉันทามติ
นักเคลื่อนไหวจึงต้องเอาสิบสู้สิบเสมอ เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างเดียวกับตน
ไม่ใช่เอาหนึ่งสู้สิบแล้วนั่งภูมิใจท่ามกลางความความพ่ายแพ้

มันเป็นไปได้หรือไม่ว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ neoliberalism นั้นซึมลึกมาในสังคมมากกว่าที่เราคิด  แม้แต่ในหมู่ปัญญาชนที่ถือตนว่าหัวก้าวหน้า หรือปัญญาชนประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมสุดขั้วยังเข้ามาครอบงำอย่างหนาแน่น

ระบบเฟซบุ๊กก่อให้เกิดสภาพหนึ่งคนเป็นหนึ่งสำนัก และเมื่อเกิดหลายสำนักสิ่งที่หายไปคือสำนึก โดยเฉพาะสำนึกเรื่ององค์รวม หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังเป็นกลุ่มก้อน ขบวนการ บางท่านใช้เวลาในการวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกัน มากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลัง

และถ้าจะให้พูดตรงๆ ยกเว้นนักวิชาการอาวุโสที่เป็นผู้นำทางความคิดกับนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ในท้องถิ่นแล้ว ผมเห็นว่า ปัญญาชนจำนวนมากเกินไป แทบจะไม่พยายามไปเกี่ยวร้อยกับความทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนกลุ่มต่างๆ เลย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงยังไม่สามารถทำให้ความคิดของตน matter ในสังคมไทย ศักยภาพทางการเมืองของพวกเขายังคงเป็นแค่ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริงแต่ไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริง

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมหวังว่าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้คงไม่ใช่การมองโลกเชิงลบมากเกินไป ผมเพียงแต่ชวนท่านมองความเป็นจริงโดยไม่หลบตา เพราะมีแต่มอบตัวให้กับความจริงเท่านั้นจึงจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ตรงตามเงื่อนไขเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น และหวังว่าแง่คิดที่นำมาเสนอจะมีส่วนจดประเด็นให้ท่านไปทำวิจัยต่อได้บ้าง ไม่มากก็น้อย สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ยังขาดองค์ความรู้มาประกอบการพิจารณาเป็นอย่างมาก ส่วนตัวผมเองก็ทำได้แค่ตั้งข้อสังเกตผ่านสายตาชายชรา

“ในวันนี้ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตน
และฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ
แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ
…แน่นอน ที่ไหนมีการเมืองทีนั่นก็มีการแข่งขันชิงอำนาจ ที่นั่นก็มีความขัดแย้ง
และความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองก็เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง”

นับจากพ.ศ.2475 มาถึงวันนี้ เราคงต้องยอมรับว่าเส้นทางวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยไม่ใช่เส้นตรง หากยักเยื้องแบบ dialectical หรือเป็นลักษณะวิภาษ หลายปีที่ผ่านมาการเมืองการปกครองไทยเปลี่ยนไปตามความขัดแย้งระหว่างพลังอำนาจนิยมกับพลังประชาธิปไตย ซึ่งด้านหลักเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่จากนอกระบบราชการ โดยมีประชาชนหลายชั้นชนเป็นตัวแปรสำคัญ

แต่ในกระบวนการคลี่คลายของความขัดแย้งทุกรอบ ก็ยังมีความขัดแย้งอื่นๆ เข้ามาแทรก เช่น ความขัดแย้งระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางเก่ากับคนชั้นกลางใหม่ หรือ ความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับคนงาน ความขัดแย้งระหว่างชาวชนบทกับคนเมืองหลวง กระทั่งความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นปกครองและในหมู่ประชาชนด้วยกัน

ความขัดแย้งที่ทาบซ้อนกันเหล่านี้เป็นแหล่งที่มาของการจัดกำลังเผชิญหน้ากันในยามที่สถานการณ์ดำเนินมาถึงช่วงวิกฤต ซึ่งฝ่ายไหนมีดุลกำลังเปรียบเทียบที่เหนือกว่าและมีแนวทางการต่อสู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเฉพาะหน้ามากกว่า ฝ่ายนั้นก็ชนะไป

ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ มักตกค้างในภาวะ antithesis นานเกินไป จนหา synthesis ไม่เจอ

ในวันนี้ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ

การที่รัฐธรรมนูญ 2560 จัดผังอำนาจโดยขยายบทบาทของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนไว้มาก อันนี้เท่ากับนำระบบราชการเข้ามาซ้อนทับและครอบงำปริมณฑลทางการเมือง ซึ่งในด้านหนึ่งนับเป็นการลดทอนบทบาทของประชาชนในกระบวนการคัดสรรและควบคุมผู้กุมอำนาจ แต่ในอีกด้านหนึ่งย่อมจะทำให้ภาคราชการมีการเมืองมากขึ้น ข้าราชการระดับสูงกลายเป็นนักการเมืองไปโดยปริยาย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าระบบวุฒิสภาแต่งตั้งจะยิ่งทำให้นักการเมืองนอกระบบผุดขึ้นเต็มไปหมด

แน่นอน ที่ไหนมีการเมืองทีนั่นก็มีการแข่งขันชิงอำนาจ ที่นั่นก็มีความขัดแย้ง และความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองก็เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง

ผมรบกวนเวลาท่านทั้งหลายมามากแล้ว ขอบคุณที่ให้เกียรติรับฟัง

 


You must be logged in to post a comment Login