วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

อย่ามาตู่ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On June 12, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

เสียงระเบิดกลางกรุงเทพฯช่วง 2 เดือน ยังไม่มีคำตอบว่ากลุ่มใดเป็นผู้กระทำ ขณะที่คำถาม 4 ข้อของ “ทั่นผู้นำ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง “ธรรมาภิบาล” ของนักการเมือง ยังไม่ทันที่ประชาชนจะตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรมที่กระทรวงมหาดไทยจะเป็นแม่งานใหญ่ ปรากฏว่าฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชน ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามกลับ พล.อ.ประยุทธ์ถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการตั้งคำถาม โดยเฉพาะเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ว่าควรถามรัฐบาลทหารและ คสช. เองมากกว่าหรือไม่

ธรรมาภิบาลของ คสช.

ไม่ใช่แค่ผลงาน 3 ปีของรัฐบาลทหารและ คสช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เสียของ-เสียเปล่า” เท่านั้น แม้แต่เรื่อง “ธรรมาภิบาล” และการปราบทุจริตคอร์รัปชันที่รัฐบาลทหารและ คสช. อ้างว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงก็มีคำถามและข้อกังขามากมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพที่เป็นข่าวฉาวแล้วก็เงียบหายไปในแดนสนธยา “เขตทหาร-ห้ามเข้า”

ล่าสุดสำนักข่าวบีบีซีไทยได้เผยแพร่การตรวจสอบรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งชุดก่อนที่ คสช. จะเข้ามาจากรายงานประจำปี 2556 ของทุกรัฐวิสาหกิจกับชุดปัจจุบันผ่านรายงานประจำปี 2559 หรือเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจ ปรากฏว่ามีรายชื่อทหารเข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 คนใน 24 แห่ง เป็น 80 คนใน 40 แห่ง หรือเกือบ 1 เท่าตัว และจำนวนรัฐวิสาหกิจที่มี “ประธานบอร์ด” เป็นทหาร ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้วเพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง หรือมากกว่า 5 เท่าตัว

นอกจากนี้ยังมีทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง บางคนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องจริยธรรมและประสิทธิภาพในการทำงานที่ต้องทำงานหลายแห่งในเวลาเดียวกัน

รัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งจาก 15 กระทรวง มีสินทรัพย์รวมกัน 14 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ต่อปีถึง 4.3 ล้านล้านบาท เป็นกำไรสุทธิถึง 190,000 ล้านบาท ทำให้ถูกมองว่าเป็น “ไข่ทองคำ” ที่ผู้มีอำนาจพยายามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าในยุคพลเรือนหรือทหาร ที่ผ่านมานักการเมืองมักตกเป็นจำเลยว่าเอาคนของตัวเองที่ไม่มีความเหมาะสมเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทำให้บริหารงานไม่มีประสิทธิภาพและขาดทุนซ้ำซาก ไปจนถึงข้อครหาเรื่องทุจริต ขณะที่ คสช. ประกาศว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วน โดยออกคำสั่งที่ 75/2557 ตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานผ่าตัดรัฐวิสาหกิจด้วยตัวเอง แต่ 3 ปีที่ผ่านมาก็มีคำถามว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไปถึงไหนแล้ว เพราะวันนี้ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจนนอกจากทหารมากมายที่เข้าไปอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

ล้างบาง กกต. กับ 4 คำถาม “ลุงตู่”

รายงานของบีบีซีไทยทำให้หลายคนต้องตั้งสติฉุกคิดและตั้งคำถามเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ของรัฐบาลทหารว่าแตกต่างอย่างไรกับยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่นักการเมืองไปเป็นประธานหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่เรื่อง “ธรรมาภิบาล” เป็นคำถามสำคัญใน 4 ข้อที่ พล.อ.ประยุทธ์ถามประชาชน ทำให้เกิดปฏิกิริยาตามมามากมายทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและเห็นต่าง

ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคือเรื่องโรดแม็พการเลือกตั้งและการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นจังหวะที่ สนช. เห็นชอบให้ “เซตซีโร่” คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยกชุด จนหลายฝ่ายมองว่ามีแนวโน้มสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเลื่อนโรดแม็พการเลือกตั้งออกไปจากเดิมอีก เพราะ 4 คำถามพุ่งเป้าไปที่การเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. คือกลไกสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง

เมื่อมีการล้างบาง กกต. ยกชุดก็มีคำถามถึง “กฎหมายลูก” หรือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งให้ สนช. ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทั้ง กรธ. และ สนช. ก็คือส่วนหนึ่งของ คสช. หรือ “แม่น้ำ 5 สาย” ที่ต้อง “ตามใจแป๊ะ” ซึ่งกฎหมายลูกกำหนดเวลาให้ต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากไม่แล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็บัญญัติไว้ว่า กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ต้องเสร็จภายใน 240 วัน หลังประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

