วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ผู้นำขาเลาะ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On June 19, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“กรณีคลิปวิดีโอบางอันดีๆกลับมีคลิปไม่เหมาะสมต่อท้ายอย่างคลิปของลำไย ไหทองคำ รู้จักลำไย ไหทองคำ กันหรือไม่ อัตลักษณ์การสร้างเนื้อสร้างตัว ขอบคุณผู้หญิงแก่ๆคนหนึ่ง ขอบคุณครูที่สอนวิธีการเต้นจนหนูมีชื่อเสียง เต้นแบบนี้หรือ เกือบจะโชว์ของสงวน พูดไปก็ไม่ดี เดี๋ยวหาว่าผมบ้า แต่อยากให้ช่วยกันแก้ไขปัญหา”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตำหนิสื่อโซเชียลระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน และยังกล่าวถึงกรณีสื่อเสนอข่าว “เปรี้ยว-ปรียานุช โนนวังชัย” คดีฆ่าหั่นศพว่า ห่วงแต่เรื่องผลประโยชน์ กลัวขายไม่ออก ไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง สังคมและเด็ก กลายเป็นไอดอลในทางที่ผิดให้กับเด็ก เที่ยวไปหาซื้อหมอนลายเดียวกับเปรี้ยว ดูคลิปสวยประหาร ไปหาประวัติเปรี้ยวมาตั้งแต่เด็กจนโต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมขาดภูมิคุ้มกันที่ดี ต้องมีความรู้คู่คุณธรรม ต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา ทุกวันนี้เป็นสังคมก้มหน้า

ดราม่าฮาข้ามโลก

กรณี “ลำไย ไหทองคำ” หรือสุพรรณษา เวชกามา ลูกทุ่งหมอลำที่ดังเป็นพลุแตกจากเพลง “ผู้สาวขาเลาะ” ที่มียอดผู้เข้าชมมากกว่า 200 ล้านวิว ยิ่งดังมากขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวติติง เพราะทั้งแฟนคลับและคนที่ไม่เคยรู้จัก “ลำไย ไหทองคำ” ก็สอบถามและค้นหาเรื่องราวของลูกทุ่งสาวกันกระหึ่ม หลังจากเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ในสื่อต่างๆ กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แม้แต่สื่อต่างประเทศยังนำไปกล่าวถึงรัฐบาลทหารที่ “ทั่นผู้นำ” ต้องการสร้างสังคมไทยให้เป็น “คนดี” มีศีลธรรมและรักษาวัฒนธรรมความเป็นไทย

เช่นเดียวกับ “ค่านิยม 12 ประการ” ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับลูก “ทั่นผู้นำ” ให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศท่องจำ แม้จะถูกตั้งคำถามว่าทำถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ระหว่างการบังคับให้เด็กต้องท่องจำ เหมือนกรณีการเอาทหารไปฝึกวินัยเด็ก แทนที่จะสอนให้เด็กซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ของตนเองและเคารพสิทธิผู้อื่น

กรณีของ “ลำไย ไหทองคำ” แม้แต่สื่อต่างประเทศยังนำไปกล่าวถึง โดยเฉพาะ “มาร์ค เคนท์” อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นทูตอังกฤษประจำอาร์เจนตินา ได้ทวีตลิ้งค์ข่าวการติติงของ พล.อ.ประยุทธ์ (13 มิถุนายน) ในเชิงอำเล่นว่า “I miss Thailand at times.” หรือผมคิดถึงประเทศไทย

ขณะที่ “ลำไย” ออกมาน้อมรับคำตำหนิของ “ทั่นผู้นำ” ว่าจะแก้ไขท่าเต้นให้เบาลงกว่าเดิม แต่อยากให้เข้าใจด้วยว่าเป็นเรื่องการแสดงที่ต้องทำตามคนว่าจ้างและค่ายเพลงต้นสังกัด ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนคาแร็คเตอร์เพราะเป็นความสามารถเฉพาะตัว ซึ่ง “จ๊ะ อาร์สยาม” นักร้องดังร่วมค่ายก็ให้กำลังใจ “ลำไย” โดยระบุว่านักร้องหมอลำส่วนใหญ่ก็เต้นและแต่งตัวแบบ “ลำไย”

