วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ลัทธิทรัมป์? / โดย ณ สันมหาพล

On February 27, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

เริ่มต้นไม่กี่วัน รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็วุ่นวายสับสนหลายเรื่อง ล่าสุด ไมเคิล ฟลินน์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ได้ลาออกจากตำแหน่งท่ามกลางคำทำนายว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีมากมายกับรัฐบาล เพราะผู้สันทัดกรณีทราบดีว่านักการเมืองคนไหนใช้เล่ห์เพทุบายที่ไม่ดีก้าวขึ้นมามีอำนาจ นักการเมืองคนนั้นย่อมต้องประสบปัญหาในการอยู่ในอำนาจ อาจต้องสูญเสียทั้งชื่อเสียงและชีวิต แต่นักการเมืองไม่ดีทั่วโลกก็ยังไม่สำนึก

มิหนำซ้ำในยุคนี้ที่อินเทอร์เน็ตเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง นักการเมืองไม่ดีก็ยังยิ้มระรื่น ทั้งที่มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าหากไม่รู้จักใช้สื่อออนไลน์ก็ยากที่จะได้ชัยชนะ

เหตุนี้เองที่บรรดาผู้สันทัดกรณีทางการเมืองต่างจับตาความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทรัมป์แบบตาไม่กะพริบเพื่อดูว่าเมื่อได้อำนาจสูงสุดแล้วทรัมป์จะบริหารประเทศได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ รวมทั้งการต่อต้านของประชาชนกลุ่มต่างๆจะสามารถโค่นล้มทรัมป์ได้หรือไม่ ซึ่งผู้สันทัดกรณีต่างทำนายตั้งแต่ก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นมามีอำนาจว่า จะมีความปั่นป่วนมากมายนับตั้งแต่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ทั้งจะส่งผลกระทบถึงประเทศอื่นๆทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะด้านการเมืองที่ขณะนี้ “ลัทธิทรัมป์” กำลังระบาดเข้าไปในยุโรป สร้างความสั่นสะเทือนให้การเมืองบางประเทศที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง

ด้านเศรษฐกิจให้เฝ้าดูสักระยะหนึ่งว่าลัทธิทรัมป์จะผนึกนักการเมืองกับนายทุนอย่างเบ็ดเสร็จได้เมื่อไร รับรองว่าประเทศที่รับลัทธิทรัมป์จะต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับที่ประเทศลาตินอเมริกาเคยประสบ

ส่วนกรณีของฟลินน์ลาออกหลังถูกกล่าวหาว่าพูดคุยกับทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตันเกี่ยวกับการคว่ำบาตรทางการค้าเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นทรัมป์ยังไม่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ การลาออกอยู่ที่ฟลินน์โกหกว่าเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น ทั้งนี้ ช่วงเวลานั้นกระทรวงยุติธรรมได้เตือนเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวแล้วถึงการสนทนาระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายว่าให้ระวัง เพราะรัสเซียอาจใช้การสนทนาขู่ฟลินน์เพื่อล้วงความลับได้

เรื่องไม่จบแค่นั้น เพราะมีข่าวว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐได้ทำการสอบสวนเพื่อค้นหาความจริงว่า ตอนที่ฟลินน์ไปรัสเซียเมื่อปี 2015 หรือ 1 ปีก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น เขาได้รับเงินจากรัฐบาลรัสเซียหรือไม่ ในฐานะอดีตนายทหารเขาไม่อาจทำเช่นนั้นได้ ยิ่งกว่านั้นเขายังไม่ได้ขออนุญาตกระทรวงกลาโหมเพื่อเดินทาง ยิ่งเขาเคยมียศพลโทยิ่งต้องขออนุญาตก่อน

เห็นเช่นนี้คงแปลกใจว่าฟลินน์ได้รับตำแหน่งสำคัญสูงสุดดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งผู้สันทัดกรณีชี้ว่าเนื่องจากปัญหาการคัดเลือกผู้ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลไม่ดีนั่นเอง

ความโกลาหลในการทำงานของรัฐบาลจึงเกิดขึ้นทั้งที่รัฐบาลทรัมป์เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่กี่วัน โดยข่าววงในจากทำเนียบขาวระบุว่า ทรัมป์หัวเสียอย่างมากกับพฤติกรรมของฟลินน์ เพราะตอนที่ทราบเรื่องทรัมป์กำลังมีปัญหาการถูกต่อต้านจากประชาชน รวมทั้งความไม่พอใจของผู้นำมิตรประเทศ

ล่าสุดมีข่าววงในว่า ทรัมป์เริ่มไม่พอใจผู้ร่วมคณะรัฐบาลเพิ่มขึ้น ที่น่าจับตาคือ ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ซึ่งทรัมป์มักบ่นกับคนใกล้ชิดว่าชอบส่งคำถามไปถามพรรคพวกหลังประธานาธิบดีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า การสัมภาษณ์ใช้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี สไปเซอร์ยังไม่เสี่ยงจะถูกปลดเท่ากับ เรนซ์ พรีบัส หัวหน้าคณะผู้ปฏิบัติงานทำเนียบขาว ซึ่งผู้ที่เคยช่วยทรัมป์หาเสียงต่างได้รับการร้องเรียนให้หาผู้ที่เหมาะกับตำแหน่งนี้ใหม่ เพราะตามธรรมเนียมการเมืองของสหรัฐต้องเป็นบุคคลที่เคยช่วยหรือทำประโยชน์ให้ประธานาธิบดีระหว่างการหาเสียง

อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์มีปัญหากับผู้ร่วมงานก็ไม่เป็นที่แปลกใจสำหรับคนที่รู้จักทรัมป์ดี เพราะแต่ไหนแต่ไรทรัมป์ก็มีกิตติศัพท์ว่าเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง เวลาไม่พอใจอะไรก็จะไม่ปิดบังความรู้สึก ถ้ามีความรู้สึกไม่พอใจมากขึ้นก็ไม่ลังเลที่จะล้มเลิกทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ไม่พอใจ ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในชีวิตการทำงานของทรัมป์ทั้งก่อนและหลังการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งมีการเปลี่ยนแผนไปมา รวมถึงการเปลี่ยนคน

จึงไม่แปลกใจที่นักสังเกตการณ์จะเห็นว่าอีกไม่นานทรัมป์คงจะยกเครื่องคณะทำงานทำเนียบขาวใหม่ โดยเน้นไปที่สื่อออนไลน์ที่กำลังมีอิทธิพล ซึ่งต้องดูว่าจะยังมีคนที่มีปัญหาร่วมงานอีกหรือไม่?


You must be logged in to post a comment Login