วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

มุมมอง‘Toynbee’ ปัญหาและอุปสรรคประชาธิปไตย / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On January 2, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ในวงการปัญญาชนทั่วโลกในแวดวงประวัติศาสตร์และปรัชญาต่างเห็นพ้องกันว่างานเขียนของ Arnold Toynbee เป็นงานระดับ classic เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเพลโต โสเครติส อริสโตเติล หรือเฮโรโดตัส แม้กระทั่งคาร์ล มาร์กซ์ ที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ด้วยทฤษฎีความขัดแย้งทางชนชั้น ผลงานและทรรศนะของ Toynbee ถูกยกย่องว่าเหนือชั้นและมีความรัดกุมรอบด้านมากกว่าคาร์ล มาร์กซ์ เสียอีก

บทความฉบับนี้ได้ค้นคว้าเพื่อเอาแง่มุมและทรรศนะทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยของ Toynbee มานำเสนอ ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่ารากฐานของประชาธิปไตยเกิดมาจากนครรัฐกรีก แต่ประชาธิปไตยของกรีกถือว่าไม่ชัดเจน เป็นเพียงนามธรรม แต่ก็มีอิทธิพลต่ออังกฤษ ในสังคมยุโรปถือว่าตัวเองเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมประชาธิปไตย ถ้าจะกล่าวถึงประชาธิปไตยแล้วเขาเห็นว่าประชาธิปไตยมีลักษณะผกผัน แม้เราจะไม่ค่อยเชื่อเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยแบบไทยๆแต่ก็ต้องเงี่ยหูฟังบ้าง โดย Toynbee ใช้คำว่า suitability หมายความถึงประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะตัวเมื่อมองในแง่ประวัติศาสตร์

ยกตัวอย่างการเกิดเผด็จการฟาสซิสต์ในอิตาลี ซึ่งเป็นการเอาประชาธิปไตยมาใส่เสื้อคลุมซ่อนความเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ไว้ จนกล่าวว่ามีหลายชาติในยุโรปได้เจริญรอยตามอิตาลี ซึ่งอาจกล่าวอีกอย่างว่า เรื่องของรัฐสภากลายเป็นข้ออ้างในหลายประเทศ ไม่ว่าโดยเนื้อแท้แล้วบางครั้งการปกครองนั้นๆจะไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่กลายเป็นวัฒนธรรมที่ต้องโชว์ให้เห็นว่าประเทศยุโรปชาติตะวันตกทั้งหลายหรือชาติทุนอุตสาหกรรมนั้นมีสถาบันรัฐสภาเป็นวัฒนธรรม

ยกตัวอย่างเบลเยียมซึ่งแยกตัวออกมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ก็มีสถาบันรัฐสภา แต่เป็นรัฐสภาที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่อาจเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า parliamentary monarchy หรือเป็นภาษาไทยว่าระบอบการปกครองแบบราชอาณาจักร

ประชาธิปไตยรัฐสภานั้น Toynbee ยังกล่าวถึงฝรั่งเศส ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ นโปเลียน ใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือการปกครอง เดิมพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ต่อมาสละราชสมบัติเข้าสู่การเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจนมายึดอำนาจตัวเองและตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์อีกครั้ง ระบบรัฐสภาของหลุยส์ นโปเลียน อาจเรียกว่าเป็นรัฐสภาของกษัตริย์ มีความสับสนและความยอกย้อนอย่างมากมายในฝรั่งเศสที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แม้กระทั่งความขัดแย้งของกษัตริย์กับสถาบันศาสนาที่เป็นลัทธิเทวสิทธิ์ก็เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ตัวอย่างของฝรั่งเศสนี้ Toynbee ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ผกผัน หรือยกตัวอย่างประชาธิปไตยในออสเตรียและฮังการีซึ่งเคยรวมเป็นประเทศเดียวกัน มีกษัตริย์ทั้ง 2 ประเทศ และต่างก็มีรัฐสภาของตัวเอง แต่สุดท้ายรัฐสภาทั้งของออสเตรียและฮังการีก็จบลง

