วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

พฤติกรรมไร้เดียงสา! / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On June 15, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

Alibaba Group ของ “แจ๊ค หม่า” เปิดตลาด e-commerce ใหม่ในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และไต้หวัน ผ่าน Tmall.com (ชื่อเดิม Taobao Mall) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ B2C market (business-to-customer) เชื่อมการขายธุรกิจแบรนด์เนมของ 5 ประเทศเข้าด้วยกัน แต่ไม่มีไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการออกกฎหมายมากมายเพื่อควบคุมการใช้งานต่างๆในโลกไซเบอร์ของไทยถือเป็นอุปสรรคโดยตรงกับนโยบาย Digital Economy ของท่านผู้นำสูงสุด และไกลเกินฝันกว่าสิ่งที่เรียกว่า “Thailand 4.0” ลิบลับ

การทำงานที่ไม่บูรณาการกันในลักษณะ “ต่างคนต่างทำ” และเปิดโอกาสให้แค่ชนชั้นนำของประเทศ โดยเฉพาะ “ทหารและข้าราชการพลเรือนระดับสูง” เข้ามารับผิดชอบงานของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ทำให้ได้เห็น “ความจุ้นจ้าน” แผ่กระจายออกไปในทุกวงการ ซึ่งผมและนักวิชาการอีกหลายท่านเชื่อว่า “พฤติกรรม” แบบนี้นำไปสู่การตัดสินใจกำหนดกติกาของประเทศอย่าง “ไร้เดียงสา”

พฤติกรรมไร้เดียงสาเหล่านี้เหมาะสมกับ “เด็กทารก” เท่านั้น เพราะจะทำอะไรก็ไม่เกิดความเสียหาย แต่เมื่อผู้ใหญ่ลงไปละเลงเล่นกันเองแบบเด็กๆ ปล่อยปละละเลยให้ไปจุ้นจ้านกับการควบคุมธุรกรรมในโลกไซเบอร์ และปล่อยให้มีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ ผลที่ตามมาจึงออกอาการ “ไม่สนุก” แถมล่าสุดยังออกมาตรการเข้มงวดมากมายเพื่อควบคุมการเก็บภาษีธุรกรรมออนไลน์อีก 1 ดอก ความไร้เดียงสาแบบนี้ถือว่าอันตรายครับ

ผมเคยให้ความเห็นหลายครั้งว่า การแก้กฎหมายเป็นเรื่องที่กระทำได้และควรกระทำอย่างยิ่งหากกฎหมายดังกล่าวเก่าล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ แต่การแก้หรือออกกฎหมายใหม่ที่มีลักษณะ “ควบคุมสิทธิเสรีภาพ” และขัดแย้งกับแนวนโยบายในการบริหารประเทศเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะกฎหมายคือกติกาและเครื่องมือสำคัญในการทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและมีความสุข รัฐบาลสามารถบริหารงานต่างๆได้อย่างราบรื่น นำมาซึ่งความเจริญงอกงามทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ แต่เมื่อผู้มีอำนาจออกกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม เอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม แทนที่กฎหมายจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างที่ควรจะเป็นก็กลับกลายเป็นเครื่องมือที่สร้าง “ปัญหา” ให้กับประเทศเสียเอง

อย่างเรื่องที่นำมาบ่นให้ฟังแม้แต่สื่อมวลชนต่างประเทศก็เห็นตรงกัน ท่านผู้อ่านลองอ่านบทความใน “Nikkei ASEAN Review” ก็จะเห็นข้อความของนักวิเคราะห์ที่แสดงความเห็นบางตอนไว้ว่า “ความพยายามของทางการไทยในการบล็อกเนื้อหาของ facebook และการเตือนประชาชนที่เพียงแต่แสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดียถือเป็นสัญญาณที่น่าตกใจสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่อง digital economy ของไทย”

ดังนั้น จึงสอดคล้องกับที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ไม่น่าแปลกใจที่ทำไมยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบาของ “แจ๊ค หม่า” จึงมองไม่เห็นประเทศที่ “เคยพร้อมที่สุด” ในอาเซียนอย่างไทยอยู่ในสายตา เรื่องนี้ถ้าไม่มีทิฐิมานะต่อกันและร่วมกันพิจารณาเหตุปัจจัยที่ทำให้ไทยพลาดโอกาสร่วมขบวนรถไฟสายเศรษฐกิจขบวนใหม่ ซึ่งเป็น “Trend” ของโลกไปอย่างน่าเสียดาย ก็คงจะพอเห็นคำตอบชัดเจนอยู่แล้วว่าอะไรเป็นสาเหตุดังกล่าว!