กรธ. ส่งกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ให้ สนช. เมื่อวันที่ 18 เมษายน ตามกำหนดต้องเรียบร้อยภายในวันที่ 18 มิถุนายน ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน นอกจากนี้ในขั้นกรรมาธิการของ สนช. ยังมีข่าวว่ามีแนวโน้มต้องตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม” หรือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งจะเกินวันที่ 18 มิถุนายนแน่นอน การเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนออกไปอีกใช่หรือไม่ การล้างบาง กกต. จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ใช่เหตุบังเอิญ เช่นเดียวกับการเลื่อนโรดแม็พการเลือกตั้ง หากไม่มี “ธง” ก็ไม่มีการขานรับจาก สนช. และ กรธ. ที่ล้วนเป็นแขนขาของ คสช. ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นการเตะถ่วงหรือไม่ก็ตาม แต่กระบวนการเหล่านี้ย่อมอยู่ในความคาดหมายของคอการเมืองตั้งแต่ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เมื่อเห็น 4 คำถามแปลกๆออกมาจากปาก “ทั่นผู้นำ” จึงเริ่มมีคนสงสัย เพราะเสียงขานรับมีแนวโน้มเด่นชัดยิ่งว่าอาจไม่มีการเลือกตั้งตาม “โรดแม็พ” ก็ได้

พลันที่เกิดอาการไม่ปรกติสุขใน สนช. ความสงสัยว่าจะมีการเตะถ่วงและเลื่อนโรดแม็พการเลือกตั้งออกไปหรือไม่จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นจนนำไปสู่คำถามข้อที่ 5 ว่า “ใครไม่อยากเลือกตั้ง-ยกมือขึ้น?”

“สุขุม” ฟันธงปี 2561 ไม่มีเลือกตั้ง

นายสุขุม นวลสกุล นักวิเคราะห์การเมืองและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เชื่อว่าการตั้ง 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะ “ชี้นำ” ให้ประชาชนฝังใจกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ทั้งยกคำกล่าวของอดีตนักการเมืองท่านหนึ่งที่กล่าวว่า “ในทางการเมืองนั้น คำว่าเป็นไปไม่ได้-ไม่มี” เหมือนที่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้ 4 พรรคการเมืองรวมกันเพื่อสู้กับระบบแต่งตั้งของทหาร ใครจะไปเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

นายสุขุมยังมองว่า หากรัฐบาล คสช. อยากเลื่อนเลือกตั้งก็ทำได้ไม่ยาก แค่ขยับโรดแม็พเท่านั้น ขยายกรอบออกไป เพราะไม่ได้กำหนดตายตัว หากรัฐบาลต้องการอยู่ยาวก็ไม่ต้องตั้งคำถาม ที่สำคัญทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็พูดหาเสียงอยู่คนเดียว และสารพัดโพลที่ออกมาเกินครึ่งก็สนับสนุนทั้งนั้น

นายสุขุมมองว่า 4 คำถามคือความต้องการสื่อสารให้ประชาชน หรือเป็นการเตือนสติ (แนวขู่) ว่าถ้าไม่ต้องการเหตุการณ์แบบในอดีต ประชาชนควรคิดก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้ง เหมือนขู่ให้กลัวว่าถ้าเลือกแบบเดิม คนเดิม บ้านเมืองจะมีสภาพเหมือนช่วงก่อนยึดอำนาจ จึงมองว่าลึกๆแล้วคงต้องการเปิดช่องให้พรรคใหม่เข้ามามีพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่จะเป็นอีกเหตุผลสำคัญของการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารจะรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกว่านี้ เวลาหาเสียงของพรรคการเมืองจะได้ไม่ถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลว่าทำเศรษฐกิจพัง เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเลยปี 2561 ออกไป ส่วนจะเมื่อไรนั้นไม่สามารถตอบได้

ปลุกผี “ระบอบทักษิณ” (อีกครั้ง)

แม้ประเด็นกระแสข่าวการเลื่อนการเลือกตั้งจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ก็ออกมาประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้ง แต่ก็อยากให้ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” คือไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งตามโรดแม็พที่ประกาศไว้ เช่นเดียวกับพุทธะอิสระ (พระสุวิทย์) ที่ออกมาสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะปฏิรูปประเทศเสร็จ

