วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On April 10, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 เสียง หมายความว่ายังไม่มีการตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” แต่ “ซื้อเวลา” โดยใส่ไว้ในข้อสังเกต เสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการภายใน 60 วัน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาศึกษารายละเอียดรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสม กำหนดให้ทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ปัญหาที่คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้มาได้อย่างไร และ ปตท. ไม่ได้เป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของไทยหรือจึงต้องตั้งใหม่นั้น ต้องย้อนอธิบายกระบวนการกฎหมายฉบับนี้ เริ่มจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรฯและ กปปส. ที่โจมตีว่า ปตท. เป็นกิจการฝ่ายทักษิณและนายทุน ไม่ได้เป็นของประชาชนไทย โดยรสนา โตสิตระกูล ผู้นำการเคลื่อนไหวต่อต้าน ปตท. ชี้ว่า แม้ ปตท. เคยมีลักษณะเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ต่อมารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน ทำให้สถานะหมดไป เพราะเปิดโอกาสให้ต่างชาติ นายทุน และนักการเมือง เข้ามาครอบครองกรรมสิทธิ์ได้ จึงเคลื่อนไหวต่อต้านในลักษณะทวงคืนน้ำมัน ทวงคืนท่อก๊าซ ทวงคืน ปตท. จนในที่สุดกลุ่มทวงคืนพลังงานได้ตั้งองค์กรเรียกว่า “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)” ผู้ที่มีบทบาท เช่น ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เป็นต้น

ข้อเสนอที่ชัดเจนของ คปพ. คือ นำพลังงานกลับสู่ประชาชนไทยโดยตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ขึ้นมาใหม่ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ถือกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ และจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด เป็นตัวกลางให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำสัญญาเพื่อจัดการใหม่ในระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) และระบบรับจ้างผลิต (Service Contract) ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งปิโตรเลียมในทะเล

ข้อเสนอนี้เป็นการล้มเลิกระบบการให้สัมปทานแบบเดิม ซึ่งถูกมองว่าเอื้อประโยชน์นายทุนมากเกินไป ต้องให้ผลประโยชน์เป็นของประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นอย่าง ปตท. เมื่อเกิดการรัฐประหารพฤษภาคม พ.ศ. 2557 คปพ. มีความหวังว่ารัฐบาลเผด็จการทหารจะเห็นด้วยและผลักดันการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งสถานการณ์ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่สู่สภาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 แต่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช. ที่มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ได้เพิ่มมาตรา 10/1 ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในเงื่อนไข “เมื่อมีความพร้อม” ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกโจมตี วันที่ 24 มีนาคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้โจมตี ร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ว่ามีความบกพร่องถึง 10 จุด ถือเป็นกฎหมายอัปยศ เปิดช่องให้รัฐบาลวางเกณฑ์เรื่องพลังงานตามใจชอบและไม่ตั้งบรรษัทพลังงานขึ้นมารองรับ เพื่อเอื้อให้เอกชนต่อสัมปทานแหล่งบงกช-เอราวัณที่จะหมดสัมปทาน

ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม ก่อน สนช. จะลงมติเห็นชอบเพียง 3 วัน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านว่า มีกลุ่มทหารพยายามจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อดำเนินกิจการปิโตรเลียมทั้งระบบ ทั้งกำกับดูแล ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และจัดจำหน่าย ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการสอดไส้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้รองรับ โดยจะเสนอให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในระยะเริ่มต้น และเมื่อตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก็จะควบคุมกรรมสิทธิ์พลังงานทุกชนิด สร้างความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท. และหาก ปตท. ประสบปัญหาจะกระทบวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

ฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธทันทีว่าทหารไม่มีแผนจะฮุบกิจการพลังงานไว้ ขณะที่ คปพ. ก็เรียกร้องให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยทันที เมื่อมีการลงมติเลื่อนการพิจารณาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำกลุ่ม คปพ. ก็ชี้ว่า มติดังกล่าวถือว่าเป็นการ “ถอดเครื่องยนต์” กลับไปสู่สัมปทานรูปแบบเดิม การตั้งคณะกรรมการศึกษาบรรษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี ไม่ใช่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คปพ. จึงจะเคลื่อนไหวต่อไป

เรื่องนี้ต้องติดตาม แต่ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจสนับสนุน เพราะการเคลื่อนไหวเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติทั้งหมดมาจากสมมุติฐานที่ผิดในการโจมตี ปตท. เพราะ ปตท. ก็มาจากบริษัทพลังงานแห่งชาติที่นำวิธีการบริหารแบบบริษัทสมัยใหม่มาใช้เพื่อแก้ข้อบกพร่องขององค์การเชื้อเพลิงและบริษัทน้ำมันสามทหารในอดีตที่บริหารแบบระบบราชการและพัวพันการทุจริต การแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นวิธีการบริหารแบบทุนนิยมสมัยใหม่ลักษณะหนึ่ง ไม่ได้เป็นการ “ขายชาติ” หรือยกประโยชน์ให้นายทุนกลุ่มทักษิณตามที่ คปพ. พยายามโจมตี เพราะกระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้น 51% และกองทุนวายุภักดิ์ถือหุ้น 15%

นอกจากนี้การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เป็นองค์กรของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แต่ให้สิทธิผูกขาดเพียงรายเดียวในการดำเนินการเรื่องพลังงานที่มีมูลค่านับแสนล้าน จึงเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง

ประเด็นที่ต้องอธิบายอีกเรื่องคือ ความจำเป็นของประเทศที่ต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ดังที่นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงคือ ไทยยังไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะมีโครงสร้างที่รองรับ มีการแบ่งภารกิจที่ชัดเจน มีการคานอำนาจและตรวจสอบ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลภารกิจภาครัฐ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้สำรวจและผลิต มีการแข่งขันกับบริษัทอื่นอย่างเสรี ไม่ผูกขาด ขณะที่บริษัท ปตท. ในฐานะผู้ค้าก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ดังนั้น หากจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติหน่วยงานเดียวก็อาจเป็นการผูกขาด และถ้าจะให้รัฐลงทุนเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอาจเสี่ยงการสูญเสียเงินจำนวนมากถ้าไม่พบปิโตรเลียม

แม้จะมีข้อเสนอให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยต้อง “ปลอดจากทุน ปลอดจากราชการ ปลอดจากการแทรกแซงของทหาร” ซึ่งอาจฟังดูดี แต่อย่าเพิ่งรีบเชื่อ เพราะต่อให้เป็นจริงก็มีปัญหาในทางปฏิบัติว่าจะให้ใครเข้าไปทำ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อย่าไปสนับสนุนเลยครับ


You must be logged in to post a comment Login