วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์กับคาร์ล มาร์กซ์ สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On April 3, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในคอลัมน์ที่ผมเขียนประจำเป็นการถ่ายทอดความคิดและความเห็นต่างๆของ Arnold Toynbee ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากข้อเขียนในชุด A study of history ผลงานทั้งหมดที่เขียนมีจำนวน 35 บทหรือ 35 ตอน ผมจะนำมารวมเล่มให้สำนักพิมพ์สุวรรณภูมิอภิวัฒน์จัดพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คในชื่อ “an introduction of Arnold Toynbee” หรือแปลเป็นไทยคือ “เรื่องราวของ Arnold Toynbee โดยสังเขป”

ตอนนี้รู้สึกว่าอินทรีตัวเองนั้นแก่กล้าขึ้นมาเล็กน้อย ประกอบกับสังคมไทยมีปัญหาทางความคิดที่ซับซ้อนและสับสนมาก ผมจึงจะต่อยอดจาก Arnold Toynbee โดยเขียนทฤษฎีและข้อมูลประวัติศาสตร์ในแบบไทยๆขึ้นมา แต่เพื่อความสมบูรณ์และเติมเต็มก็ต้องทำงานด้วยความจริงจัง คอลัมน์นี้จึงออกจะแปลกจากชาวบ้านเล็กน้อยที่มีผู้เขียนถึง 2 คน คือผมเป็นหลัก และ companion ได้แก่ ดร.ณัฐวุฒิ วัชรกุลดิลก ซึ่งท่านสำเร็จทั้งปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และปรัชญา จึงสามารถเติมเต็มในส่วนที่ขาดตกบกพร่องของผมได้ โดยตั้งใจว่าเมื่อถึงระยะหนึ่งก็จะเอาข้อเขียนทั้งหมดรวมเล่มชื่อ “The guide of history”

สำหรับสัปดาห์นี้จะเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงทฤษฎี Marxist กับประวัติศาสตร์ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นผลงานของคาร์ล มาร์กซ์ ในชุด Das Kapital ที่กล่าวถึงเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก พูดเรื่องทุน กำไร และขาดทุน ปัจจัยการผลิตและแรงงาน ซึ่งมาร์กซ์เรียกว่าโครงสร้างชั้นล่างหรือ “โครงสร้างแข็ง” และยังพูดถึงโครงสร้างชั้นบนที่เป็นระบบความคิด วัฒนธรรม กฎหมาย หรือสิ่งต่างๆที่เป็นนามธรรม โครงสร้างชั้นบนนี้เรียกว่า “โครงสร้างอ่อน”

นอกจากนั้นมาร์กซ์ยังแบ่งช่วงเวลาของสังคมเป็นยุคต่างๆ เริ่มจากสังคมยุคบุพกาล ต่อมาเป็นยุคทาส ยุคศักดินา ยุคนายทุน จนกระทั่งชนชั้นกรรมกรที่ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐ จนเปลี่ยนมาเป็นยุคสังคมนิยม และยุคสุดท้ายที่มนุษย์สามารถทำอะไรเพื่อตัวเองและเพื่อส่วนร่วมได้ดี เรียกว่าสังคมคอมมิวนิสต์

มองตามปรัชญานี้ก็คือ ปรัชญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งไม่แตกต่างจากกฎไตรลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยอนิจจังคือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีอะไรที่คงอยู่เหมือนเดิมได้ รูปกายสังขารของคนไม่แตกต่างจากสังคมที่ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เรามักไม่ค่อยเข้าใจ ความจริงแล้วเรามักสับสนระหว่างทฤษฎีของมาร์กซ์กับประเทศที่ปกครองด้วยคอมมิวนิสต์จึงเกิดความตื่นกลัวมากเกินไป เพราะความจริงแล้วความคิดของมาร์กซ์ไม่ได้มีอิทธิพลเฉพาะลัทธิคอมมิวนิสต์เท่านั้น ยังมีอิทธิพลต่อวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมวิทยา โดยทฤษฎีมาร์กซิสต์มีอยู่หลายระดับ ทั้งพวกมาร์กซิสต์ที่เป็นซ้ายสุดขั้ว และปัจจุบันมีพวกมาร์กซิสต์ทางวัฒนธรรม หรือ Neo Marxist ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิดหลังทันสมัย

