วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

แผนผลักดัน‘MRA’สไตล์อาเซียน

On March 24, 2017

มีโครงการหนึ่งที่กลุ่มประเทศอาเซียนจัดตั้งขึ้นมา เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งยกระดับด้านการพัฒนา และผลิตผลงานมีคุณภาพสูง ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกได้

โครงการดังกล่าว ได้แก่ ข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัตินักวิชาชีพ (Mutual Recognition Arrangements : MRA)

จุดประสงค์เพื่อให้นักวิชาชีพ และผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน สามารถย้ายสถานที่ทำงานข้ามประเทศได้สะดวกภายในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

อาเซียนเริ่มจัดทำโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จากนั้น ได้รับวิชาชีพวิศวกรเข้าสู่โครงการเป็นสาขาแรกเมื่อปี 2548

ปัจจุบัน มีวิชาชีพในโครงการ 7 สาขา นอกจากวิศวกรแล้ว ยังประกอบด้วยพยาบาล (รับในปี 2549) สถาปนิก (2550) แพทย์ (2552) ทันตแพทย์ (2552) บัญชี (2552)    และนักวิชาชีพการท่องเที่ยว (2552)   

ที่ประชุมอาเซียนลงมติรับแต่ละวิชาชีพตามปีที่ระบุ ขณะประเทศสมาชิกประกาศรับรองตามที่ประชุมอาเซียน ด้วยช่วงเวลาช้าเร็วแตกต่างกันไป

หลังวิชาชีพแรกเข้าสู่โครงการผ่านไปหลายปี ทางสถาบัน Migration Policy Institute (MPI) รวมกับ Asian Development Bank (ADB) ได้ทำการสำรวจข้อมูล เพื่อตอบโจทย์ว่า “เรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว”

MPI และ ADB ดำเนินการประมวลข้อมูลเชิงลึก นำมาทำรายงานเผยแพร่ ด้วยจุดประสงค์ให้ฝ่ายเกี่ยวข้องทราบถึงความคืบหน้า รวมทั้งอุปสรรค และนำข้อมูลนี้ไปใช้แก้ปัญหา

ประเด็นที่ MPI และ ADB สรุปในภาพรวมก็คือ การเตรียมความพร้อมของแต่ละประเทศอยู่ในเกณฑ์ช้า ทำให้นักวิชาชีพแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้เลย

ในส่วนของวิศวกรเท่าที่ผ่านมา มีผู้ย้ายข้ามประเทศโดยอาศัยช่องทางนี้เพียง 7 คน แต่สถานการณ์ล่าสุดคึกคักขึ้น โดยมีวิศวกรและสถาปนิก ยื่นคำร้องขอย้ายข้ามประเทศผ่านช่องทางนี้กว่า 1,000 คน

โครงการนี้ เป็นแนวคิดก้าวหน้า และเป็นช่องทางกระจายความหลากหลายของกลไกขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกแน่นอน หากแผนงานแล้วเสร็จสมบูรณ์

แต่การผลักดันให้เป็นจริงในภาคปฏิบัติ ถือเป็นงานยาก เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยว

หลายอย่าง ส่วนหนึ่งอยู่ที่กรณีแต่ละประเทศ มีธรรมเนียมปฏิบัติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ อีกทั้งมี “ดีกรี” ด้านความใจกว้าง ยอมเปิดรับเพื่อนร่วมงานต่างชาติ อยู่ระดับต่ำ

ทำให้ MRA เป็นเส้นทางที่จุดหมายยังอยู่ห่างไกล

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังคงแสดงท่าทีให้ความสำคัญกับ MRA แม้เท่าที่ผ่านมา การเตรียมงานจะออกแนวค่อยเป็นค่อยไปในสไตล์อาเซียน

แต่ก็สอดคล้องกับหลักการที่ว่า “แม้จะถึงจุดหมายช้า ก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่ม” 


You must be logged in to post a comment Login