วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

รู้อย่างนี้? / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On June 5, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

เกิดอาฟเตอร์ช็อกเขย่าอำนาจรัฐบาลทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้การบ้านประชาชน 4 ข้อช่วยกันตอบว่า

1.คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดย ไม่คำนึงถึงอนาคตประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่

4.คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ปรากฏว่ามีนักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และประชาชนทั่วไป ช่วยกันตอบคำถามท่านผู้นำอย่างคึกคัก

คำตอบที่ได้สามารถสะท้อนความเป็นจริงของบ้านเมืองได้อย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก ผู้คนในบ้านเมืองยังแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน คนที่ไม่ชอบรัฐบาลทหาร คสช. ต่างจัดเต็มกับการตอบคำถามของท่านผู้นำ แถมย้อนกลับในทำนองไม่กลัวรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีธรรมาภิบาล เพราะสามารถตรวจสอบได้ และไล่ออกจากอำนาจได้ตามกลไกประชาธิปไตย กลัวแต่รัฐบาลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งไม่มีธรรมาภิบาลแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีช่องทางกฎหมายไล่ออกจากอำนาจ

ส่วนคนที่นิยมชมชอบรัฐบาลทหาร คสช. ก็ส่งเสียงเชียร์ให้ท่านผู้นำเบนหางเสือเรือแป๊ะออกกลางทะเลไม่ต้องกลับเข้าฝั่ง ไม่ต้องรีบจัดเลือกตั้ง อยู่กันไปยาวๆจนกว่าจะปฏิรูปประเทศสำเร็จ จนกว่าจะไม่มีคนโกง

ประการที่สองได้เห็นการสวิงกลับทางความคิดของคนบางกลุ่มที่เคยสนับสนุนรัฐบาลทหาร คสช. ที่เริ่มไม่เห็นด้วยกับการอยู่ยาวของรัฐบาลทหาร คสช. เพราะเริ่มตระหนักถึงผลด้านลบของการมีรัฐบาลที่มีอำนาจล้นมือแต่ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างที่ควรจะเป็น

ประการที่สาม ได้เห็นปฏิกิริยาของนักการเมือง พรรคการเมืองที่เคยขยิบตาให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ นักการเมือง พรรคการเมืองที่ทำตัวเป็นน้ำ ปรับตัวได้กับทุกสภาวะ ออกมาแสดงความเห็นในทำนองไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลทหาร คสช. จะเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากโรดแม็พเดิม

ในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย

ส่วนย่อยแรกคือ กลุ่มที่เห็นว่ายิ่งรัฐบาล คสช. อยู่ยาวยิ่งทำให้พรรคตัวเองเสียเปรียบทางการเมือง ยิ่งเพิ่มคะแนนให้พรรคคู่แข่งที่แสดงออกถึงการอยู่ตรงข้ามรัฐบาลทหาร คสช. มาตลอดตั้งแต่ยึดอำนาจ

ทั้งนี้เพราะเห็นว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลทหาร คสช. เข้ามาบริหารประเทศไม่มีผลงานโดดเด่นเป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ใช้เป็นเหตุผลเข้ามายึดอำนาจอย่างการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ปราบทุจริต สร้างความปรองดอง แถมเศรษฐกิจประเทศมีปัญหาจนคนเดือดร้อนไปทั่ว

ยิ่งรัฐบาล คสช. อยู่นานยิ่งเสื่อมความนิยม และกระทบมาถึงนักการเมือง พรรคการเมืองที่แสดงออกถึงการเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล คสช. ด้วย

นักการเมือง พรรคการเมืองกลุ่มนี้ต้องการให้มีการเลือกตั้งและให้ทหารกลับเข้ากรมกอง

ขณะที่อีกส่วนย่อยหนึ่งเห็นว่าหากไม่อาจทานกระแสความต้องการของประชาชนที่อยากให้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ก็ให้คืนอำนาจตามโรดแม็พเดิม พร้อมไปสู้ในสนามเลือกตั้งเพื่อดันท่านผู้นำกลับมาเถลิงอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งไม่ว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ตามช่องรัฐธรรมนูญที่เปิดทางเอาไว้แล้ว

