วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

มหานครแห่งจักรยาน / โดย ณ สันมหาพล

On December 26, 2016

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

คนอเมริกันชอบขี่จักรยานขนาดไหนดูได้จากจำนวนการซื้อจักรยาน ซึ่งเป็นพฤติกรรมเกือบทุกครอบครัวที่จะซื้อจักรยานให้ลูกตั้งแต่เล็กจนเป็นวัยรุ่นจึงจะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ แต่ส่วนใหญ่จะเก็บจักรยานไว้ใช้ โดยเฉพาะการนำไปใช้เวลาไปพักผ่อนหรือพักร้อนในป่า

จากการจัดอันดับของนิตยสารจักรยาน Bicycling Magazine และสถาบันด้านจักรยานคือ People for Bikes (มูลนิธิเพื่อจักรยาน) Alliance for Biking & Walking (พันธมิตรเพื่อการขี่จักรยานและการเดิน) และ League of American Bicyclists (สันนิบาตนักขี่จักรยานชาวอเมริกัน)

อย่างที่กล่าวไว้ในฉบับที่แล้วถึงการจัดอันดับทุกๆ 2 ปี ปรากฏว่า 50 มหานครและนครจักรยานที่ดีที่สุด (50 Best Bike Cities) ในสหรัฐอเมริกานั้น อันดับ 1 ปีนี้ได้แก่ มหานครชิคาโก ที่เขี่ยมหานครนิวยอร์กไปอยู่อันดับ 4 เหตุผลหลักคือ หลังจากนายกเทศมนตรี Rahm Emanuel ประกาศว่าหลังได้ชัยชนะ (เดือนเมษายน) จะสร้างทางจักรยานที่มีความยาว 50 ไมล์ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ทางจักรยานส่วนใหญ่จะแยกเด็ดขาดจากทางรถยนต์ ซึ่งในการดำรงตำแหน่งสมัยแรก Emanuel ได้สร้างทางจักรยานทั้งที่เป็นทางเฉพาะและใช้ร่วมกับทางรถยนต์จนครบ 100 ไมล์ตามสัญญา โดยค่าก่อสร้างเฉลี่ยไมล์ละ 12 ล้านเหรียญ และมีแผนจะเชื่อมทางจักรยานกับระบบขนส่งมวลชนด้วย จะทำให้ชิคาโกเป็นมหานครแห่งแรกที่ย่านธุรกิจเชื่อมโยงทั้งระบบขนส่งมวลชนและทางจักรยาน และอีกไม่นานจะปรับระบบแบ่งปันจักรยานที่มีอยู่แล้วในชื่อ Divvy เพื่อเป็นสวัสดิการคนมีรายได้น้อย

มหานครแห่งจักรยานอันดับ 2 คือ ซานฟรานซิสโก ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่อันดับ 7 เนื่องจากจำนวนผู้ใช้จักรยานในการเดินทางเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 ระหว่างปี 2012-2014 จนถึงปี 2014 มีทางจักรยานที่ตัดผ่านย่านธุรกิจหลักที่มีผู้ใช้จักรยานมากถึง 1 ล้านคนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 2,740 คน นอกจากนี้ยังจะสร้างและยกระดับทางจักรยานอีกจำนวนมาก เพื่อให้ทุกตารางนิ้วของซานฟรานซิสโกกลายเป็นมหานครแห่งจักรยาน ทางจักรยานที่มีชื่อเสียงคือ เส้นทางติดอ่าวซานฟรานซิสโกและสะพานโกลเด้นเกท ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นทางจักรยานที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

อันดับ 3 คือ พอร์ตแลนด์ หลายปีที่ผ่านมามีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะมหานครที่เอาจริงด้านจักรยานแห่งแรกๆ ทำให้ระหว่างปี 2013-2014 จำนวนผู้ใช้จักรยานในการเดินทางเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 หรือคิดเป็นผู้ใช้จักรยานร้อยละ 7.2 จากจำนวนประชากร 632,000 คน

พอร์ตแลนด์เป็นมหานครและนครเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่จัดเทศกาลจักรยานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวทุกปี ซึ่งจะจัดในช่วงฤดูร้อนนาน 3 สัปดาห์ชื่อ Pedal Palooza เฉพาะแค่ชื่อบรรดานักขี่จักรยานทั่วโลกต่างก็อยากไปกันแล้ว และทุกคนที่ได้ไปก็ไม่ผิดหวัง เนื่องจากมีกิจกรรมต่างๆเกือบ 300 กิจกรรม โดยเป็นงานรื่นเริงแบบตลอดวันตลอดคืน

ส่วนมหานครนิวยอร์กที่หล่นไปอันดับ 4 แทนพอร์ตแลนด์ ไม่ใช่มีชื่อเสียงเฉพาะมีบริการขนส่งมวลชนค่อนข้างดีมากเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักกันดีของผู้รักจักรยาน ระหว่างปี 2010-2014 จำนวนผู้เดินทางด้วยจักรยานเพิ่มมากถึงร้อยละ 83 อาจสูงสุดเท่าที่เคยมีในโลกทีเดียว

นอกจากนี้นิวยอร์กยังมีบริการแบ่งปันจักรยานที่ใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศในชื่อ Citi Bike เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานและปลอดอุบัติเหตุจากจักรยานเมื่อถึงปี 2024

อันดับ 5 คือ ซีแอตเติล มหานครที่คนไทยรู้จักดีจากชื่อเสียงของบริษัทสร้างเครื่องบินคือโบอิ้งกับบริษัทซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ ถือเป็นมหานครที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญและสะท้อนความฉลาดปราดเปรื่องของมหานครแห่งนี้ ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงว่าเป็นมหานครแห่งจักรยานอีกแห่งหนึ่ง

เมื่อปีที่แล้วชาวซีแอตเติลร้อยละ 57 ได้ลงคะแนนเสียงให้เทศบาลเก็บภาษี Move Seattle ซึ่งเป็นภาษีพิเศษเพื่อนำเงินไปยกระดับการใช้และการบริการจักรยานทุกรูปแบบ โดยตั้งเป้าหมายว่าในระยะ 9 ปีข้างหน้า จะมีเงินจากภาษีจำนวนเกือบ 1,000 ล้านเหรียญ เพื่อนำมาสร้างและปรับปรุงเส้นทางจักรยานและทางเท้า เพื่อให้เป็นมหานครแห่งแรกในโลกที่มีเส้นทางเดินทางภายในซีแอตเติลที่เป็นเส้นทางสีเขียวอย่างแท้จริง

ก่อนการลงคะแนนเสียงได้เกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผู้ดีมีเงินที่ต่อต้านกับกลุ่มคนทั่วไปที่สนับสนุน โดยกลุ่มต่อต้านได้ใช้เงินจากนักธุรกิจหญิงคนหนึ่งในการรณรงค์จำนวน 325,000 เหรียญ แต่ก็ไม่สำเร็จ

ยังมีอีก 5 มหานครของสหรัฐอเมริกาที่จะกล่าวถึงต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยนำมาศึกษาเป็นแบบอย่างหากต้องการจะเป็นประเทศจักรยานอย่างจริงจัง


You must be logged in to post a comment Login