วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

นิยายสงครามโลกครั้งที่ 3 / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On October 24, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการกระจายข่าวอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 กำลังจะเกิดขึ้น เช่น ข่าวว่าสหรัฐปรับระดับการเตือนภัยสงครามไปอยู่ในระดับที่ตึงเครียด เตรียมพร้อมรบในสงครามนิวเคลียร์กับรัสเซีย

อีกด้านหนึ่งก็มีข่าวว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศต่อสหรัฐว่า “ถ้าสหรัฐต้องการสงคราม เราก็พร้อมจะทำสงครามทุกที่” ทั้งยังมีการนำเสนอว่า รัฐบาลรัสเซียได้สั่งการให้ประชาชนตระเตรียมกรณีจะเกิดสงครามนิวเคลียร์แล้ว และมีแหล่งข่าวหนึ่งเสนอว่า จีนพร้อมจะร่วมมือกับรัสเซียและมีการเตรียมรับสงครามนิวเคลียร์เช่นกัน

ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจที่เพิ่มทวีขึ้นมีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะมักจะมีการอธิบายกันว่าสหรัฐและรัสเซียขัดแย้งกันหนักจากการสนับสนุนคนละฝ่ายในสงครามซีเรีย ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า มี 30 ประเทศที่พร้อมจะสนับสนุนรัสเซียหากเกิดสงคราม กรณีนี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อสื่อกระแสหลักของไทย เช่น ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 16 ตุลาคม ออกข่าวพาดหัวว่า “ซีเรียชนวนระเบิด เตือนสงครามโลกเกิดขึ้นได้ภายใน 30 วัน” และข่าวลักษณะนี้มีการแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง

การสร้างกระแสนี้ได้สร้างความตระหนกตื่นเต้นกับประชาชนไม่น้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตหลังยุคสงครามเย็น เพราะถ้าเกิดสงครามระหว่างมหาอำนาจ โลกทั้งหมดคงจะล่มสลายจากมหาประเทศทั้งสามคือ สหรัฐ รัสเซีย และจีน ที่ต่างมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ในประวัติศาสตร์การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เพิ่งมีเพียง 2 ลูก ที่สหรัฐถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเห็นภาพของความเสียหายเหลือคณานับและเป็นบทเรียนสำคัญมาถึงปัจจุบัน

เมื่อตรวจสอบข่าวที่นำเสนอแล้ว โดยมากจะอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ชัดเจนจากสำนักข่าวที่ไม่คุ้นเคย หรืออ้างจากหนังสือพิมพ์ประเภทแทบลอยด์ในโลกตะวันตก แต่ไม่เคยปรากฏท่าทีอย่างเป็นทางการทั้งรัฐบาลสหรัฐ รัสเซีย หรือจีน ยิ่งกว่านั้นเนื้อข่าวก็เป็นเพียงข้อวิเคราะห์ทางการเมืองที่ขัดกับข้อเท็จจริง เช่น รายชื่อ 30 ประเทศที่อ้างว่าพร้อมยืนข้างรัสเซีย มีชื่อจีนและไต้หวัน ชื่อสิงคโปร์ ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้

ย้อนกลับไปยุคสงครามเย็นที่สหรัฐในฐานะผู้นำฝ่ายโลกเสรีเป็นปฏิปักษ์กับสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ มีการเผชิญหน้าด้านกำลังอาวุธ สงครามโฆษณาชวนเชื่อและสงครามตัวแทน จนวิตกเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3 หลายครั้ง โดยเฉพาะทราบกันดีว่าสหรัฐและอังกฤษเคยพิจารณาหลายแผนการในการโจมตีสหภาพโซเวียตตั้งแต่ระยะต้นสงครามเย็น แต่ก็ไม่มีการดำเนินการจริง เพราะไม่อาจประเมินศักยภาพในการตอบโต้และผลเสียหายได้

ยิ่งต่อมาฝ่ายสหภาพโซเวียตผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้เช่นกัน ทำให้แผนการโจมตีเป็นไปได้ยาก นโยบายที่ใช้จริงคือ การสกัดกั้น (containment policy) และการสร้างพันธมิตรเพื่อการปิดล้อมโซเวียต ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจัดตั้งสนธิสัญญานาโต้ ซึ่งเป็นองค์กรสนธิสัญญาทางการทหารระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรตะวันตก เพื่อยับยั้งการคุกคามของโซเวียต

