วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

Withdrawal and change ของ‘Toynbee’ ตัวอย่างรูปธรรมการเมืองไทยในอดีต / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On January 23, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ทฤษฎีหลักของ Arnold Toynbee ในการเปลี่ยนแปลง civilization คือทฤษฎี “challenge and respond” แต่ความเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนแปลง civilization ยังมีอีกแนวทางที่น่าสนใจมาก นั่นคือ “withdrawal and change” แนวทางนี้เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยในอดีตได้ดีมาก

ในข้อเขียนของ Toynbee กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีดังกล่าวได้เกิดขึ้นในศูนย์กลางของ civilization กล่าวคือ มีการถอนตัวออกมาจากศูนย์กลางคือกลไกปรกติธรรมดาของการปกป้องตัวเองของ civilization ส่วนมากแล้วมักจะเกิดจากกระแสความคิดเก่าหรือกลุ่มที่ต่อต้านกระแสความคิดใหม่

เราสามารถนำทฤษฎีหรือแนวทางนี้ไปอธิบายการปฏิวัติ 2475 ได้ โดยมีพื้นฐานที่จำเป็นต้องตระหนักว่า ในการเผชิญหน้าระหว่างกระแสความคิดใหม่และเก่าต้องถือให้ความขัดแย้งภายในเป็นความขัดแย้งด้านหลัก ส่วนความขัดแย้งภายนอกเป็นความขัดแย้งด้านรอง กระแสความคิดใหม่จะชนะกระแสความคิดเก่าได้ก็ต่อเมื่อความขัดแย้งภายในของกระแสความคิดเก่าได้ย้อนกลับมาทำลายภายในของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้กระแสความคิดใหม่ก็เป็นผู้ชนะในกระบวนการ challenge and respond

เมื่อย้อนทวนดูเหตุการณ์ก่อน พ.ศ. 2475 กลุ่มราชวงศ์ได้เริ่มต้นความพ่ายแพ้ของตัวเอง เนื่องจากมีความขัดแย้งภายในระหว่างพระองค์เจ้าบวรเดชกับกรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากจุดนี้เองถือเป็นการถอนตัวออกจากศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้คณะราษฎรสามารถก่อการปฏิวัติขึ้นมาได้สำเร็จ ต่อมาฝ่ายคณะราษฎรได้เริ่มสร้างจุดอ่อนขึ้นมาในตัวเอง โดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้ออกสมุดปกเหลืองที่เป็นเค้าโครงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นจุดอ่อนของนายปรีดีไป

เราสามารถอธิบายทฤษฎี withdrawal and change ได้ เมื่อ 4 ทหารเสือของคณะราษฎรอันเป็นฐานกำลังได้ยื่นใบลาออกคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระประศาสน์พิทยายุทธ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ อันถือได้ว่าเป็นการถอนตัวออกจากศูนย์กลาง

หลังจากที่ 4 ทหารเสือของคณะราษฎรถอนตัว กลุ่มอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตีโต้การปฏิวัติกลับคืนในต้นปี 2476 โดยผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐบาลได้เปลี่ยนจุดยืนมาอยู่ตรงกันข้ามกับคณะราษฎร ซึ่งเป็นศัพท์ที่นายปรีดีเรียกว่า “counterrevolution” ถัดจากนั้นก็มีการออกกฎหมายข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เพื่อกำจัดนายปรีดี จนในที่สุดรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่สืบต่อมาจากนายปรีดีก็ถูกรัฐประหาร กลุ่มรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.ท.ประภาส จารุเสถียร น.อ.กาจ กาจสงคราม พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

การรัฐประหารปี 2490 ถือว่าระบอบประชาธิปไตยได้ล้มลง กลุ่มความคิดเก่าได้ฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง เป็นการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายขุนศึก กลุ่มที่ร่วมรัฐประหารล้วนมีบทบาทในเวลาต่อมาที่ทำให้ประเทศไทยถูกแช่แข็งด้านประชาธิปไตย แต่ระยะเวลาจากนั้นไม่นานฝ่ายขุนศึกก็ได้ครองอำนาจและผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล จนถึง พ.ศ. 2503 บทบาทของคณะราษฎรก็จบสิ้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลประชาธิปัตย์

การใช้ทฤษฎี withdrawal พิจารณากรณีการเมืองที่เป็นตัวอย่างรูปธรรมของประเทศไทยยังอาจเอามาพิจารณากรณี 14 ตุลาคม 2516 ได้ด้วย ที่ทำให้ civilization ในแบบประชาธิปไตยต้องพลิกกลับมาสู่อำนาจนิยมอีกครั้ง กล่าวคือ ฐานทางทหารในกลุ่มของ พล.อ.กัณณ์ ศรีวะรา และ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ได้ withdrawal หรือถอนตัวออกมาจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ตลอดทั้งฝ่ายอำนาจระดับสูงเริ่มไม่ไว้วางใจความเหิมเกริมของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ที่มีข่าวว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไทย ซึ่งจะจริงเท็จอย่างไรก็ยากจะยืนยัน แต่ก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดการถอนตัวออกจากศูนย์กลางของ civilization ในระบอบลัทธิทหารเผด็จการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

การใช้ทฤษฎี Withdrawal and change มาพิจารณาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เราจะเห็นแนวคิดของ Toynbee ได้ชัดเจนถึงความถูกต้องมากขึ้น จึงไม่แปลกที่ทฤษฎีการถอนตัวจากศูนย์กลางของ civilization นั้นเป็นอีกแนวทางที่อาจทำให้สังคมและประวัติศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกับทฤษฎีหลัก challenge and respond

เมื่อมองตามทฤษฎีนี้แล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นจึงน่าจะอยู่ตรงความขัดแย้งด้านหลักที่เป็นความขัดแย้งภายในมากกว่าความขัดแย้งภายนอก

จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดอธิบายได้ชัดเจนว่า แนวทางของ Arnold Toynbee เรื่อง withdrawal and change สามารถเอามาอธิบายได้ถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องในอดีตของประเทศไทยได้อย่างตรงตัว จึงได้แต่หวังว่าทฤษฎีนี้จะไม่เกิดขึ้นต่อไปในประเทศไทยแล้ว แต่จะเป็นทฤษฎี challenge and respond เท่านั้นเอง!


You must be logged in to post a comment Login