วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

วัดพระธรรมกายกับมาตรา 44 / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On March 6, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ในที่สุดกรณีที่รัฐบาลเผด็จการทหารดำเนินการกวาดล้างวัดพระธรรมกายก็นำมาสู่การเสียชีวิต เมื่อค่ำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ อายุ 64 ปี สวมชุดดำ ได้ปีนยอดเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่ชุมสายโทรศัพท์คลองหลวงพร้อมป้ายข้อความว่า “ขอความกรุณายกเลิกมาตรา 44 หากไม่ทำก่อนเวลา 21.00 น. เก็บศพได้เลย” ทั้งเขียนว่า “พระ เณร คนแก่ ถูกข่มเหงรังแกด้วยวิธีต่างๆนานา สังคมปัจจุบันคนดีอยู่ยาก” ในที่สุดชายผู้นี้ก็ผูกคอกับเสาส่งสัญญาณแล้วห้อยร่างลงมาเสียชีวิต

ตามประวัติทราบว่าเป็นผู้ศรัทธาแนวทางธรรมกาย เคยบวชเณรที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และทำบุญที่วัดพระธรรมกาย วันต่อมาวัดพระธรรมกายได้ประกาศสดุดียกย่องนายอนวัชและขอให้ศิษย์ร่วมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต แม้จะเกิดกรณีเช่นนี้ฝ่ายรัฐบาลทหารก็ยังไม่ยอมยกเลิกมาตรา 44 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ำว่าที่ต้องใช้กฎหมายนี้ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย เพราะที่ผ่านมากฎหมายปรกติใช้ไม่ได้

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ได้ตั้งคำถามทักท้วงว่า การใช้มาตรา 44 จัดการกับวัดพระธรรมกายจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ แม้เจ้าหน้าที่อ้างว่าคือการรักษากฎหมาย แต่หลักสากลอำนาจเบ็ดเสร็จแบบมาตรา 44 ไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย การรักษากฎหมายโดยสิ่งที่ไม่ใช่กฎหมายจะให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องไม่ได้

จะเห็นได้ว่าปัญหาสำคัญคือการนำเอากฎหมายมาตรา 44 มาเป็นเครื่องมือจะถือว่าเป็นเรื่องตามหลักกฎหมายหรือไม่ จึงน่าจะลองมาทำความรู้จักกับมาตรา 44 ให้ชัดเจนมากขึ้น

มาตรา 44 ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งมาจากการรัฐประหารของ คสช. โดยมีใจความว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด”

รัฐบาลเผด็จการทหารได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา หลังจากที่ คสช. ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งความจริงแล้วมาตรา 44 ให้ขอบเขตการใช้อำนาจแก่รัฐบาล คสช. มากกว่ากฎอัยการศึกด้วยซ้ำ เพราะกฎอัยการศึกเน้นให้อำนาจแก่ทหาร แต่มาตรา 44 ให้อำนาจสูงสุดแก่ผู้ประกาศใช้ครอบคลุมทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

ตามข้อบัญญัติของมาตรา 44 ให้อำนาจข้าราชการทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองได้ในคราวเดียวกัน มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการกระทำทั้งหมดไม่ว่าจะดำเนินการเช่นไรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและไม่ต้องรับโทษใดเลยทั้งทางแพ่งและอาญา ผู้ได้รับความเสียหายจะดำเนินคดีโดยศาลปกครองก็ไม่ได้ และยังระบุว่า คสช. มีอำนาจออกคำสั่งห้ามสื่อนำเสนอข่าวอะไรก็ตามที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย

ดังนั้น จะเห็นว่ามาตรา 44 ไม่มีฐานะเป็นกฎหมาย เพราะไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจจากการให้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบครอบจักรวาลของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ ข้อบัญญัติไม่มีการผ่านการพิจารณาของรัฐสภาใด ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายมาตรานี้ก็ไม่มีสิทธิต่อสู้ในทางการศาล รัฐบาลทหารจึงสามารถเล่นงานใครก็ได้ตามอำเภอใจและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

ในกรณีวัดพระธรรมกายเริ่มต้นจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งข้อหาดำเนินคดีต่อพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร แต่ฝ่ายวัดพระธรรมกายเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งอย่างไม่มีเหตุผล พระธัมมชโยจึงไม่ยอมเข้ามอบตัว หลังจากนั้นดีเอสไอก็ตั้งข้อหาเพิ่มอีกกว่า 300 ข้อหา เมื่อพระธัมมชโยไม่ยอมมอบตัวก็หาเหตุดำเนินคดีพระรูปอื่นในวัดด้วยข้อหาให้ที่พักพิงแก่พระธัมมชโย จากนั้นรัฐบาล คสช. ได้ประกาศใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ แล้วระดมกำลังทหาร ตำรวจ บุกวัดพระธรรมกาย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่พบตัวพระธัมมชโย แม้กระนั้นรัฐบาลก็ยังคงใช้กำลังทหาร ตำรวจ ควบคุมวัดต่อไปโดยไม่นำพาต่อเสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นทั่วโลก

มีการวิจารณ์ว่าปฏิบัติการของรัฐบาลทหารต่อวัดพระธรรมกายเป็นปฏิบัติการที่เกินกว่าเหตุ เพราะต่อให้พระธัมมชโยมีความผิดตามที่ดีเอสไอกล่าวหาก็ไม่มีเหตุที่จะใช้อำนาจจัดการวัดพระธรรมกายทั้งหมดในลักษณะเช่นนี้ เพราะกระทบกับพระภิกษุ ศิษย์วัด ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงประชาชนที่อยู่รอบวัดได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่อยู่ในกระบวนการกล่าวหาเรื่องความผิด

นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐจะต้องเคารพในหลักแห่งความเชื่อหรือศรัทธาที่แตกต่างกัน การใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการเรื่องความคิดความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

ผลที่ตามมาจากกรณีนี้คือ รอยร้าวที่ยิ่งรุนแรงมากขึ้น และยังสะท้อนว่าการปรองดองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารคงจะเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะไม่ว่าจะใช้อำนาจรัฐเล่นงานอย่างไรก็ไม่อาจทำให้แนวทางของวัดพระธรรมกายล่มสลายไปได้ แต่กลับกลายเป็นว่าการสมานฉันท์กับฝ่ายที่ศรัทธาวัดพระธรรมกายคงไม่อาจเป็นไปได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมากในการตัดสินใจของฝ่ายทหาร

การใช้อำนาจรัฐเล่นงานฝ่ายศาสนาเช่นนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับฝ่ายเผด็จการทหารเลย


You must be logged in to post a comment Login