วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจยุครัฐราชการ? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On June 8, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ทำไมใครๆถึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจไทย “ตกต่ำ” กันอย่างกว้างขวาง ไปที่ไหนก็มีแต่ “คนบ่นคนด่า” เรื่องนี้คงไม่มีใครสงสัย เพราะการพูดความจริงเรื่อง “ความล้มเหลว” ของ คสช. ในการบริหารเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทุกคนสัมผัสได้จากชีวิตประจำวัน และการบ่นเรื่องดังกล่าวออกมาดังๆก็ปลอดภัยกว่าการพูดเรื่องการเมืองที่ทุกคนจำเป็นต้อง “ปิดปาก” จึงไม่แปลกที่วันนี้ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือยาจกทุกคนต่างบ่นเหมือนกันว่าเงินในกระเป๋าลดลงไปมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินหายไปก็คือรายได้ที่ “ลดลง” นั่นเอง จากสถานภาพของประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การทำธุรกิจในทุกภาคส่วนประสบความฝืดเคือง ดังนั้น คนส่วนใหญ่ของประเทศจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รายได้ที่ลดลงแต่รายจ่ายยังเท่าเดิมหรือไม่มากขึ้นย่อมส่งผลให้ปัญหาอื่นๆตามมาอีก “เพียบ”

จากตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ที่พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด สะท้อนให้เห็นว่ารายได้ของคนส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่ารายจ่าย เรื่องนี้พิสูจน์ไม่ยาก เพราะรายได้หลักของประเทศจากการส่งออก การบริการ และการท่องเที่ยว ต่างอยู่ในช่วงขาลงทั้งสิ้น ดังนั้น รายได้ของแรงงานย่อมตกลงไปด้วย

ยิ่งภาคการเกษตรยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมาตรการช่วยเหลือต่างๆในอดีตถูกระงับยับยั้ง หรือลดเพดานการสนับสนุนลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่จึงอยู่ในสภาพแร้นแค้น หมดทางสู้ เพราะขาดทั้งโอกาสและทุนในการทำมาหากิน แม้ว่าทุกคนจะพยายามต่อสู้ดิ้นรนชีวิตไปวันๆเพื่อรอให้ถึงวันที่ดีกว่า แต่พอ 3 ปี คสช. ผ่านไปก็ต้องยอมรับว่า “ชนชั้นกลางลงล่าง” ต่างหายใจพะงาบๆรอวันตายด้วยกันทั้งสิ้น

มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการก็ไม่ดีมากกว่ากันเท่าไร เมื่อปลาใหญ่เริ่มหาปลาเล็กกินได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆก็จำเป็นต้องไปหากินที่อื่น ดังจะเห็นได้จากยอดเงินลงทุนในประเทศที่หดหายไปหลายเท่า ส่วนปลาต่างชาติที่เคยว่ายเข้ามาหากินในน่านน้ำไทยยิ่งไม่ต้องพูดถึง วันนี้ว่ายหนีไปลงทุนในประเทศอื่นๆกันหมด โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในอาเซียน สภาพเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยประสบกับ “วิกฤตเศรษฐกิจ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้อ่านหลายท่านถามผมว่าเมื่อประชาชนเดือดร้อนเรื่องรายได้กันทั่วประเทศเช่นนี้ ทำไมจึงไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลออกมาแก้ไข หรือบางท่านก็ถามว่ารัฐบาลออกมาตีฆ้องร้องป่าวว่าเศรษฐกิจดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทำไมสภาพที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่กลับยิ่งจนลงเรื่อยๆ จริงๆแล้วทั้ง 2 คำถามนี้เป็นเหตุเป็นผลกันพอดี เพราะหากรัฐบาลเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในขาขึ้นย่อมไม่สนใจรับฟังปัญหาข้อเท็จจริงจากประชาชนที่เดือดร้อน ดังนั้น การที่รัฐจะออกมาตรการใดๆมาช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องยาก

ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจแบบ คสช. ที่นักวิชาการขนานนามว่า “รัฐราชการ” ก็ยิ่งมีบริบทที่ชัดเจนในวิธีบริหาร เพราะกลไกที่ใช้ขับเคลื่อนหลักเพียงอย่างเดียวคือกระทรวง ทบวง กรมต่างๆที่มี “ข้าราชการ” เป็นผู้รับผิดชอบ กลไกนี้มี “จุดอ่อน” เหมือนที่เราคุ้นเคยในอดีต เพราะปราศจากช่องทางในการเชื่อมโยงกับประชาชน