นายประจักษ์ชัย เนาวรัตน์ เจ้าของค่ายเพลงไหทองคำ เรคคอร์ด กล่าวว่า ไม่ได้น้อยใจคำติติงของนายกรัฐมนตรีและยังจะทำงานเหมือนเดิม คนที่เต้นแรงกว่า “ลำไย” ก็มี ซึ่งตอนนี้มีค่ายหนังใหญ่ติดต่อมา 2-3 เรื่อง ยิ่งเป็นข่าวก็ยิ่งดัง แต่ก็มีทั้งแง่ดีและแง่ลบ พร้อมถามว่า

“ลำไยไปทำร้ายสังคมเหรอ ลำไยเต้นเด้าทำให้สังคมวอดวายเหรอ เรื่องแบบนี้มีมาก่อนที่ลำไยจะดังเสียอีก มีคนอื่นทำมาก่อนตั้งเยอะ แต่ไม่ถูกพูดถึง น้องลำไยเป็นนักร้องวาไรตี้ เป็นการร่วมสมัย ท่าเต้นจะมีการผสมผสานทั้งหมอลำซิ่ง โคโยตี้ เกาหลี และทางอเมริกา ท่ากระเด้านี้มีมานานแล้ว อย่างไมเคิล แจ๊กสัน หรือนักร้องเกาหลีก็เต้นกัน นักร้องดังๆในเมืองไทยก็เต้น ไม่ใช่ว่าลำไยจะมาเต้นคนแรก อีกอย่างถึงน้องลำไยไม่ทำคนอื่นก็ทำอยู่ดี แต่คนอื่นทำไม่ถูกพูดถึง ที่น้องถูกพูดถึงเพราะน้องกำลังดัง เป็นกระแส”

ล่าสุดนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ออกมารับลูกนายกรัฐมนตรีว่า ได้ทำหนังสือไปถึงค่ายเพลง ซึ่งทางค่ายได้โพสต์ขอโทษและน้อมรับคำติติงว่ายินดีนำไปปรับปรุงแก้ไข กระทรวงวัฒนธรรมมีศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมคอยติดตามและรับฟังคำร้องเรียนเรื่องค่านิยมต่างๆอยู่แล้ว มีผู้หลักผู้ใหญ่ติติงมาเราก็พร้อมที่จะปรับ แต่ก่อนเราก็ไม่รู้ว่าตรงไหนโป๊หรือตรงไหนห้าม ไม่รู้ว่าคำว่าศีลธรรมมันขีดเส้นอยู่ตรงไหน ซึ่งปรกติโคโยตี้ หมอลำซิ่ง ชุดก็จะเป็นประมาณนี้

ขณะที่กระแสโซเชียลมีเดียที่วิจารณ์ไปต่างๆนานานั้นก็มีการนำเบื้องหลังชีวิตของ “ลำไย” มาตีแผ่ว่าต้องดิ้นรนต่อสู้กับชีวิตอย่างไรกว่าจะถึงวันนี้ เดือนมกราคม 2560 มีเงินในไหหรือในบัญชีธนาคารเพียง 1.47 บาทเท่านั้น

วาทกรรมคนดี

ประเด็นนักร้องหมอลำสาวที่กลายเป็นการถกเถียงทางวัฒนธรรมและการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคที่สังคมไทยอยู่ภายใต้วาทกรรม “คนดี” แม้แต่รัฐธรรมนูญยังบัญญัติเรื่องจริยธรรมให้ศาลรัฐธรรมนูญลงโทษนักการเมืองได้

ทั้งที่กรณี “ลำไย” เป็นเรื่องการแสดงที่ต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเต้นหรือการแต่งกาย ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมมองเป็นวัตถุทางเพศในวงการบันเทิง สะท้อนชีวิตคนยากจนอีกมากมายในสังคมไทยที่มีต้นทุนต่ำ ต้องต่อสู้เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ แต่กลับถูกติติงว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีไม่งามตามกรอบไทยๆของ “ทั่นผู้นำ”