อย่างน้อยก็มีเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียงที่ คสช. จะเป็นผู้แต่งตั้งก่อนลงจากอำนาจตุนอยู่ในมือพร้อมโหวตเลือกท่านผู้นำกลับเข้าทำเนียบรัฐบาลอยู่แล้ว แค่หาเสียง ส.ส. มาเติม ซึ่งน่าจะหาได้ไม่ยากเมื่อดูจากองค์ประกอบหลายอย่างที่ปูทางเอาไว้

ทั้งหมดคือสิ่งที่สะท้อนออกมาหลังจากที่ท่านผู้นำโยนการบ้าน 4 ข้อให้ประชาชนตอบ

ทีนี้ย้อนมาพิจารณาความหมายระหว่างบรรทัดในคำถาม 4 ข้อของท่านผู้นำว่าสะท้อนอะไรออกมาบ้าง

หากพิจารณาจากคำถามทั้ง 4 ข้อ และคำให้สัมภาษณ์หรือคำกล่าวปาฐกถาในช่วงหลังๆของท่านผู้นำจะเห็นว่าพูดในทำนองให้ประชาชนอย่าเลือกนักการเมืองแบบเก่าที่มีวิธีคิด วิธีบริหารบ้านเมืองแบบเก่ากลับมาเข้ามามีอำนาจ

คำถามคือ นักการเมืองแบบเก่าที่มีวิธีคิด วิธีบริหารบ้านเมืองแบบเก่าในความหมายของท่านผู้นำคือใคร พรรคการเมืองไหน

แบบเก่าแบบพรรคเพื่อไทยหรือแบบเก่าแบบพรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นๆ

หากพิจารณาจากพรรคการเมืองที่มี นักเลือกตั้งที่มี เมื่อถึงเวลาสนามเลือกตั้งเปิดให้ผู้ลงสมัครแข่งขันเสนอตัวให้ประชาชนเลือกก็คงไม่พ้นนักการเมืองที่มีอยู่ ถึงจะมีหน้าใหม่เสนอตัวเข้ามาบ้างก็คงไม่มาก และเป็นเรื่องยากที่จะสู้พวกหน้าเก่าที่มีฐานเสียงในพื้นที่แน่นหนา

หากพิจารณาคำถามทั้ง 4 ข้อ จะเห็นว่าท่านผู้นำมีความกังวลต่อผลการเลือกตั้ง และไม่มีความมั่นใจในกลไกรัฐธรรมนูญ กลไกกฎหมายประกอบรัฐรรมนูญที่วางไว้ว่าจะสามารถกลั่นกรอง “คนไม่ดี” ในความคิดของท่านผู้นำให้กลับคืนสู่อำนาจได้

ไม่มั่นใจว่ากลไกต่างๆที่วางไว้จะกำจัดนักการเมืองที่ท่านผู้นำคิดว่าเป็นคนไม่ดีออกจากอำนาจได้หากชนะเลือกตั้งเข้ามาตามกติกา

ถึงตอนนี้อาจนึกเสียดายว่า “รู้อย่างนี้” สั่งยุบพรรคการเมืองทุกพรรคตั้งแต่วันแรกที่เข้ามายึดอำนาจก็คงจะดี “รู้อย่างนี้” สั่งล้างบางนักการเมืองตามที่มีคนเคยเสนอห้ามนักการเมืองเก่าที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งกลับลงสู่สนามเลือกตั้งอีกเพื่อถ่ายเลือดนักการเมืองใหม่ก็คงจะดี

ถ้าสั่งยุบพรรคการเมืองตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา

ถ้ารับข้อเสนอให้เขียนกลไกห้ามนักการเมืองเก่าลงสนามเลือกตั้ง

ก็คงไม่ต้องตั้งคำถาม 4 ข้อ ไม่ต้องพูดย้ำซ้ำๆบ่อยๆไม่ให้ประชาชนเลือกนักการเมืองกลุ่มเดิมกลับเข้ามาบริหารประเทศหลังเลือกตั้ง และอาจไม่ต้องกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการลงเล่นการเมืองไม่ว่าจะลงเลือกตั้งหรือนั่งรอบัตรเชิญเป็นนายกฯคนนอก

เพราะคำถามทั้ง 4 ข้อ และคำพูดย้ำซ้ำๆบ่อยๆ บ่งบอกถึงความวิตกกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังลงจากอำนาจอย่างชัดเจน


You must be logged in to post a comment Login