ดังนั้น เมื่อวงจรการเชื่อมต่อที่เคยใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ “นายกฯทักษิณ” ปรับปรุงระบบราชการถูกอิทธิพลจากการรัฐประหารจนต้องยกเลิกไป การขับเคลื่อนประเทศเพื่อพี่น้องประชาชนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้ จึงส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ “วังเวง” มาจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ที่อาศัยในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นผลกระทบที่ประสบกับตัวเองและครอบครัว เมื่อรัฐบาลนำตัวเลขที่เกี่ยวข้องมาอธิบายและชี้แจงว่า “เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น” และ “ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข” จึงเป็นคำชี้แจงที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง แต่เป็นการยากที่คนธรรมดาทั่วไปจะเถียงหรือแสดงความเห็นกับตัวเลขสำคัญเหล่านั้น

เรื่องจริงข้อนี้จึงเป็นปัญหา “น้ำท่วมปาก” ที่คนทั่วไปอยากพูดแต่พูดได้ไม่ถนัด จนผู้อ่านบางท่านถามผมว่า ตัวเลขยุ่งยากมากมายเหล่านี้จะอธิบายให้ท่านผู้นำสูงสุดและรัฐบาลของท่านฟังได้ยังไงว่าแท้ที่จริงประชาชนจะอดตายกันอยู่แล้ว ผมจึงอยากเรียนว่าอย่าไปหลงกลเรื่องตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์เด็ดขาด เพราะตัวเลขต่างๆมีมากมาย แม้จะเข้าใจได้ไม่ยากถ้าพยายามทำความเข้าใจจริงๆ แต่ก็เป็นการลำบากสำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษามาทางนี้ ผมแนะนำให้เราใช้ตัวเลขที่ชาวบ้านคุ้นเคยมาอธิบายจะดีกว่า

ดัชนีข้อแรกคือ “กำลังซื้อ” ถ้าปัจจุบันท่านและเพื่อนฝูงต้องกระเหม็ดกระแหม่ ใช้สตางค์แต่ละครั้งต้องคิดแล้วคิดอีก จะจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ต้องระมัดระวังและซื้อของเฉพาะที่มีความจำเป็น ถ้าท่านมีอาการเช่นนี้คงไม่ต้องสนใจตัวเลขที่รัฐบาลนำมาโฆษณาแล้ว เพราะถ้าเศรษฐกิจดีอาการเช่นนี้จะไม่เกิดกับเราท่านอย่างแน่นอน

ดัชนีข้อต่อไปคือ “ยอดขาย” ถ้าท่านเป็นนักธุรกิจพันล้านไปจนถึงแม่ค้าขายลูกชิ้นที่ตลาดนัด ถ้ายอดขายพร้อมใจกันตกลงไปเรื่อยๆ เหตุการณ์แบบนี้ย่อมสะท้อนสภาพเศรษฐกิจ “ขาลง” อย่างแน่นอน เพราะการที่ยอดขายต่ำลงมาจากเดิมย่อมสะท้อนภาพของ “กำลังซื้อ” ที่ถดถอยนั่นเอง

แต่ดัชนีชาวบ้านทั้ง 2 ข้อยังไม่ชัดเจนเท่าดัชนีตัวสุดท้ายที่ผมกำลังจะพูดถึง นั่นคือเรื่องของ “หนี้ครัวเรือน” เมื่อไรที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง สวนทางกับการ “กู้หนี้ยืมสิน” จากแหล่งเงินต่างๆที่มีเพิ่มขึ้น ถ้าเจอกับสภาพเช่นนี้ต้องบอกว่า “แย่แล้ว” ถ้าท่านผู้อ่านและพรรคพวกเพื่อนฝูงต้องตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันในการแบกภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นก็ต้องบอกว่าประเทศชาติกำลังจะ “เจ๊ง” แล้วครับพี่น้อง

ผมเคยเขียนเตือนเรื่องเศรษฐกิจ “ถดถอย” เอาไว้ในคอลัมน์นี้อยู่เป็นระยะๆ แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมาเยือนในเวลาอันรวดเร็วขนาดนี้ ต่อจากนี้ไปพวกเราทุกคนไม่ว่าจะ “ยากดีมีจน” แค่ไหนก็ตาม หากยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับผลลัพธ์ของเศรษฐกิจตกต่ำให้ดี เพราะจะไม่มีเพียงตัวเลข “สีแดง” ในบัญชีเท่านั้น แต่อาชญากรรม “ลักวิ่งชิงปล้น” และอบายมุขต่างๆจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบได้กับทุกคน ไม่ว่าท่านจะเป็นใครก็ตามก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านครับ


You must be logged in to post a comment Login