วาทกรรม “คนดี” อยู่ข้างเดียวในสังคมไทยมีให้เห็นมากมายและบ่อยครั้ง ไม่ใช่แค่การเอามาล้มล้างกันทางการเมืองเท่านั้น แต่กลายเป็นวาทกรรมที่เข้าไปในทุกภาคสังคม การกล่าวหาฝ่ายหนึ่งว่าเป็นคนชั่วและโกง ทำอะไรก็ผิด แต่พวกตนเป็นคนดีที่ทำอะไรก็ไม่ผิด การเอาค่านิยมและความรู้สึกของตนเองมากำหนด โดยเฉพาะในยุคที่ผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พูดอะไรก็ต้องเชื่อ เสมือนคำสั่งที่ทุกองคาพยพที่อยู่ภายใต้อำนาจต้องทำตามทั่วบ้านทั่วเมือง ยิ่งมองกรณี “ลำไย” กับการเต้นท่าเด้าอันเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับอีกหลายชีวิตทั้งคณะและค่ายไหทองคำนั้น จะแตกต่างอะไรกับการจัดงานรื่นเริงปลุกใจในกองทัพหรือหน่วยงานราชการที่มักจะเอานักร้อง นักเต้นโคโยตี้ แม้แต่การโชว์วับๆแวมๆไปสร้างความบันเทิงกันเป็นปรกติ

“คนดี” เหนือใคร

สังคมไทยยุคคนดีจึงปรากฏเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดก็เกิดให้เห็นบ่อยครั้ง อย่างกรณีเฟซบุ๊ค “ครูลิลลี่” อาจารย์สอนภาษาไทยชื่อดัง เผยแพร่ภาพชายหญิงยืนแนบชิดกันบนรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยทำเป็นถ่ายภาพปากกาแต่เห็นอิริยาบถหนุ่มสาวด้านหลังและเขียนว่า “พี่ไปซื้อปากกาที่บีทีเอสก่อนมาสอน พี่อยากจะสอนลูกหลานว่ารักกันไม่ผิดนะลูก แต่ขอให้ดูกาลเทศะ”

หลังการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก มีส่วนหนึ่งเห็นด้วยและเล่าถึงประสบการณ์ของตนที่พบบนบีทีเอสซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่ก็มีความเห็นอีกจำนวนมากที่ตั้งคำถามกลับว่าการถ่ายภาพมาลงในโซเชียลโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ อีกทั้งภาพที่ปรากฏก็ไม่ได้อนาจารหรือแสดงความรักกันมากจนถึงขั้นน่าเกลียดแต่อย่างใด

กระแสต่างๆที่ออกมาทำให้ “ครูลิลลี่” ต้องโพสต์เฟซบุ๊คขอโทษความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและน้อมรับทุกความเห็นว่า “ครูขอโทษในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและขอน้อมรับทุกความเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ขอให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนเพื่อความรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วนในการโพสต์ภาพ ข้อความ หรือแสดงความเห็นส่วนตัวผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงพื้นที่สาธารณะทุกรูปแบบ กราบขออภัยมา ณ ที่นี้”

สื่ออาวุโสเคยโพสต์พลาดมาแล้ว

อีกตัวอย่างคือกรณีนายสมเกียรติ อ่อนวิมล สื่ออาวุโสและนักวิชาการชื่อดัง โพสต์ทวิตเตอร์ “จริยธรรมสื่อ” ซึ่งปรากฏโฆษณาชุดชั้นในโผล่หน้าเว็บข่าวว่าเป็นภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ของตนซึ่งกำลังเปิดเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ โดยระบุว่า “อ่านหนังสือพิมพ์สมัยนี้เหมือนอ่านหนังสือโป๊รายวัน วงการหนังสือพิมพ์ตกต่ำสุดขีด เพราะเงินโฆษณาแท้ๆที่ทำให้หนังสือพิมพ์เมินศีลธรรมในสังคม”

อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้ามาทักท้วงว่าไม่ใช่เรื่องจรรยาบรรณสื่อ แต่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี เพราะโฆษณาดังกล่าวเรียกว่า Google AdSense จะจับจากเว็บไซต์ที่ผู้ใช้เคยเข้าไปดูหรือแสดงความสนใจ ทำให้หน้าจอของแต่ละคนจะขึ้นโฆษณาไม่เหมือนกัน