Toynbee ย้อนประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรไลบีเรียซึ่งมี 2 ประเทศหลักตั้งอยู่คือ โปรตุเกสและสเปน ก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง อย่างสเปนเคยมีทั้งสถาบันกษัตริย์ พวกชาตินิยม และพวกสาธารณรัฐ ตลอดจนพวกต่อต้านสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยในสเปนจึงสับสนเหมือนตุ๊กตาล้มลุก Toynbee กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่การปกครองของประเทศหนึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในอีกประเทศ เช่น การปฏิวัติในฝรั่งเศสมีอิทธิพลต่อสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าศึกษาถึงเนื้อลึกแล้วสหรัฐอเมริกาก็มีเหตุการณ์ของตัวเองที่ผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง

Toynbee ต้องการชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยในแต่ละประเทศนั้น ต้องฝ่าขวากหนามและอุปสรรคไม่อย่างหนึ่งก็อย่างใด จึงเห็นว่าแต่ละประเทศต้องมีประชาธิปไตยที่เหมาะสมของตัวเอง อย่างหลายชาติในอเมริกาใต้ต่อสู้เพื่อปลดแอก ไม่จากสเปนก็โปรตุเกส แต่ลงท้ายแทบทุกประเทศที่เป็นเอกราชก็มีความขัดแย้งกับผู้ปกครองเดิม ทำให้เป็นประชาธิปไตย หรือบางครั้งก็กลายเป็นเผด็จการที่แอบอ้างรัฐสภา หรือเป็นเผด็จการเต็มตัว

เมื่อ Toynbee ดูประวัติศาสตร์ของเอเชียก็เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีลักษณะของการทำลายตัวเองด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ข้อแรกเป็นพฤติกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ขัดขวางการเป็นประชาธิปไตย และข้อ 2 เป็นเรื่องของการศึกษาที่ขาดการปลูกฝังทัศนคติทางประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกับทางตะวันตก กรณีของฟิลิปปินส์เป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ อินเดียกับญี่ปุ่นก็เป็นอีกกรณีตัวอย่าง ในญี่ปุ่นนั้นสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยและช่วยสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ขณะที่สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นก็มีปัญหาไม่น้อย

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาอาจสรุปมุมมองของ Toynbee ว่าประชาธิปไตยในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะมีอุปสรรคปัญหาต่างกัน ประการต่อมาที่สำคัญที่ต้องถือเป็นกฎเกณฑ์เลยคือ ทุกชาติที่จะเป็นประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีการต่อสู้อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเขาเห็นว่าประชาธิปไตยในอุดมคติต้องใช้เวลา หรืออาจต้องค่อยเป็นค่อยไป แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาถ้าย้อนดูในอดีตก็มีปัญหาไม่น้อย เช่น การกีดกันคนผิวสี การขาดจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตย และขาดความรู้

นั่นเป็นความเห็นของ Toynbee แต่ผมสรุปของผมว่า แม้ประชาธิปไตยจะมีหลากหลาย แต่โดยภาพรวมแล้วก็ต้องมีวัฒนธรรมของมัน ที่เห็นชัดมีไม่กี่ประการคือ 1.ต้องยอมรับวัฒนธรรมของการแสดงออก 2.ต้องมีปฏิญญาหรือ consensus คือต้องมีฉันทามติที่สังคมทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่ง consensus นี้มีข้อดีที่ทำให้ไม่เกิดการผูกขาดจากเสียงส่วนมากที่เป็น majority tyranny ซึ่งทรราชเสียงส่วนมากถือเป็นความผกผันของระบอบประชาธิปไตย ถือหลักการว่าเป็นการปกครองของเสียงส่วนใหญ่!


You must be logged in to post a comment Login