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอสูตรจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่า โมเดลของตนใครจะด่าก็ช่าง แต่วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นเอกภาพมากกว่านี้ ปัญหาภายในกับ กปปส. ต้องไม่ทะเลาะกันเอง รวมถึงต้องไม่ทะเลาะกับทหาร ต้องแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ร่วมกันต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ” ให้ได้ ถ้า 3 ฝ่ายเเตกคอกันเมื่อไรจะไม่มีใครคัดง้างเขาได้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องรวมเป็นหนึ่งให้ได้ก่อน โดย 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพวก เป็นแกนนำในสภาสูง 2.นายสุเทพสู้ภาคประชาชน 3.พล.อ.ประยุทธ์ดูแลเรื่องความมั่นคง

ถ้าทั้ง 3 ส่วนจับมือเป็นหนึ่งจะต่อสู้กับระบอบทักษิณในระยะเปลี่ยนผ่านได้ ถ้าต่างคนต่างแยกกันเดิน แยกกันตี เชื่อว่าจะพ่ายแพ้ และยิ่งพรรคประชาธิปัตย์แตกแยกกันเองจะยิ่งไปกันใหญ่ จะพ่ายแพ้ย่อยยับแน่ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายทักษิณ 3 ปีในอายุ คสช. มานี้แตกแยก แตกพรรค อ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปมาก คนที่ออกมาถล่มด่ารัฐบาลเป็นพวกสร้างราคาให้ตัวเองเท่านั้น แต่ลึกๆเนื้อในไม่มีแรงมาต่อสู้อะไรใครได้แล้ว

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. ย้ำจุดยืนว่า พรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ต่อต้านระบอบทักษิณเหมือนกัน ส่วน คสช. คิดอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถตอบแทนได้ ส่วนตัวเห็นด้วยหากจะมีการรวมกันสู้กับระบอบทักษิณ รู้สึกมั่นใจว่าการเดินหน้าสู้กับระบอบทักษิณเป็นไปด้วยความสามัคคีกลมเกลียว มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในพรรค ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะลูกพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สถานการณ์ในอนาคตหลังผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว นอกจาก ส.ส. ยังมีเงื่อนไข ส.ว. ที่มีส่วนร่วมในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จึงไม่อาจรู้ได้ว่าเกมการเมืองในขณะนั้นจะมีการเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ เมื่อถึงเวลานั้นพรรคต้องมีการประชุมใหญ่อีกครั้ง

โพลโหวตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ” ทิ้งห่าง “ลุงตู่-อภิสิทธิ์”

มีคำถามว่าทำไมจึงมีการปลุกผี “ระบอบทักษิณ” ขึ้นมาอีก ทั้งที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ประกาศแล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก แม้พรรคเพื่อไทยจะยังมีบทบาททางการเมือง แต่ภายใต้กฎกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคเพื่อไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีก นอกจากจะเกิดปาฏิหาริย์ประชาชนเทคะแนนให้ชนะอย่างถล่มทลายเกิน 80% ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน

แต่สัญญาณทางการเมืองที่ร้อนระอุพร้อมๆกับเสียงระเบิดที่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทหารและ คสช. นั้น กลับมีโพลที่ตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ YouLike (คลิปเด็ด) ซึ่งมียอดผู้ติดตาม 13 ล้านคน (วันที่ 29 พฤษภาคม) ได้แชร์โพสต์ตั้งคำถาม “ถ้าประเทศนี้ไม่มีตระกูลชินวัตร คุณจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี?” โดยมีตัวเลือก 4 ตัวเลือกคือ พล.อ.ประยุทธ์ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และไม่เลือกใครเลย ผ่านไปประมาณ 5 ชั่วโมง มีผู้โหวตประมาณ 116,000 โหวต โดยโหวตไม่เลือกใครเลย 92,000 โหวต ตามด้วย พล.อ.ประยุทธ์ 14,000 โหวต นายอภิสิทธิ์ 5,200 โหวต และนายสุเทพได้เพียง 1,800 โหวต

จากนั้นวันที่ 3 มิถุนายน เฟซบุ๊คแฟนเพจ Low Love ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 900,000 คน ได้เปิดโหวตเช่นกัน แต่มีตัวเลือกเพิ่มเติมคือ อดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งการโหวตมีการแสดงผลโดยการถ่ายทอดสดประมาณ 2 ชั่วโมง ปรากฏว่ามีผู้รับชมการโหวตครั้งนี้ถึง 655K (655,000) ครั้ง โดยโหวตให้อดีตนายกฯทักษิณถึง 34,595 โหวต พล.อ.ประยุทธ์ 15,940 โหวต นายอภิสิทธิ์ 1,769 โหวต และนายสุเทพเพียง 771 โหวต
ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน หลังจากผ่านมา 18 ชั่วโมง มีผู้โหวตในโพสต์ดังกล่าวเพิ่มเติม โดยอดีตนายกฯทักษิณได้เพิ่มเป็น 46K พล.อ.ประยุทธ์ได้ 20K ขณะที่นายอภิสิทธิ์ได้ 2.4K และนายสุเทพได้ 1K

