วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ทรรศนะ‘Arnold Toynbee’ อนาคต After Fossil Energy / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On December 5, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ข้อเขียนตอนนี้ผมขอกล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจบ้าง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว Arnold Toynbee มิใช่เป็นเพียงปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และปรัชญาเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อีกด้วย

ถ้าเรามองไปที่ analogy หรือสาแหรกของ Toynbee ก็จะพบว่ามีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกันและมีชื่อซ้ำกันคือ Arnold Toynbee แต่เป็นคนละบุคคลกัน โดยญาติผู้ใหญ่คนดังกล่าวเป็นนักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากในอังกฤษ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1815-1866 ส่วน Arnold Toynbee ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ มีศักดิ์เป็นหลานชาย มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1898-1975

โดยส่วนตัวแล้ว Toynbee แม้จะได้รับอิทธิพลทางความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์จากลุง แต่เขากลับมองปัญหาเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์ไปในมิติของอารยธรรมและสังคมมนุษย์ตั้งแต่สมัยเป็นอาจารย์บรรยายในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ เขาจึงไม่เห็นด้วยกับตำราหลายเล่มที่เนื้อหากล่าวถึงแต่เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ และคอยกระตุ้นกิเลสให้ผู้ศึกษามุ่งแต่แสวงหาผลกำไร

อย่างไรก็ตาม Toynbee มีความพยายามจะประยุกต์ใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อเอาไปรับใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนใช้เป็นแนวทางสร้างกฎเกณฑ์และข้อบังคับเกี่ยวกับการค้าเสรี

เรื่องการค้าเสรีนั้น Toynbee เห็นว่าคงไม่มีกฎหมายใดๆที่จะเข้าไปแทรกแซงและกีดกันในการตลาดของทุกประเทศได้ แม้จะมีอยู่บ้างที่จะมีข้อบังคับในลักษณะการปรับผู้ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ แต่อีกด้านหนึ่งเขาเห็นว่าการแข่งขันด้านการตลาดก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เพราะทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ความหมายของการตลาดนั้นเปรียบเสมือนลำคลองที่มีเส้นทางและทิศทางในการไหลของมัน จึงเป็นไปได้ยากที่จะไปสร้างทำนบเพื่อควบคุมการตลาดให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หนทางที่ดีที่สุดจึงต้องปล่อยให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของมัน

นี่คือการมองเรื่องการตลาดและการค้าเสรี ซึ่งในปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็พยายามขยายเขตการค้าเสรี เช่น จีนอยู่เบื้องหลังการขยายอาร์เซ็ปหรืออาเซียนบวกหก โดยอาเซียน 10 ประเทศร่วมกับจีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ไฟกัสไปที่ TPP หรือยุทธศาสตร์หุ้นส่วนการค้าเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วก็คือความพยายามในการขยายเขตการค้าเสรีและสร้างเงื่อนไขในมาตรการต่างๆลักษณะพหุภาคี เพื่อไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้า

ดังนั้น ครั้งหนึ่ง Toynbee จึงเสนอความเห็นว่าควรจะแบ่งแยกการแข่งขันออกเป็น 2 อย่างคือ การแข่งขันทางด้านการผลิต และการแข่งขันทางด้านการกระจายสินค้า

ด้านการผลิตนั้นควรจะเพ่งเล็งอุตสาหกรรมที่เอารัดเอาเปรียบในการขูดรีดแรงงานค่าจ้าง ซึ่งเป็นต้นตอหนึ่งของความยากจน บรรดาอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษและบรรดาทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ควรมีมาตรการในการกำกับ แต่ถึงที่สุดแล้ว Toynbee สรุปว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและคุณธรรมมากกว่ากฎเกณฑ์ใดๆที่จะไปควบคุมได้

ในการมองเศรษฐกิจยังกล่าวถึง reality economy หมายถึงเศรษฐกิจจริง ข้อนี้คือเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคการเงิน โดยมีภาคการเงินเป็นตัวเชื่อมโยง ได้แก่ หุ้นต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ โดยข้อเท็จจริงเบื้องหลังแล้วราคาของหุ้นควรจะสะท้อนจากการผลิต แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ตลาดหุ้นมีความซับซ้อนมากจนทำให้เรามองภาพเศรษฐกิจจริงได้ยาก จนต้องถามว่าอะไรคือภาคเศรษฐกิจจริง

ราคาหุ้นเป็นวงจรที่ขึ้นและลงสลับกันไป ยังมีนักเก็งกำไรที่มักจะคิดผิดๆ บางครั้งก็ขายหุ้นออกไป บางครั้งก็ทุ่มซื้อ แต่พอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง คำตอบนั้นมักตรงกันข้าม พวกนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นมักจะมีความคิดว่าเมื่อขายหุ้นออกไปก็จะมีคนซื้อเสมอ ตรงเหตุนี้เองเราจึงบอกได้ว่าตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่อ่อนไหว บ่อยครั้งไม่มีเหตุผล ทุกอย่างจึงเป็นปมจิตวิทยา

ดังนั้น การเชื่อมโยงของราคาหุ้นกับผลผลิตจริงจึงไม่สัมพันธ์กัน ยังมีความเชื่อมโยงการเก็งกำไรและเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมือง ปัญหาการก่อการร้าย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเลย แต่ส่งผลให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลง Toynbee จึงเห็นว่าการดำเนินไปของภาคเศรษฐกิจจริงในโลกจะเป็นเช่นนี้ไปอีกยาวนาน

ประการต่อมา Toynbee ยังเห็นว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลจะหมดยุคด้วย 2 เหตุผลคือ 1.เกิดปัญหาโลกร้อน 2.พลังงานฟอสซิลหมดแหล่งสำรองในโลก ดังนั้น โฉมหน้าเศรษฐกิจต่อไปจะเป็นเศรษฐกิจในยุค after fossil energy อนาคตข้างหน้านั้นสังคมและเศรษฐกิจของมนุษย์จะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของการหาพลังงานใหม่ ซึ่งอาจเป็นพลังงานแสงแดด พลังงานลม และพลังงานทางเลือกอื่นๆ

ที่น่าสนใจก็คือระยะผ่านที่เรียกว่า crossroad จะเป็นช่วงข้อต่อสำคัญของสังคมโลก โดยนานาชาติจะเริ่มกล่าวถึง Sustainable Development ที่เป็นเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียง หรือเรียกอีกอย่างว่า Green Development เพราะเหตุผลนี้ก็ได้ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความภาคภูมิใจและใช้แนวคิดนี้มาเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศไทย


You must be logged in to post a comment Login