ขณะที่นายสมเกียรติได้โพสต์ทวิตเตอร์กลับทำนองว่า พยายามบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องจริยธรรมสื่อ ไม่ต้องการความรู้และไม่ต้องการคำอธิบายซ้ำว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ประเด็นที่ต้องการคือตำหนิหนังสือพิมพ์ว่าบกพร่องจริยธรรม
นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ค Jessada Denduangboripant ถึงเทคโนโลยีดังกล่าวว่า โฆษณาตามเพจต่างๆมักจะขึ้นกับผู้ใช้คอมพ์เครื่องนั้นๆ เห็นนักข่าวอาวุโสท่านหนึ่งทวีตด่าว่าเว็บของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทำให้วงการหนังสือพิมพ์ตกต่ำ เพราะมีโฆษณาที่เมินศีลธรรมในสังคม อ่านแล้วอย่างกับอ่านหนังสือโป๊รายวัน เพื่อความเป็นธรรมกับสื่ออื่นๆบนออนไลน์จึงต้องอธิบายว่า โฆษณาพวกนี้ทางเว็บไม่ได้เป็นผู้เลือกว่าจะให้ขึ้นมาเป็นรูปอะไร แต่ขึ้นกับระบบของบริษัทผู้ให้บริการโฆษณาอีกที เช่น ถ้าช่องโฆษณานั้นเป็น Google AdSense ทางกูเกิลก็จะเลือกแสดงโฆษณาที่เหมาะสมกับผู้อ่านเป็นรายๆไปโดยอิงกับคำค้นหา (keywords) ที่ผู้อ่านเคยใช้บ่อยๆในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เครื่องนั้น

นายเจษฎายังชี้แจงว่า ถ้าโฆษณาเป็นของ Lazada จะยิ่งจำเพาะคนไม่แพ้กันเลย ตนเคยคุยกับ ดร. คนที่ทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์สถิติว่ามีหน้าที่วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ซื้อของลาซาด้าว่าเคยซื้ออะไรไว้ มันจะกลับมาโฆษณาอีกเรื่อยๆ

ครั้งนั้นนายสมเกียรติถูกโจมตีจากหลายฝ่าย ทำให้อาศัยฤกษ์วันเกิด 2 เมษายน 2560 ซึ่งครบรอบ 69 ปี ประกาศเลิกโพสต์โซเชียลมีเดีย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อใช้ชีวิตปลายทางอย่างสงบที่บ้านพักที่ปากช่อง

คนดี..มีธรรมาภิบาล

วันนี้สังคมไทยอยู่ภายใต้ “ทั่นผู้นำ” ที่เป็นทั้งผู้นำฝ่ายบริหารและคณะรัฐประหาร วาทกรรม “คนดี” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศมาตลอดว่ารัฐบาลนี้ยึดหลักธรรมาภิบาลบริหารราชการและเดินหน้าปฏิรูปประเทศ จึงไม่แปลกที่ต้องมีคำถาม 4 ข้อให้ประชาชนให้ความเห็นถึงนักการเมืองว่าหากไม่มีธรรมาภิบาลหรือสร้างปัญหาเหมือนในอดีตจะทำอย่างไร แต่แปลกที่ไม่ตั้งคำถามถึงกลุ่มผู้มีอำนาจ ข้าราชการ หรือคนในกองทัพที่ยึดโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานมากว่า 80 ปี

คำถามเรื่องธรรมาภิบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ถูกย้อนว่า “ใครควรถามและถามใครมากกว่า” โดยวันแรก (12 มิถุนายน) ที่เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศและศูนย์บริการส่วนกลางในกรุงเทพฯ ปรากฏว่ามีผู้แสดงความเห็นเพียง 7,012 คน ขณะที่ศูนย์บริการฯทำเนียบรัฐบาลมีเพียง 14 คน แต่เจ้าหน้าที่กลับภูมิใจ บอกว่าเกินคาดที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะมาไม่กี่คน

พล.อ.ประยุทธ์ไม่เพียงแขวะถึงอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีผู้กดไลค์ถึง 6 ล้านคนขณะนี้เท่านั้น แต่ยังบอกว่าให้ความสำคัญกับ 4 คำถามเกินไปหรือเปล่า และไม่ได้หวังอะไรกับคำตอบ 4 คำถามนั้น ซึ่งตรงข้ามกับทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่า “ทั่นผู้นำ” จะพูดอะไร ผู้ใต้บังคับบัญชาและข้าราชการรวมถึงลิ่วล้อก็ต้องกุลีกุจอทำทุกอย่างให้ “ทั่นผู้นำ” พอใจ อย่างเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ทหารจากกองทัพภาคที่ 2 กว่า 8 คน พร้อมรถจี๊ป ทหาร 2 คันรถ บุกไปบ้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เพียงเพื่อให้ตอบ 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนายยุทธพงศ์แปลกใจ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าไม่ได้ถามนักการเมือง ถามประชาชน แต่ทำไมจึงให้ทหารมาถามถึงที่บ้าน

