วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

คนป่ายังรู้ค่าการสร้างคุณธรรม / โดย บรรจง บินกาซัน

On November 1, 2016

คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

เส้นทางชีวิตของมนุษย์ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทาง บางครั้งบนเส้นทางชีวิตจะมีอุปสรรคสารพัดขัดขวางอยู่เพื่อที่มนุษย์จะได้ฝ่าฟันหรือเอาชนะเพื่อไปสู่จุดหมายและพิสูจน์คุณภาพของตนเอง หากปราศจากคุณธรรมที่เรียกว่า “ความอดทน” ก็ยากที่มนุษย์จะฝ่าฟันอุปสรรคจนบรรลุถึงจุดหมาย ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคนจึงต้องมีคุณธรรมความอดทนนี้เป็นพื้นฐานของชีวิต

แต่ความอดทนมิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง จำเป็นต้องมีการสร้างหรือการปลูกฝังตั้งแต่เด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต แม้แต่คนป่าก็รู้ถึงคุณค่าของคุณธรรมแห่งความอดทนในการใช้ชีวิตท่ามกลางป่าดงดิบเป็นอย่างดี

เมื่อเด็กผู้ชายอายุ 10 ขวบซึ่งเป็นวัยที่จะเป็นผู้ใหญ่ ชนเผ่าหนึ่งในป่าอะเมซอนจะทำพิธีปลูกฝังคุณธรรมแห่งความอดทนให้เด็ก โดยการที่ผู้ใหญ่จะไปจับมดตัวใหญ่สายพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า “มดกระสุน” ตัวเป็นๆประมาณ 200 ตัว ใส่กระบอกไม้ไผ่ไว้ มดชนิดนี้ถูกเรียกว่า “มดกระสุน” เพราะเหล็กในของมันสร้างความเจ็บปวดได้ถึงใจ เมื่อจับมดมาได้แล้ว มดจะถูกทำให้สลบประมาณครึ่งชั่วโมง โดยการนำไปแช่ในน้ำสมุนไพรที่เรียกว่า “ใบข่า”

ระหว่างที่มดสลบอยู่นั้นมันจะถูกนำไปหนีบไว้บนปลอกแขน 2 อันที่สานด้วยไม้ไผ่ โดยหัวของมดจะอยู่ด้านนอกปลอกแขน ส่วนท้องที่มีเหล็กในจะอยู่ด้านในข้างละ 100 ตัว

เช้าวันทำพิธีเด็กจะถูกนำไปอาบน้ำทั่วทั้งตัว และจะมีคนนำสีมาทาตัวเป็นเครื่องหมายของนักรบประจำเผ่าเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและให้เด็กภูมิใจ หลังจากนั้นปลอกแขน 2 ข้างที่ถูกมดกระสุนติดไว้จะถูกนำมาสวมในแขน 2 ข้างของเด็ก เพื่อให้มดใช้เหล็กในต่อยแขนเด็ก ถ้าเด็กคนใดร้องเพราะทนความเจ็บปวดไม่ได้ พิธีทดสอบความอดทนเด็กจะถูกยกเลิกและต้องทำพิธีใหม่อีกครั้ง ถ้าเด็กคนใดไม่ผ่านพิธีกรรมนี้ก็ถือว่าเด็กคนนั้นไม่ได้รับเกียรติแห่งความเป็นนักรบของเผ่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และจะไม่ได้รับความสนใจจากหญิงสาวในเผ่า

พิธีกรรมสร้างความอดทนเพื่อเตรียมตัวเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาในอนาคตนี้ทำให้ผมนึกถึงหลักสูตรการฝึกนักทำลายใต้น้ำที่แสนทรหดปางตายเพื่อคัดทหารหาญของกองทัพไทย ใครผ่านหลักสูตรนี้มาได้ก็จะได้ติดเครื่องหมาย “ฉลามขาว” เพื่อเป็นเกียรติและบ่งบอกถึงคุณสมบัติแห่งความทรหดอดทนของทหารผู้นั้น

คุณธรรมอีกประการหนึ่งที่อยู่คู่กับความอดทนก็คือความอดกลั้น เพราะในชีวิตจริงมนุษย์จะเผชิญกับแรงกดดันและแรงดึงหรือสิ่งเย้ายวนให้มนุษย์ทำผิดบาป ถ้าหากมนุษย์ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันและไม่มีความอดกลั้นต่อสิ่งเย้ายวนแล้ว มนุษย์ก็สามารถทำผิดได้สารพัด

ในอิสลามการถือศีลอดมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อให้ผู้ถือศีลอดเกิดความยำเกรงพระเจ้า รู้จักยับยั้งชั่งใจละเว้นจากการกินการดื่มซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ เพื่อจะได้รับบทเรียนว่าของจำเป็นในชีวิต เช่น ข้าวปลาอาหารและน้ำ ยังละเว้นได้โดยตัวเอง แล้วทำไมสิ่งที่ไม่จำเป็นเช่นอบายมุขเราจะละเว้นไม่ได้

ในญี่ปุ่นเด็กนักเรียนได้รับการฝึกความทรหดอดทนและระเบียบวินัยตั้งแต่อยู่ในชั้นอนุบาล คนญี่ปุ่นจึงสามารถเจริญก้าวหน้าได้ ทั้งๆที่ญี่ปุ่นมีทรัพยากรธรรมชาติน้อยมากและมีภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย คุณธรรมแห่งความอดทนไม่สามารถปลูกฝังโดยการเขียนบนกระดานหรือโดยการบรรยาย แต่ต้องเกิดขึ้นจากการฝึกด้วยการปฏิบัติจริง

การศึกษาไทยละทิ้งความสำคัญด้านคุณธรรมมานานแล้ว แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จะระบุไว้เป็นครั้งแรกว่ารัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาให้คนไทยมีความรู้ควบคู่คุณธรรม และมีพระราชบัญญัติการศึกษาออกมารองรับรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่จนถึงทุกวันนี้เด็กไทยยังไม่ได้รับการปลูกฝังด้านคุณธรรมอย่างจริงจัง เพราะนักการศึกษาไทยมุ่งเน้นความเจริญทางวัตถุเพื่อให้ทันตะวันตก โดยไม่คำนึงถึงมิติทางจิตวิญญาณที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต

ทุกวันนี้เด็กไทยจึงไม่เพียงไม่สู้งานหนักเท่านั้น แต่ยังรังเกียจงานหนัก และคิดจะรวยเร็วทางลัดด้วยการค้ายาเสพติดและเล่นการพนัน


You must be logged in to post a comment Login