วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

คนอีสานเฝ้ารอการเลือกตั้ง! / โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

On November 29, 2016

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

อาจารย์ชูเกียรติเริ่มต้นด้วยการสรุปภาพรวมรัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าเศรษฐกิจถือว่าน่ากลัวที่สุด โดยเฉพาะราคาข้าวไม่เคยตกต่ำมากเหมือนครั้งนี้จนชาวนาอยู่ไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะยั่งยืนหรือไม่ สงสารชาวนามากเมื่อราคาข้าวเท่ากับราคามาม่าหรือถูกกว่าโออิชิ

การแก้ปัญหาของรัฐบาลเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ปัญหาจึงเหมือนดินพอกหางหมูที่สะสมไปเรื่อยๆ ที่ชาวบ้านยังไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะกลัวกฎหมาย และอยู่ในช่วงความโศกเศร้าการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ก็ใช้ช่องทางต่างๆส่งให้รัฐบาลได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนให้ภาครัฐช่วยดูแล ซึ่งไม่ใช่แค่ราคาข้าวที่ตกต่ำเท่านั้น ยังมีพืชผลทางการเกษตรอีกหลายตัวที่ราคาตกต่ำเช่นกัน เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด ฯลฯ

ถ้าประเมินผลงานรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ถือว่ารัฐบาลสอบตก คะแนนเต็ม 10 ให้แค่ 4 เท่านั้น เพราะหลายอย่างมีปัญหาจริงๆ เรียกว่าสัมพันธ์กันไปหมด ทั้งเรื่องการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศพอเห็นการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพก็ไม่กล้ามาลงทุน หรือย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น หลายบริษัทปิด ปลดพนักงาน หรือเลิกจ้างโดยฉับพลัน แม้กระทั่งบริษัทที่เคยมีผลประกอบการดียังต้องปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุน ลดความเสี่ยง ปัญหาคนตกงาน การว่างงานก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาเศรษฐกิจ

กรณียุทธศาสตร์ประชารัฐ ทุกภาคส่วนของสังคมกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด ผมมองว่าการตั้งบริษัทประชารัฐแล้วให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งบริษัทลูกเหมือนเป็นเครือข่ายทางการตลาดกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหรือสินค้าโอท็อปในแต่ละจังหวัดนั้น แม้โดยหลักการจะเป็นเรื่องดี แต่ไม่แน่ใจว่าการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ จะเป็นช่องทางให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมจริงหรือเปล่า ที่สำคัญจะสามารถเชื่อมโยงประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐได้แค่ไหน หรือจะตัดพ่อค้าคนกลางให้มีบทบาทน้อยที่สุด

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทประชารัฐจะเป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่หรือเปล่า แม้ตัวหลักการดี แต่พอนำมาสู่การปฏิบัติและลงมาสู่ประชาชนจะโดนตัวแปรที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ จะเป็นช่องว่างให้เกิดทุจริตที่เรียกว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบายหรือไม่ ที่ผ่านมามีหลายนโยบายหลักการดีมาก แต่มักมีปัญหา มีช่องว่างให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม

ยุทธศาสตร์ประชารัฐจึงน่าเป็นห่วง ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะมีกลไกอะไรในการควบคุมกลุ่มคนในจังหวัด คหบดี หรือผู้ค้าต่างๆในจังหวัด นอกจากกลุ่มทุนระดับชาติระดับประเทศ

บทบาทสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

เมื่อสภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างนี้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ผมอยากบอกว่าเราให้โอกาสรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูแลเศรษฐกิจมานานแล้ว ให้เวลาแก้ปัญหาเศรษฐกิจและผลักดันนโยบายต่างๆกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขยับดีขึ้น ส่งออกดีขึ้น ปรากฏว่าผลงานของนายสมคิดกลับไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่เป็นที่ประจักษ์ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชนยังมีปัญหา

ผมคิดว่านายสมคิดน่าจะลาออก หรือให้โอกาสคนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทนได้แล้ว ผมเชื่อว่าประเทศไทยยังมีคนที่มีฝีมือ มีความคิด มีความสามารถที่พร้อมจะทำงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ ผมขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรี ปรับนายสมคิดออกจากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้แล้ว ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็จะไม่กระเตื้องขึ้น

เรื่องการสร้างความปรองดอง

การสร้างความปรองดองถือเป็นข้ออ้างการเข้ามาของ คสช. ว่าจะทำให้เกิดความปรองดอง ทำให้เกิดความสามัคคีสมานฉันท์ของคนในชาติ ให้ก้าวข้ามทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกความขัดแย้งในเรื่องสีเสื้อ แต่กลับไม่มีอะไรเป็นมรรคเป็นผล ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรรม หนำซ้ำยังมีการไล่ล่ากำจัดผู้มีความคิดเห็นต่างหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกสิ่งถูกกดทับอยู่ รอเวลาการเมืองเป็นปรกติก็จะออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้กันอีก