นายยุทธพงศ์ตอบไปว่า การเลือกตั้งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย เพราะไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนเรื่องการปฏิรูปอยากถามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า 3 ปีที่ผ่านมาปฏิรูปไปถึงไหนแล้ว

การให้เจ้าหน้าที่บุกไปบ้านนักการเมือง นักวิชาการ นักศึกษา หรือประชาชนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลในช่วง 3 ปีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีการปฏิบัติกันเป็นประจำ ล่าสุดนายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ถูกเชิญตัวให้ไปกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับการแสดงความเห็นต่างๆทางการเมืองของตน เช่นเดียวกับนายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตามหาตัว โดยล่าสุดทหารไปพบผู้บังคับบัญชาของภรรยาที่เทศบาลหัวหินเพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีทหารจากกรุงเทพฯมาประสานขอทราบเลขที่บ้านและตำแหน่งบ้านของตน ซึ่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทหารชุดดังกล่าวเคยตามหาตนเพื่อตักเตือนเรื่องโพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์การเมือง เช่น ข่าวคอร์รัปชันและใช้คำว่า “เผด็จการ” หากเตือนแล้วไม่ยุติก็จะนำตัวไปปรับทัศนคติที่กรุงเทพฯ

ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ชี้แจงว่า กรณีนายยุทธพงศ์ไม่เกี่ยวข้องกับ 4 คำถาม แต่ทหารร่วมกับทางจังหวัดเชิญมาพูดคุย เช่นเดียวกับนายพิชัยที่เชิญมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล อะไรเป็นประโยชน์จะนำไปพิจารณา อะไรคลาดเคลื่อนก็จะชี้แจง เป็นการนั่งกินกาแฟแล้วคุยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเดินหน้าประเทศ อย่าใช้คำว่าปรับทัศนคติหรือคำที่รุนแรง เพราะปัจจุบันไม่มีแล้ว

ผู้นำขาเลาะ

สถานการณ์บ้านเมืองที่ย่างเข้าปีที่ 4 ของ คสช. สะท้อนถึงความอ่อนไหวทุกด้านมากกว่าความมั่นคงและสงบสุขอย่างที่ “ทั่นผู้นำ” และผู้นำกองทัพออกมาย้ำนักย้ำหนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างความปรองดอง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง เรื่องข่าวคอร์รัปชัน เรื่องสารพัดขี้หมูราขี้หมาแห้ง เรื่องที่ “ทั่นผู้นำ” ต้องแบกภาระรับผิดชอบสากกะเบือยันเรือดำน้ำในฐานะที่ทำรัฐประหารเข้ามาแก้ปัญหา ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “ลำไย ไหทองคำ” นักร้องหมอลำที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอาชีพของตนก็ยังไม่พ้นสายตาและความห่วงของ “ทั่นผู้นำ” ที่เห็นว่าการเต้นท่าเด้าและการแต่งกายเต้นโชว์จนเกือบเห็นของสงวนนั้นเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีจนอาจกระทบกระเทือนศีลธรรมอันดีและความมั่นคงของคนในชาติได้

ถือเป็นความโชคดีอีกครั้งหนึ่งของคนไทยที่ได้ “ผู้นำ” ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ชนิดที่จะหา “ผู้นำ” แบบนี้ได้ยากจากระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้ง

ไม่ต้องถามว่าวันนี้ปฏิรูปเสร็จแล้วหรือ? ถึงจะมีเลือกตั้ง เพราะถ้ารอให้ปฏิรูปเสร็จ คนไทยคงไม่ได้เห็นการเลือกตั้งเป็นแน่

วันนี้ขอเพียงให้คนไทยมี “ความสุข” เท่านั้นเป็นอันพอเพียง.. ถ้าดู ฟัง “ผู้สาวขาเลาะ” แล้วยังไม่สุขพอ เรามาต่อด้วย “ผู้นำขาเลาะ” กันให้สุขใจ!!??


You must be logged in to post a comment Login