วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

แผนปราบโกงภาษี‘ออสซี่’

On December 23, 2016

รัฐบาลออสเตรเลียจุดประเด็นร้อนส่งท้ายปี โดยแย้มว่า มีแผนเลิกใช้ธนบัตร 100 เหรียญออสเตรเลีย

จุดประสงค์เพื่อขจัดขบวนการ “เศรษฐกิจมืด” (Black economy) เลี่ยงภาษี ทำให้รัฐสูญรายได้จำนวนมหาศาลในแต่ละปี

รัฐบาลออสเตรเลียอธิบายว่า กลุ่ม “เศรษฐกิจมืด” หรือ “เศรษฐกิจใต้ดิน” หมายถึงผู้เลี่ยงภาษี ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย แก๊งอาชญากร แก๊งค้ายาเสพติด และผู้ลักลอบจำหน่ายสินค้าต้องห้าม

การเลี่ยงภาษี ทำให้รัฐขาดรายได้ปีละประมาณ 21,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (556,500 ล้านบาท) คิดเป็น 1.5% ของจีดีพี (GDP)

ภาครัฐประเมินในช่วงแรกว่า คนกลุ่มนี้ใช้ธนบัตร 100 เหรียญเป็นหลัก เนื่องจากเป็น “แบงก์” ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบค่อนข้างมาก

ปัจจุบัน ออสเตรเลียมีธนบัตรราคาต่างๆอยู่ในระบบประมาณ 1,500 ล้านใบ มูลค่า 73,000 ล้านเหรียญ เป็นธนบัตร 100 เหรียญ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญ

ไม่เพียงกลุ่มเลี่ยงภาษีที่ใช้ธนบัตร 100 เหรียญ ประชาชนคนเดินดิน รวมทั้งห้างร้านบริษัททั่วไป ก็ใช้กันคึกคัก เนื่องจากเป็น “แบงก์” มีจำนวนมากดังกล่าว

เมื่อภาครัฐประกาศจะเลิกใช้ โดยใช้วิธีทยอยเก็บออกจากระบบ จึงเกิดกระแสความวิตก และปฏิกิริยาต่อต้านในวงกว้าง

แม้รัฐจะแนะนำให้หันไปใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ คล้ายระบบ “พร้อมเพย์” แทน ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังคงคุ้นเคยกับการใช้เงินสด

ด้านธนาคารกลางออสเตรเลีย นำข้อมูลจากสำนักงานต่อต้านการฟอกเงิน และสำนักงานปราบปรามอาชญากรรม มาแย้งภายหลังว่า กลุ่มเลี่ยงภาษีใช้ธนบัตร 50 เหรียญ มากกว่า 100 เหรียญ เนื่องจากมีมากและหาง่ายกว่าธนบัตร 100 เหรียญ

ออสเตรเลียดำเนินการเรื่องนี้ แตกต่างจากอินเดียและเวเนซุเอลา โดยทั้ง 2 ประเทศประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรเป้าหมาย แบบปัจจุบันทันด่วน ขณะออสเตรเลียใช้วิธี “โยนหินถามทาง”

เมื่อ “โยน” ไปแล้ว มีกระแสไม่เห็นด้วย อีกทั้งมีข้อมูลใหม่จากธนาคารกลาง จึงชะงักเล็กน้อย และได้เปลี่ยนแผน หันมาตั้งหน่วยปราบปราม เศรษฐกิจมืด (Black Economy Taskforce) ทำหน้าที่ขจัดปัญหานี้โดยเฉพาะ

หน่วยปราบปรามเศรษฐกิจมืด มีหน้าที่ติดตามและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเลี่ยงภาษี

รวมทั้งทำรายงานเสนอรัฐว่า มีความจำเป็นต้องยกเลิกการใช้ธนบัตร 100 เหรียญหรือไม่


You must be logged in to post a comment Login