เหตุการณ์รุนแรงแรกสุดในสมัยสงครามเย็นคือ สงครามเกาหลีเมื่อ พ.ศ. 2493-2496 เป็นสงครามแรกและสงครามเดียวที่สหรัฐและตะวันตกสู้กับกองทัพจีนที่มีโซเวียตสนับสนุน เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศหลายครั้ง แต่ในที่สุดสงครามเกาหลีก็ยุติด้วยการเจรจาสันติภาพ วิกฤตการณ์สงครามจึงผ่อนคลายลง

เหตุการณ์รุนแรงที่ใกล้สงครามมหาประเทศที่สุดคือ วิกฤตการณ์คิวบา พ.ศ. 2505 สืบเนื่องจากโซเวียตนำขีปนาวุธนิวเคลียร์มาติดตั้งในคิวบา วันที่ 15 ตุลาคม ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ แห่งสหรัฐ ใช้ปฏิบัติการทางทหารปิดล้อมคิวบาแล้วยื่นคำขาดให้โซเวียตถอนขีปนาวุธทั้งหมด สถานการณ์โลกตึงเครียดอย่างที่สุด และนำความวิตกว่าจะเกิดสงครามเต็มรูปแบบของ 2 มหาอำนาจ ในที่สุดโซเวียตยอมผ่อนปรน ในวันที่ 28 ตุลาคม ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลง โดยโซเวียตยอมถอนขีปนาวุธนิวเคลียร์จากคิวบา และสหรัฐเลิกปิดล้อมทางทะเล สถานการณ์จึงผ่อนคลาย เป็นที่ทราบกันดีว่า เหตุการณ์นี้นำมาสู่การปลดนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียต ในปีต่อมา

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลซึ่งเรียกว่า “สงครามยมคิปปูร์” ฝ่ายอาหรับนำโดยอียิปต์ได้รับชัยชนะช่วงต้น ต่อมาอิสราเอลสามารถยับยั้งการบุกของฝ่ายอาหรับได้ ขณะนั้นสถานการณ์ระหว่างสหรัฐกับโซเวียตซึ่งสนับสนุนคนละฝ่ายตึงเครียดอย่างมาก ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสั่งเตรียมพร้อม แต่เหตุการณ์ก็คลี่คลายด้วยการประกาศหยุดยิงวันที่ 26 ตุลาคม

หลังจากโซเวียตบุกอัฟกานิสถานในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและโซเวียตก็หมางเมินอีกครั้ง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2526 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เสนอโครงการยุทธวิธีป้องกันล่วงหน้า (The Strategic Defense Initiative – SDI) เป็นโครงการติดตั้งขีปนาวุธในอวกาศเพื่อยิงทำลายล่วงหน้ากรณีที่จะเกิดการโจมตีจากโซเวียต โดยฝ่ายโซเวียตเห็นว่าเป็นการคุกคามความมั่นคง เพราะเปิดทางให้โซเวียตถูกโจมตีได้ทุกจุด

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดดังกล่าวก็ลดลงหมดหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อ พ.ศ. 2532 พร้อมกับการยุติสงครามเย็น ทำให้โลกอยู่ในภาวะปลอดภัยจากสงครามใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนเป็นการแข่งขันทางการค้าและการลงทุน แม้จะเกิดปัญหาสงครามเฉพาะแห่ง เช่นในซีเรีย แต่ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่มหาประเทศจะทำลายบรรยากาศตลาดโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันแล้วเปิดฉากทำสงครามล้างโลกกัน

พูดใหม่ว่า ข่าวลือสงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นได้เพียงพล็อตเรื่องของนวนิยายแฟนตาซีเรื่องหนึ่งเท่านั้น หรือถ้าเกิดขึ้นจริงก็ต้องช่างมัน เพราะจะไม่มีใครได้อยู่ดูผลของสงครามแน่


You must be logged in to post a comment Login