จริงๆแล้วที่ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เพราะยังมีกฎหมายที่แก้หรือออกมาใหม่อีกหลายฉบับที่ถูกตั้งคำถามอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อเร่งปั๊มกฎหมายใหม่ๆออกมาอย่างรวดเร็วถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่บางครั้งความเร็วเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์เรื่องความถูกต้องก็เป็นได้

ที่สำคัญกว่านั้นนักวิชาการทั้งด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ต่างเชื่อว่าการที่ สนช. ไม่มีฝ่ายค้านถือว่าเป็นอันตรายต่อการออกกฎหมายไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาของ สนช. ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช. โดยตรง ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า คสช. คือ “คณะรัฐประหาร” ที่ยึดอำนาจมาจากประชาชน จึงอาจเชื่อได้ว่าความทุ่มเทของผู้มีอำนาจที่มีให้แก่คนส่วนใหญ่ไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

ส่วนการตัดสินใจที่เกิดขึ้นถือเป็นการตัดสินใจของ “ชนชั้นปกครอง” เพียงฝ่ายเดียว จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมา “ยาก” ที่จะยึดโยงกับ “ผลประโยชน์” ของพี่น้องประชาชน และขัดกับหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผู้มีอำนาจบัญญัติกฎหมายต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ผู้ออกกฎหมายซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกหมู่เหล่าถือเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน การจะแก้ไขหรือออกกฎหมายอะไรก็ตามต้องฟังเสียงและความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กระบวนการออกกฎหมายจึงมีความละเอียดถี่ถ้วนและย่อมใช้เวลานานพอสมควร เพราะกฎหมายทุกฉบับที่คลอดออกมาแล้วต้องถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารประเทศ และเป็นกติกาที่บังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม

ดังนั้น เมื่อผู้ออกกฎหมายไม่ได้มีที่มาจากประชาชน จึงมีตัวอย่างของการออกกฎหมายที่ถูกตั้งคำถามว่า “ไม่เท่าเทียม” อยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ สนช. ยกมือโหวตผ่าน 3 วาระรวดคือ “พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” กฎหมายฉบับนี้มีสาระรายละเอียดอย่างไรไม่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการและสื่อมวลชน แต่เรื่องที่ทุกคนโฟกัสกลับอยู่ที่หัวข้อ “การได้มาของ กกต.”

สนช. ยืนยันจะเซตซีโร่คณะกรรมการชุดเก่าและเข้าสู่กระบวนการสรรหาชุดใหม่ทั้งหมด เมื่อตัดสินใจเช่นนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคำถามจากสังคมว่า ท่านเอาเหตุผลอะไรมากำหนดหลักเกณฑ์เช่นนั้น เพราะถ้ามีความประสงค์จะเซตซีโร่คณะกรรมการองค์กรอิสระทั้งหมดและเริ่มที่ กกต. ก่อน ย่อมถือว่าเป็นเรื่องปรกติ แต่พอมีข่าวว่า สนช. ตั้งใจจะเซตซีโร่เฉพาะ กกต. จึงกลายเป็นเรื่องไม่ปรกติขึ้นมาทันที

เรื่องที่นำมาบ่นในสัปดาห์นี้มีความชัดเจนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องเซตซีโร่ กกต. ซึ่งมีคนออกมาแสดงความเห็นไว้ไม่น้อยว่า กกต. ทุกคนต้องถูกเซตซีโร่อย่างแน่นอน เพราะ คสช. ไม่ได้เป็นคนแต่งตั้ง

จะจริงหรือไม่คงไม่มีใครทราบ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาแบบนี้ย่อมต้องถูกครหาว่าอาจมี “ธง” และใช้วิธีการ “เลือกปฏิบัติ” ซึ่งอาจเข้าข่าย “ไม่เท่าเทียม” แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทำเช่นนี้แล้ว “ประชาชนได้อะไร” เพราะเห็นว่าคนที่ได้ประโยชน์มีแต่ “พวกหน้าเดิม” เท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login