วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

มรณสักขี / โดย บรรจง บินกาซัน

On December 12, 2016

คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

“ชีวิตคือการต่อสู้” เป็นความจริงอย่างหนึ่งของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจปฏิเสธ และเนื่องจากชีวิตมนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ การต่อสู้ของมนุษย์จึงมีทั้ง 2 ด้าน แต่ส่วนใหญ่แล้วมนุษย์จะใช้เวลาไปในการต่อสู้ด้านวิญญาณมากกว่า

สมรภูมิการต่อสู้ทางด้านจิตวิญญาณคือหัวใจ ในสมรภูมิแห่งนี้มีกิเลสสารพัดท้าทายให้มนุษย์เอาชนะ และการพ่ายแพ้กิเลสในหัวใจคือความหายนะของชีวิตไม่ต่างจากความพ่ายแพ้ทางทหารในสมรภูมิ

ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงมีคำสอนที่บอกถึงวิธีการปฏิบัติและการต่อสู้กับกิเลสไว้ เพื่อมิให้มนุษย์พ่ายแพ้ทางจิตวิญญาณ

แต่ในชีวิตจริงบางครั้งมนุษย์ก็ต้องต่อสู้กับสิ่งท้าทายทางกายภาพ นั่นคือการถูกศัตรูที่มองเห็นเป็นตัวเป็นตนมารุกรานหรือกดขี่ข่มเหง การยอมถูกรุกรานหรือการไม่ต่อสู้คือความพ่ายแพ้ และความพ่ายแพ้หมายถึงความหายนะของตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

ด้วยเหตุนี้ในทุกศาสนาจึงมีคำสอนเรื่องการต่อสู้การรุกรานมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เช่นกัน

ในภควัทคีตา (แปลว่า “บทเพลงแห่งพระเจ้า”) คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู บทที่ 2 โองการที่ 31-33 กฤษณะที่ชาวฮินดูยกย่องเป็นพระเจ้าได้บอกอรชุนว่า :-

“เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่เป็นกษัตริย์ เจ้าต้องรู้ว่าไม่มีการต่อสู้อะไรสำหรับเจ้าจะดีไปกว่าการต่อสู้เพื่อหลักการศาสนา ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องลังเล”

“ความสุขเป็นของกษัตริย์ที่โอกาสการต่อสู้เช่นนั้นมาถึงโดยไม่ต้องแสวงหา เป็นการเปิดประตูของดวงดาวแห่งสวรรค์ให้พวกเขา”

“อย่างไรก็ตาม ถ้าเจ้าไม่ต่อสู้สงครามศาสนานี้เจ้าจะมีบาปอย่างแน่นอน เพราะการละทิ้งหน้าที่ของเจ้า แล้วเจ้าจะสูญเสียชื่อเสียงในฐานะเป็นนักต่อสู้”

อ่านข้อความจากภควัทคีตาแล้วทำให้เรารู้ว่า ไม่มีการต่อสู้อะไรดีไปกว่าการต่อสู้เพื่อหลักการศาสนา และเป็นความชอบธรรมที่จะต่อสู้ การถูกรุกรานจึงเป็นโอกาสที่จะเข้าสวรรค์ได้มาถึงโดยไม่ต้องไปแสวงหา

แต่การจะเข้าสวรรค์ได้วิญญาณต้องออกจากร่างก่อน คนที่เชื่อว่าสวรรค์มีจริงโดยไม่ต้องเห็นด้วยตาเท่านั้นจึงจะกล้าพลีชีพของตัวเอง กองทัพที่มีจิตใจเชื่อมั่นเช่นนี้จึงเป็นกองทัพที่ห้าวหาญเป็นที่เกรงขามของศัตรู

เมื่อทุกประเทศให้เกียรติ ยกย่อง และจัดสวัสดิการให้แก่ทหารหาญที่ยอมพลีชีวิตเพื่อชาติ ศาสนาก็จัดสวัสดิการเช่นนั้นให้แก่ผู้พลีชีพเพื่อศาสนาในรูปของสวรรค์เช่นกัน

ในคำสอนของศาสนาคริสต์มีแนวความคิดเรื่องการพลีชีพเพื่อศาสนาในรูปของคำว่า “มรณสักขี” (martyr) เป็นภาษากรีก แปลว่า พยาน ซึ่งหมายถึงคริสต์ชนที่ถูกฆ่าเพราะต้องการปกป้องความเชื่อทางศาสนาไว้ คำนี้เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรโรมันก่อนที่จะรับนับถือศาสนาคริสต์ฉบับของเซนต์ปอลแห่งทาร์ซัสเป็นศาสนาทางการของอาณาจักร

นักบวชคริสเตียนที่ยอมพลีชีวิตเพื่อรักษาความศรัทธาไว้จะได้รับการยกย่องเป็นนักบุญ (Saint) นักบุญคนแรกของคริสตจักรคือ นักบุญสตีเฟน ในเมืองไทยมีคนไทยที่เป็นมรณสักขีแห่งสองคอน กล่าวคือ คนไทยกลุ่มหนึ่งที่ถูกตำรวจไทยยิงตายเพราะไม่ยอมเลิกนับถือศาสนาคริสต์และได้รับการยกย่องจากพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ประกาศให้เป็นบุญราศี

ในอิสลามผู้พลีชีพเพื่อปกป้องศาสนาถูกเรียกว่า “ชะฮีด” ในภาษาอาหรับแปลว่า “พยาน” หรือ “ผู้รู้เห็น” หมายถึงผู้ที่เชื่อในเรื่องการมีอยู่ของสวรรค์จนเหมือนกับเห็นสวรรค์ด้วย 2 ตาของตัวเองและต้องการจะไปสวรรค์ แต่การจะไปสวรรค์ได้นั้นต้องผ่านความตายจากการต่อสู้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งไม่มีใครรู้ความในใจของผู้ตายนอกไปจากพระเจ้าเท่านั้น

มีคำบอกเล่าของท่านนบีมุฮัมมัดว่าผู้เป็นชะฮีดเมื่อได้เห็นสิ่งที่ตัวเองได้รับในสวรรค์ พวกเขาอยากจะกลับมาเกิดในโลกนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อต่อสู้และถูกฆ่าอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะโลกแห่งสุสานเป็นโลกที่ขวางกั้นไว้ไม่ให้ข้ามมายังโลกนี้ได้อีก

ความเชื่อในเรื่องนี้เองเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ชาวอาหรับพิชิตอาณาจักรโรมันและเปอร์เซีย และทำให้ชาวอัฟกานิสถานต้านทานการรุกรานของอังกฤษ โซเวียต และอเมริกา


You must be logged in to post a comment Login