ตราบใดที่รัฐบาล คสช. ไม่ได้เยียวยาบาดแผลที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาให้เป็นที่พอใจของญาติผู้สูญเสียไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามอย่างเป็นธรรม เป็นกลาง และยุติธรรมกับทุกฝ่าย คือต้องไม่สองมาตรฐาน ความปรองดองถึงจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีบรรยากาศนี้ก่อนถ้าจะปรองดอง ถ้าบอกให้คนมาปรองดอง มารักกัน ผมคิดว่ายาก รัฐบาลต้องพิสูจน์ความจริงใจก่อนว่าต้องการให้คนสามัคคีปรองดองจริงๆ โดยเฉพาะการเยียวยาให้กับผู้สูญเสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม

การเริ่มบรรยากาศปรองดองต้องอยู่บนหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน และมีเวทีการพูดคุยกันจึงจะเกิดความปรองดองได้ ผมขอย้ำว่าการสร้างความปรองดองของรัฐบาลยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมเลย ยังไม่เห็นความจริงใจที่แท้จริงเลย การสร้างความปรองดองของรัฐบาลถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ความขัดแย้งยังคุกรุ่น

ปัญหาความขัดแย้งยังอยู่ในทรรศนะส่วนลึกของผู้สูญเสียกับผู้ร่วมเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ผมคิดว่ามันยากที่จะอธิบายการสูญเสีย ถามว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองขณะนี้มีโอกาสลุกลามบานปลายมาบนท้องถนนอีกครั้งในอนาคตหรือไม่ ผมคิดว่าถ้ารัฐบาล คสช. ไม่วางกลไกของรัฐเพื่อควบคุมให้ดีก็มีโอกาสจะเกิดความขัดแย้งเหมือนเดิมอีก ขอย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลต้องดูแลผู้ที่สูญเสียทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง ตรงนี้สำคัญมาก เพราะจะลดปัญหาความขัดแย้งได้มาก

คนอีสานมองรัฐบาลอย่างไร

ผมตอบแทนคนอีสานทั้งหมดไม่ได้ แต่ผมขอมองภาพโดยรวมว่า รัฐบาล คสช. เข้ามาด้วยวิธีพิเศษ ไม่ได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และกลไกการใช้อำนาจไม่ได้ใช้วิธีแบบประชาธิปไตย หลายครั้งไม่ฟังเสียงของประชาชนหรือฟังเสียงความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชน การใช้อำนาจหลายครั้งเป็นการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาตามที่รัฐบาลมอง แต่ข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเข้าใจสภาพปัญหามากน้อยแค่ไหน มาตรา 44 ถูกใช้บ่อยมากเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ จึงมีคำถามว่ารัฐบาลเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆหรือไม่ หรือเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาแค่ไหน ไม่ใช่ว่ามีเรื่องอะไรก็จะใช้มาตรา 44 ในการเข้ามาจัดการแก้ปัญหา ซึ่งแตกต่างจากระบบกลไกรัฐ อำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยปรกติต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมามากมายเพื่อตรวจสอบหรือสำรวจปัญหา ทำความเข้าใจหรือวิจัยข้อเท็จจริง สภาพความเป็นจริงของปัญหาของคนที่อยู่ชายขอบ คนต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ แล้วจึงออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหานั้นๆให้กับชาวบ้าน

คนอีสานไม่ค่อยพอใจผลงานของรัฐบาล คสช. ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากเศรษฐกิจเป็นเรื่องปากท้อง เรื่องราคาข้าว และยังมีพืชอย่างอื่นที่ปลูกด้วยหลายอย่าง ข้าวในภาคอีสานปลูกมาก แต่ไม่เหมือนภาคกลางที่สามารถทำนาได้หลายรอบ ถ้ารอบนี้ราคาข้าวตกก็อาจรอรอบหน้าได้ เพราะภาคกลางทำนาได้หลายรอบ นอกจากนี้หลายจังหวัดในภาคอีสานยังไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ต้องทำนาตามฤดูฝนเท่านั้น ทำนาได้ครั้งเดียว ถ้าข้าวราคา 7 บาท 5 บาทก็คือจบกัน หมายความว่าปีนั้นขาดทุนไปเลย

