วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

Approach to religion-Nemdid of creative ศรัทธาและวุฒิภาวะในสังคมประชาธิปไตย / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On January 16, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

บังเอิญผมมีโอกาสได้อ่านบทบรรยายทางสังคมวิทยาของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา เรื่อง Historian Approach to Religion ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างข้อคิดของ Arnold Toynbee ผมเห็นว่าเข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทยที่การเมืองสับสน โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยและความหมาย ซึ่งขณะนี้ใกล้จะเลือกตั้งแล้วยังถกเถียงกันไม่จบไม่ว่าเรื่องกฎหมายแม่หรือกฎหมายลูก

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจถึงนิยามความหมาย religion ว่าไม่ได้หมายถึงเรื่องศาสนาอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือลัทธิทางการเมือง

ในทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็น civilization ของ Toynbee ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธาต่างๆเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

ดังนั้น การวิเคราะห์ในทางประวัติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ที่มีการ Approach เกี่ยวกับเรื่องลัทธิและความเชื่อ จึงเป็นการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับยุคสมัยของมนุษย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าความเชื่อของมนุษย์เกี่ยวข้องกับยุคสมัยแห่งความศรัทธาโดยตรง

นับตั้งแต่โบราณกาล มนุษย์เริ่มต้นความเชื่อในธรรมชาติ นับถือธรรมชาติ เมื่อหาเหตุผลมาอธิบายรายละเอียดไม่ได้ก็ยกให้ธรรมชาติกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความศรัทธาเริ่มต้นของมนุษย์จึงมักเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งความศรัทธาในตัวบุคคล ไม่ว่าสังคมเอเชียหรือสังคมทางตะวันตกก็มีลักษณะคล้ายกัน

สังคมเอเชียจะเห็นชัดเจนกว่า เหมือนประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างพม่า กษัตริย์ของพม่าเมื่อเสียชีวิตจะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “นัต” หรือ “ผี” นั่นเอง

ความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์แม้จะเริ่มต้นจากการนับถือธรรมชาติ แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วก็เป็นการสร้างขึ้นในจิตใจนุษย์นั่นเอง ทำให้นึกถึงเรื่องมายาคติตามทฤษฎีของโรล็องด์ บาร์ตส์ ที่กล่าวถึงความหมายของสรรพสิ่งอยู่ 2 ประการ โดยความหมายที่สองคือความหมายแฝง คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองภายในจิตใจ เช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แท้จริงแล้วอาจไม่มีอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์เลย แต่มนุษย์สร้างขึ้นมาครอบงำตัวเอง โดยเฉพาะสังคมไทยที่อยู่ด้วยความเชื่อ

ถ้าถามว่าอะไรคือปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่สร้างความขัดแย้งและแตกแยก ถ้าตอบแบบ Toynbee ก็ต้องบอกว่า คือศรัทธาและความเชื่อนั่นเอง

งานเขียนของ Toynbee ได้ศึกษาถึงนครรัฐเอเธนส์กับรัฐสปาร์ตาในประวัติศาสตร์ของกรีกโบราณ แม้จะอยู่ในสมาพันธรัฐเดียวกัน แต่ขัดแย้งกันจนต้องทำสงครามกันเอง สาเหตุมาจากความเชื่อ

เรื่องความเชื่อในทางศาสนาเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจน แต่ยังมีความเชื่ออื่นๆอีก Toynbee เห็นว่าเมื่อมีความศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว อีกข้างก็จะเสนอความเชื่อและศรัทธาที่สูงกว่า จึงทำให้เกิดการทำลายล้างกัน แม้ศาสนาเดียวกัน

จะเห็นได้จากกลุ่มไอซิสทำสงครามกับกลุ่มอิสลามด้วยกัน เพราะความเชื่อในความเป็นอิสลามและศรัทธาต่อพระเจ้ามากกว่า หรือก่อนมีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กลุ่ม กปปส. ก็เชื่อว่าพวกเขามีความจงรักภักดีที่สูงกว่าอีกฝ่ายที่เชื่อว่าตัวเองมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า สรุปว่าความเชื่อและศรัทธาที่สูงกว่าหรือมากกว่ากลายเป็นเงื่อนไขที่นำมากำจัดกันและกัน

ทีนี้มาดูความหมายของ nemdid ที่มาของศาสนากรีกโบราณคือ nemdid เป็นเทพธิดาซึ่งมีหน้าที่ลงโทษผู้กระทำผิด ความเชื่อเรื่อง nemdid ถูกพวกนายทาสในกรีกโบราณอาศัยเป็นข้ออ้างเพื่อจะลงโทษหรือเข่นฆ่าศัตรู เพราะถ้าอ้าง nemdid แล้วจะกลายเป็นความชอบธรรมในการลงโทษ

เมื่อเราผนวก 2 ความคิดนี้เข้าด้วยกัน คือเรื่อง Approach to religion กับ nemdid ในข้อเขียนช่วงหนึ่งของ Toynbee ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ที่สามารถเกิดจากการลงโทษของ nemdid ได้เหมือนกัน แต่นั่นเป็นสังคมยุโรป

ถ้าเป็นสังคมไทยเราอาจถอดความหมายได้ว่า เป็นปรากฏการณ์แบบกงเกวียนกำเกวียน หรือกรรมสนองกรรมอะไรอย่างนั้น ในความเชื่อของสังคมไทยบ่อยครั้งไม่มีเหตุผล และโดยข้อเท็จจริงในระบอบประชาธิปไตยก็มีบ่อยครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้เกิดจากเหตุผลตามหลักประชาธิปไตย แต่เกิดจากความเชื่อและศรัทธาส่วนตัว เช่นขณะนี้มีความเชื่อว่าถ้าสังคมไทยยังไม่ดีขึ้นก็น่าจะมีการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิดๆที่มีมานานแล้วของสังคมไทยว่าการปฏิวัติรัฐประหารคือทางออกอย่างหนึ่ง เพื่อล้างไพ่หรือล้างท่ออะไรก็ตาม

ความเชื่อที่ผิดๆกับการปฏิวัติรัฐประหารจึงเป็นกงเกวียนกำเกวียนอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ทำให้ต้องอยู่กันเช่นนี้มายาวนาน จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแต่งเพลง “สะพาน”

ผมขอจบบทความนี้โดยไม่อยากให้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงด้วยอาศัยความเชื่อและความศรัทธาที่มากกว่ากัน เพราะจะเป็นกงเกวียนกำเกวียนจนก้าวไปไม่ถึงไหน

ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่จะเล่นกับเกมอำนาจเพื่อเป็นสะพาน หรือจะเป็นผู้เสียสละเพื่อชาติอย่างหนึ่งอย่างใด ผมเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเล่นบทที่มีความอดทนมาก รวมทั้งต้องอดทนที่จะรับฟังซึ่งกันและกันที่ยาวนานพอสมควร!


You must be logged in to post a comment Login