วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

การต่อสู้ 2 แนวทางในสยาม / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On March 6, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

สถานการณ์ช่วงนี้มีกรณีวัดพระธรรมกายและการประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ที่กระบี่ เวลานี้จึงไม่มีอะไรดีกว่าที่จะเขียนถึงการต่อสู้ของประชาชนที่มีมาอย่างยาวนานทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย

ในอดีตอำนาจรัฐวิตกและเกรงกลัวการต่อสู้เรื่องชนชั้น ซึ่งรู้ดีว่าขณะนั้นมีพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ทฤษฎีการต่อสู้เรื่องชนชั้นตามทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ คือเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมของฝ่ายซ้าย แต่มาในยุคปัจจุบันเหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว บางคนเชื่อว่าเรื่องคอมมิวนิสต์จบสิ้นไปแล้วในโลกหลังจากพ่ายแพ้ต่อระบอบทุนนิยมประชาธิปไตย

มีนักรัฐศาสตร์ผู้หนึ่งชื่อ Francis Fukuyama ปัจจุบันเป็นนักรัฐศาสตร์ทั่วไปที่ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อนี้ มีผลงานหนังสือที่มีชื่อเสียงมากคือ “The End of History and The Last Man” กล่าวถึงภายหลังสงครามเย็นเมื่อโซเวียตล่มสลายไปแล้ว ถือว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ได้พ่ายแพ้แล้วอย่างสิ้นเชิงต่อลัทธิทุนนิยมประชาธิปไตย ซึ่งในอีกความหมายแปลว่าลัทธิทุนนิยมประชาธิปไตยได้บรรลุอุดมคติอันสูงสุดคือมีชัยชนะเบ็ดเสร็จ ส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง

หนังสือของ Francis Fukuyama มีคำถามต่อสังคมเป็นข้อสรุปคือ เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามการแบ่งช่วงเวลาและประวัติศาสตร์ของคาร์ล มาร์กซ์ จากช่วงเวลาบุพกาลยุคสังคมชนเผ่าเปลี่ยนแปลงไปสู่ช่วงเวลาของยุคสังคมตามลำดับขั้นที่เป็นระบอบกษัตริย์จนถึงยุคนายทุนสังคมนิยม และสุดท้ายเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยี ซึ่งคาดหมายได้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยียังไม่สิ้นสุดง่ายๆ แล้วยังจะส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการของสังคมหรือประวัติศาสตร์ และจะจบสิ้นการพัฒนาของสังคมลงได้เมื่อใด?

โดยข้อเท็จจริงนั้น Francis Fukuyama ยังมองถึงทิศทางข้างหน้า โดยตั้งสมมุติฐานว่าสังคมที่ปราศจากมนุษย์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

การตั้งคำถามของ Francis Fukuyama นับเป็นเรื่องที่ต้องรับฟังและใช้วิจารณญาณพิจารณา ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะเมื่อมนุษย์ได้บรรลุจุดสูงสุดในการพัฒนาของอารยธรรมหนึ่งแล้ว อารยธรรมต่อไปของมนุษย์จะไปสู่จุดไหนอีกเมื่อถึงจุดสูงสุด หรือจะเป็นการยุติจบสิ้นเลย ?

มีบางคนเห็นว่าไม่มีอันใดสิ้นสุดลงได้หากตราบใดที่เทคโนโลยียังก้าวพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด หรือไม่อาจยุติอยู่เพียงจุดหนึ่งจุดใด ปัจจุบันนี้ยังเกิดเทคโนโลยีที่สามารถรวมศูนย์ของโลกไว้ โลกก็จะตกอยู่ใต้การรวบรัดของคนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่ง ณ จุดนี้มนุษย์ก็คล้ายกับไม่มีศาสนา ไร้ความรู้สึก ไม่รู้จักความเจ็บปวด เป็นจุดที่ Francis Fukuyama บอกว่าความเป็นมนุษย์บรรลุความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

เราไม่รู้ว่าจุดดังกล่าวนั้นได้เดินทางมาถึงแล้วหรือขยับเข้าใกล้เต็มทีแล้ว แต่แน่นอนว่าจุดดังกล่าวคงจะตัดทิ้งความเกี่ยวข้องของสื่อไปไม่ได้อย่างแน่นอน

โดยเฉพาะสื่อในปัจจุบันที่ทำให้โลกทั้งโลกกลายเป็นเพียงเกาะหรือหมู่บ้านเดียวกันเท่านั้น มนุษย์สามารถเห็นทั้งความเหมือนและความต่างของโลกได้ สื่อปัจจุบันทำให้มนุษย์ไร้เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรรมอย่างไมเคิล แจ๊กสัน หรือมาดอนน่า สามารถเชื่อมโยงคนทั้งโลกให้กลมกลืนกันได้ อาจทำภารกิจนี้ได้เกินกว่าพระเยซูซึ่งเป็นลูกของพระเจ้าเสียอีก อำนาจของสิ่งต่างๆมีมากขึ้นโดยผ่านทางสื่อ

เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดอนาคตของสังคม ดังจะเห็นได้ตั้งแต่มนุษย์สร้างขวานขึ้นมาจนถึงเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน ซึ่งมนุษย์ต้องดำรงอยู่ด้วยสื่อให้มากขึ้น มิใช่เพียงปัญญาเป็นคำตอบอย่างเดียว

การประท้วงทั้งกรณีของลูกศิษย์วัดพระธรรมกายหรือการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นคือการต่อสู้เพื่ออะไรกันแน่ เป็นการต่อสู้ที่เรียกว่า Class struggle ใช่หรือไม่

ข้อนี้ถ้าเราพิจารณาต่อยอดความคิดจากลัทธิสังคมนิยมก็อาจสรุปได้ว่า การต่อสู้ในสังคมไทยนั้นไม่ได้ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้นในสังคมอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ หรือที่เรียกว่า “ignition” หรือ “self stream” คือการต่อสู้เพื่อเรียกร้องคุณค่าของตัวเอง หรือภาษากรีกเรียกว่า “thymus” คือเป็นการเรียกร้องคุณค่าที่เป็นต้นตอที่เป็นต้นกำเนิดความเป็นมนุษย์ หรืออาจเรียกอีกอย่างได้ว่า เป็นการเรียกร้องให้ตัวเองมีความสำคัญเหนือกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันและก่อปัญหาไปทั่วโลกในปัจจุบัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Megalothymia

กระแสการต่อสู้นี้เข้าใจว่าได้เคลื่อนเข้ามาแทนกระแสการต่อสู้ทางชนชั้น วัดพระธรรมกายก็เรียกร้องให้ยอมรับความเป็นใหญ่ของตัวเอง ชาวบ้านที่กระบี่ก็เรียกร้องสิทธิชุมชนของการพัฒนาไม่ได้แตกต่างไปจากชาวบ้านที่เทพา

ท่ามกลางกระแสที่มีการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือประชาชน จึงมีความจำเป็นมากที่ต้องทำความเข้าใจว่ากระแสการต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับตนเองกำลังจะเคลื่อนเข้ามาแทนกระแสการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้น ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าถึงที่สุดแล้วฝ่ายไหนที่ต้องทำความเข้าใจมากกว่ากัน


You must be logged in to post a comment Login