ยิ่งชาวนาที่ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าทำนาด้วยยิ่งน่าสงสาร เพราะต้นทุนจะเพิ่มอีก การทำนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ชาวอีสานจึงไม่ค่อยพอใจนโยบายเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ในการดูแลราคาพืชผลทางการเกษตรและราคาข้าว

ส่วนเรื่องการเมืองก็สัมพันธ์กัน เนื่องจากการเมืองแบบนี้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ปิดกั้นการรวมกลุ่มเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในทางการเมือง ถ้าเป็นบรรยากาศประชาธิปไตยปรกติก็สามารถส่งเสียงให้ผู้ปกครองหรือผู้กำหนดนโยบายจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่มาแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ แต่วันนี้โดนปิดกั้นไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆได้เลย ปิดช่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ปัญหาของชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนจึงไม่พอใจ น่าจะมีช่องทางให้ประชาชนได้ส่งเสียงเพื่อบอกกล่าวผู้มีอำนาจให้มาดูแลความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ

ขณะนี้คนอีสานเฝ้ารอที่จะให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 ตามโรดแม็พที่ประกาศไว้อย่างใจจดใจจ่อ อยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยไม่มีการวางเงื่อนไขอะไรอีก แต่ผมก็ยังกังวลว่าอาจมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ ผมอยากให้เป็นไปตามโรดแม็พ ประชาชนชาวอีสานเองก็หวังอย่างนั้น อยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว จะได้ใช้อำนาจในฐานะประชาชนพลเมืองของรัฐไทยในการกำหนดทิศทางของประเทศ โดยการใช้สิทธิของตัวเองที่มีอยู่ 1 สิทธิ 1 เสียง บอกผู้มีอำนาจว่าเขาต้องการผู้นำแบบไหน

สิ่งที่ผมกังวลคือ ถ้าการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปก็จะสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมือง จะเพราะความไม่พร้อม หรือเรื่องข้อกฎหมายที่มีปัญหาถกเถียงกัน กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งกลไกต่างๆของภาครัฐ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรสำคัญที่จะบอกว่าพร้อมหรือไม่ในการเลือกตั้งปลายปี 2560 ซึ่งตรงนี้เป็นข้อกังวลใจ เพราะขณะนี้หลายฝ่ายอยู่ในสภาพที่อึดอัดมาก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ บรรดานายทุน ผู้ส่งออก ธุรกิจค้าขาย การบริการต่างๆ เริ่มอึดอัดกับการบริหารประเทศในสภาวะเช่นนี้ อยากให้กลับสู่บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

ถ้าปลายปี 2560 ไม่มีการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลประกาศไว้ และรัฐบาล คสช. ยังใช้มาตรา 44 เป็นเครื่องมือในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ก็จะยังไม่มีใครกล้าออกมาเคลื่อนไหว แต่การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป รัฐบาล คสช. ต้องมีคำตอบที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายว่าทำไมจึงเลื่อน เชื่อว่าจะเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ เป็นประเด็นสำคัญที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการสืบทอดอำนาจ หรือเป็นการประวิงเวลาเพื่อผลประโยชน์อะไรหรือไม่ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาก็มักจะหาเหตุมาอ้างได้เสมอว่ามีความจำเป็น

“บิ๊กตู่” จะเป็นนายกฯคนนอก

ผมคิดว่าประชาชนคงรับไม่ได้ กลุ่มนักการเมืองจากหลายพรรคก็คงรับไม่ได้เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ หลายพรรคก็รับไม่ได้ เพราะจะเป็นการชัดเจนเรื่องการสืบทอดอำนาจ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯคนนอกจริงๆ ผมคิดว่าจะมีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรุนแรงแน่นอน แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จงใจร่างเพื่อเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ก็ตาม

ถ้ามองในภาคสังคมก็ต้องดูว่าสังคมยอมรับได้หรือไม่ เขาคงอ้างว่ามาอย่างถูกต้อง มาอย่างถูกกฎหมาย มาตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีประเด็นให้ถกเถียงกันอยู่ดีเรื่องการสืบทอดอำนาจ เรื่องความสง่างามทางการเมือง อาจจะยกเรื่องผลงานที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นข้ออ้าง แต่หลายอย่างที่รัฐบาลบริหารก็ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความปรองดอง เรื่องความแตกแยกทางการเมือง ล้วนไม่ประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกจริงๆ ผมกลัวว่าจะเหมือนหรือคล้ายๆเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดก็อยู่ที่ผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นตัวชี้วัดความพอใจหรือไม่พอใจของกลุ่มต่างๆที่จะกดดัน พล.อ.ประยุทธ์


You must be logged in to post a comment Login