วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

สธ.-ก.ทรัพย์ฯ บูรณาการความร่วมมือจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

On March 6, 2017

ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 3/2560 โดยได้รับเกียรติจากพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาบรรยายพิเศษเรื่อง “การบูรณาการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ”

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างมีภารกิจตรงกันในการดูแลสุขภาพประชาชน ร่วมกันดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1.การใช้สารเคมีในภาคการเกษตร กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลความปลอดภัยของผักและผลไม้ ได้ประกาศให้โรงพยาบาลในสังกัดเป็นโรงพยาบาลรักษ์สิ่งแวดล้อม พยายามใช้ผัก ผลไม้ปลอดสาร ประกอบอาหารแก่ผู้ป่วย เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน 2.การจัดการน้ำเสีย ในโรงพยาบาลทุกแห่งจะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะประสานกับกระทรวงมหาดไทยจัดหางบประมาณต่อไป 3.ปัญหาขยะในโรงพยาบาล ตามปกติได้แยกขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อออกจากกันชัดเจน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่แพร่กระจายเชื้อ แต่อาจมีปัญหาในขั้นตอนการขนส่งไปทำลาย จะหารือร่วมกันต่อไป และ4.มลพิษทางอากาศจากไฟป่าและหมอกควัน ได้ให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลตนเอง และจัดระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ สิ่งสำคัญคือการเร่งสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนในการรักษาและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ด้านพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย ทั้ง 2 กระทรวงมีแนวทางการทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายสุดท้ายคือคนไทยมีสุขภาพดีตามนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะสารปนเปื้อนที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น 1.สารเคมีตกค้าง การปลูกผักที่ใช้สารเคมีเข้มข้นและรุนแรง เมื่อปนเปื้อนในผักกระทรวงเกษตรฯ จะดูแล แต่เมื่อตกค้างในดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นอันตรายต่อประชาชน จะมีการตรวจสอบสารกำจัดศัตรูพืชหรือสารเคมีที่มีความเข้มข้นรุนแรง โดยมีกรมวิชาการของกระทรวงเกษตรฯ รองรับ นำไปสู่การห้ามนำเข้าประเทศ

2.ขยะ มีการณรงค์แยกขยะในระดับครัวเรือนเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล เช่น พลาสติก ขยะ ลดจำนวนขยะก่อนที่เทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำไปกำจัด 3.มลพิษทางน้ำจากน้ำเสียที่มีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จำเป็นต้องเร่งรณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงาน โรงแรม โรงพยาบาล ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะทำแผนการบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล และระบบการจัดการกำจัดขยะติดเชื้อเมื่อออกจากโรงพยาบาล ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย


You must be logged in to post a comment Login