วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

ก้าวสู่พิธีกรรมเลือกตั้ง / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On April 17, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

หลังจากคณะทหารใช้อำนาจเผด็จการมาเกือบ 3 ปี ในที่สุดก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 6 เมษายน ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สื่อมวลชนหลายสำนักอธิบายว่า สังคมไทยจะเริ่มต้นนับหนึ่งไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการนับหนึ่งใหม่ครั้งที่ 9 นับตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ. 2490 และถ้าคิดว่าประเทศไทยปฏิวัติเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 การเริ่มต้นใหม่ปีนี้ก็เป็นปีที่ 85 ของระบอบรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการนับหนึ่งที่นำสังคมไทยฟื้นคืนสู่ประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือจะยิ่งทำให้การเมืองเหลวไหลยิ่งกว่าเดิม

ปัญหาประการแรกคือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะบทเฉพาะกาลกำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังอยู่ต่อไป คณะรัฐบาลเผด็จการและสภาแต่งตั้งยังอยู่จนกว่าจะมีสภาชุดใหม่และรัฐบาลใหม่ มาตรา 44 ก็ไม่ได้ยกเลิกและใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะสิ้นสภาพแล้วก็ตาม ยิ่งกระบวนการสู่การเลือกตั้งยาวนานก็ยิ่งไม่มีอะไรที่แน่นอน

ตามคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายใน 2 เดือน หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมจะใช้เวลาเพิ่มอีก 1 เดือนก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 3 เดือน จากนั้นจึงเข้าสู่การเลือกตั้งภายใน 5 เดือน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณปลายปี พ.ศ. 2561 หรือต้นปี พ.ศ. 2562 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้รับประกันชัดเจน โดยอ้างว่าไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ หมายความว่าการเลือกตั้งอาจเกิดช้ากว่านั้นก็ได้

ปัญหาต่อมาคือ รัฐธรรมนูญที่ออกแบบการเลือกตั้งโดย กรธ. ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล แต่เป็นแบบที่เรียกว่า “ระบอบไฮบริด (ลูกผสม)” หรือ “เผด็จการแฝงรูป” นั่นเอง คือเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญใน 5 ประเด็นหลักคือ

ประเด็นแรก การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน จำนวนนี้กำหนดให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมดเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง และสมัยแรก 5 ปี ส.ว. จะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด หลังจากนั้นคืออีก 7 ปีข้างหน้า จึงให้มีกระบวนการคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพ ซึ่งไม่มีใครคาดได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะยังบังคับใช้อยู่หรือไม่

ประเด็นที่สอง เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครแข่งขันต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ถ้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ให้สมาชิกสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเสนอมติยกเว้น ไม่ต้องเสนอตามบัญชีรายชื่อได้ โดยไม่ได้ระบุเลยว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องผ่านกระบวนการมาจากการเลือกตั้งหรือไม่

ประเด็นที่สาม กำหนดวิธีการเลือกตั้งอันแปลกประหลาดและสลับซับซ้อนที่เรียกว่า “ระบบสัดส่วนผสม” คือให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 250 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน แต่ให้ประชาชนกาบัตรใบเดียวคือ เลือกผู้สมัครแล้วจะส่งผลให้เลือกพรรคการเมืองที่ผู้สมัครนั้นสังกัดอยู่ไปด้วย คะแนนทั้งหมดที่ประชาชนเลือกจะนำไปคิดจำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่พรรคการเมืองควรจะได้ ระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้จะทำให้ควบคุมจำนวนที่นั่งของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง และให้สิทธิพรรคขนาดรองที่แพ้การเลือกตั้งและพรรคขนาดกลาง แต่จะทำลายพรรคการเมืองขนาดเล็ก ทำให้ ส.ส. จะประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดกลางหลายพรรคที่สอดคล้องกับการตั้งรัฐบาลผสม และให้บุคคลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือถ้าได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองก็จะได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ

ประเด็นที่สี่ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติล่วงหน้า 20 ปีไว้ในรัฐธรรมนูญ และกำหนดว่ารัฐบาลใหม่ต้องปฏิบัติตามและต้องปฏิรูปประเทศตามที่กำหนดไว้ รัฐบาลใหม่จึงมีฐานะเหมือนข้าราชการประจำ ไม่มีโอกาสกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของตนเอง

ประเด็นที่ห้า ให้อำนาจมากล้นยิ่งกว่าเดิมแก่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยอำนาจในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ยังคงอยู่ และกำหนด “มาตรฐานทางจริยธรรม” ซึ่งไม่มีชัดเจน แต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนดและตีความ ปัญหาคือที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมดไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่เอื้ออำนวยให้ฝ่ายตุลาการและข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์

กล่าวโดยสรุปจะเห็นว่า กระบวนการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลใหม่ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เคยมีการรณรงค์คัดค้านตั้งแต่การลงประชามติเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 แต่กลุ่มชนชั้นกลางและสื่อมวลชนกระแสหลักไม่ได้สนใจ กลับร่วมใจกันไปลงประชามติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญลูกผสม ยิ่งพิจารณากระบวนการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการในระยะเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าชนชั้นสูงและชนชั้นกลางไทยไม่ได้สนใจการเมืองแบบประชาธิปไตยเลย เพียงแต่รู้สึกว่าต้องมีการเลือกตั้ง ต่างประเทศจะได้เลิกต่อต้านและมีโอกสฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็วิตกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะมีอำนาจมากเกินไป จึงพอใจให้การเลือกตั้งเป็นเพียง “พิธีกรรม” ยินยอมให้ฝ่ายทหาร คณะตุลาการ และข้าราชการควบคุมอำนาจต่อไป

ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยควรจะเข้าร่วมพิธีกรรมเลือกตั้งแบบนี้หรือไม่ ซึ่งมีข้อเสนอไม่น้อยว่าควรปฏิเสธและคว่ำบาตรการเลือกตั้งแบบนี้ แต่ผู้เขียนอยากเสนอว่า เราควรเข้าร่วมโดยมีจุดยืนเหมือนครั้งรณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญคือ แสดงความเห็นคัดค้านให้มากที่สุด และเสนอนโยบายอย่างชัดเจนให้มีการแก้ไขระบอบการเมืองอย่างสันติวิธี โดยใช้การเลือกตั้งเป็นการรณรงค์ทางความคิดให้ประชาชนเห็นความอัปลักษณ์ของการเมืองไทย

ส่วนอนาคตระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คงไม่ต้องวิตกมากนัก ที่วิเคราะห์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำมาซึ่งวิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่อย่างรวดเร็ว และการกำหนดเงื่อนไขให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ยากมาก ก็จะเป็นการชักชวนให้กองทัพก่อการรัฐประหารครั้งใหม่แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อถึงเวลานั้นเราค่อยเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งสำหรับสังคมไทย


You must be logged in to post a comment Login