อย่ามาตู่

แม้การจุดประเด็นของนายพิชัยให้ 4 พรรคการเมืองร่วมกันต่อสู้กับระบบแต่งตั้งซึ่งก็คือ “พรรคทหาร” หรือ “พรรคนอมินี” ของระบอบพิสดารนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ รวมถึงผลโพล (ที่ไม่ใช่โพลจัดตั้ง) ยังต้องการให้อดีตนายกฯทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่อย่างน้อยก็สะท้อนถึงรัฐบาลทหารและ คสช. ว่ากำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” จริงๆ

จึงไม่แปลกที่บรรดากลุ่มเกลียด “ระบอบทักษิณ” ทั้งสลิ่มและนกหวีด ต่างแห่กันออกมาปลุกผี “ระบอบทักษิณ” เพื่อสร้างเงื่อนไขทางการเมืองด้วยการปลุกกระแสต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่วันนี้อดีตแกนนำ กปปส. ต่างพาเหรดเข้าเป็นสมาชิกพรรคตามเดิมแล้วนั้นจะยืนเคียงข้างฝ่ายใด เหมือนการฉายภาพในอดีตที่นายสุเทพสวมกอดกับนายอภิสิทธิ์ก่อนจะเกิดการรัฐประหารของ คสช.

การเมืองที่มีความเป็นไปได้จึงไม่ใช่ 4 พรรคใหญ่ผนึกกำลังกัน แต่จะเป็น “3 ประสาน” ระหว่างประชาธิปัตย์ กปปส. และ คสช. พร้อมด้วยพรรคนอมินีอีกหลายพรรค ซึ่งทั้งหมดจะเห็นชัดเจนหลังมีการเลือกตั้ง อย่างที่นายวันชัยบอกว่านายอภิสิทธิ์และพวกจะเป็นแกนนำในสภาสูง นายสุเทพปักหลักสู้ภาคประชาชน และ พล.อ.ประยุทธ์ดูแลเรื่องความมั่นคง โดยผี “ทักษิณ” และ “ระบอบทักษิณ” คือเงื่อนไขสำคัญในระยะเปลี่ยนผ่านจาก “ระบอบเผด็จการทหาร” สู่ “ระบอบพิสดาร”

การเมืองไทยจึงยังจมปลักกับ “วงจรอุบาทว์” และเงื่อนไขเดิม วาทกรรมคนดีและคนโกง พร้อมๆกับการสร้างความฝันและความหวัง “ปฏิรูปประเทศ” และ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” แต่…

อย่ามาตู่ว่า วันนี้เศรษฐกิจดี๊ดี

อย่ามาตู่ว่า คนไทยยังไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย

อย่ามาตู่ว่า คนไทยยังโง่จนเจ็บ เพราะ 15 ล้านเสียง ไม่มีคุณภาพเท่า 300,000 เสียง

อย่ามาตู่ว่า 1 สิทธิ 1 เสียง ยังใช้กับคนไทยไม่ได้ คนไทยยังไม่พร้อมจะเลือกตั้ง

อย่ามาตู่ว่า คนไทยเป็นคนเชื่อง่าย ลืมง่าย

อย่ามาตู่ว่า มีแต่นักการเมือง (จากการเลือกตั้งเท่านั้น) ที่โคตรโกงและไม่มีธรรมาภิบาล

อย่ามาตู่ว่า มี คสช. วันนี้เพราะไม่มีใครดีกว่านี้แล้วที่จะมาบริหารบ้านเมือง

อย่ามาตู่ว่า คนไทยกำลังได้รับการ “คืนความสุข” อย่างถ้วนหน้า

อย่ามาตู่ว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ได้ผ่านรัฐสภาที่มาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่

อย่ามาตู่ว่า คนไทยส่วนใหญ่อยากให้ “ทั่นผู้นำ” บริหารประเทศต่อไปนานๆโดยไม่ต้องรีบเลือกตั้ง

อย่ามาตู่ว่า “ระบอบทักษิณ” กำลังจะกลับมาถ้าไม่เลือกพรรคตรงข้าม

…ให้คนไทยเขาคิดเองบ้างเถิดนะ.. อย่ามาตู่ อย่ามาตู่!!


You must be logged in to post a comment Login