Neo Marxist ที่โดดเด่นได้แก่ อันโตนิโอ กรัมชี่ ให้ความสำคัญกับเรื่องโครงสร้างชั้นบน ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและความคิด ตลอดจนจิตวิทยาและขนบต่างๆ แต่การมองของกรัมชี่เห็นว่ามีรอยเชื่อมต่อระหว่างฝ่ายประชาสังคมและฝ่ายอำนาจรัฐที่อาจมีการต่อรองและกดดันกันด้วยสิ่งที่เรียกว่า “สงครามทางความคิด” (War of position) ซึ่งในแง่ฝ่ายรัฐแล้วเขาเห็นว่าไม่สามารถปกครองโดยใช้เพียงอำนาจกฎหมายและความรุนแรงเท่านั้น แต่จำเป็นต้องควบคุมเรื่องความคิดและจิตสำนึกด้วย

เช่นเดียวกับฝ่าย Neo Marxist มองว่าการเอาชนะด้วยอาวุธและความรุนแรงไม่ใช่ชัยชนะที่เด็ดขาด ต้องชนะโดยทางความคิด ตรงนี้แตกต่างจากพวกมาร์กซิสต์ซ้ายสุดขั้วที่เห็นว่ารัฐเป็นกลไกที่ตกค้างทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นที่กดขี่อย่างเดียว จึงจำเป็นจะต้องโค่นล้มอย่างถอนรากถอนโคน

ในความคิดของ Toynbee ยอมรับว่าการแบ่งยุคสมัยของมาร์กซ์เป็นสังคมชนเผ่า สังคมบุพกาล สังคมทาส สังคมศักดินา และสังคมนายทุน ถือว่าถูกต้องในแง่ของประวัติศาสตร์ แต่ Toynbee ไม่ยอมรับทฤษฎีวิพากษ์ประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาล้วนเกิดจากความขัดแย้งทางชนชั้น เพราะทฤษฎีของ Toynbee มองหลายเงื่อนไข แม้จะถือเรื่องวัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญก็ตาม

คำถามที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือ ปัจจุบันนี้เราเป็นสังคมอะไร? คงต้องตอบว่าเราเป็นสังคมทุนนิยม แต่ในโครงสร้างสังคมชั้นบนเรายังคงเป็นวัฒนธรรมแบบศักดินา หรือเป็นวัฒนธรรมที่เรียกว่าการเรียงตามลำดับขั้น เรื่องของความคิดตามลำดับชั้น (hierarchical) วัฒนธรรมความคิดแบบนี้ยังฝังรากในสังคมไทย โดยเฉพาะระบบบริหารแบบราชการ ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การแบ่งงานตามลำดับขั้น และจิตสำนึกแบบข้าราชการ

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ถ้าเรามีโอกาสศึกษาเอกสารที่เรียกว่า communist manifesto ผมก็ตีความว่าสังคมศักดินากับคำว่าพระมหากษัตริย์นั้นเป็นคนละเรื่องกัน ภายในสถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องมีวัฒนธรรมแบบศักดินาสวามิภักดิ์ เช่น สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่น อังกฤษ สวีเดน หรือภูฏาน ล้วนไม่มีวัฒนธรรมศักดินาสวามิภักดิ์เหลืออยู่

ระบบ feudalism หรือระบบศักดินาของยุโรปที่เคยครอบงำได้ล่มสลายไปนานแล้ว เหตุผลที่ว่าฐานของเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับชีวิตความเป็นอยู่ เห็นชัดเจนจากสังคมพระเจ้าซาร์ของโซเวียต เรื่องเหล่านี้เราอาจต้องตั้งคำถามและนิยามความหมายกันใหม่ เช่น ผู้นำเกาหลีเหนือไม่ใช่กษัตริย์ แต่อำนาจที่ใช้คือลัทธิกษัตริย์ในแบบเทวราช เทวสิทธิ์ ซึ่งเราอาจตั้งคำถามว่าระบอบประธานาธิบดีคือกษัตริย์ยุคใหม่หรือเปล่า?

ผมเห็นว่าหลายอย่างในสังคมโลกล้วนไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน เหมือนอย่างจีนทุกวันนี้ และรัสเซียก็ไม่น่าจะเป็นประเทศสังคมนิยมแล้ว กลายเป็นประเทศที่เรียกว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” หรือ State Capitalism ไปแล้ว!


You must be logged in to post a comment Login