วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

แนวโน้มการเงินในอนาคต / โดย บรรจง บินกาซัน

On October 17, 2016

คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ถ้าใครนำเงินไปฝากธนาคารจะได้เห็นพนักงานเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 2 ตัว นั่นคือ ประกันชีวิตและกองทุน เพราะธนาคารต้องการได้เงินค่าคอมมิชชั่นจากการขายเป็นรายได้ และต้องการให้ลูกค้าที่มีเงินฝากนำเงินไปลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงแทนที่จะฝากเพื่อเอาดอกเบี้ยจากธนาคาร

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นก่อนปี พ.ศ. 2540 เพราะก่อนหน้านั้นธนาคารมีรายได้หลักจากอัตราดอกเบี้ยที่มีความเสี่ยงน้อยหรือแทบไม่ต้องเสี่ยงเลย แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีปัญหาดอกเบี้ยทั้ง 2 ด้าน เนื่องจากธุรกิจที่อาศัยสินเชื่อธนาคารพังเป็นแถบๆจนไม่สามารถผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่ธนาคารได้ตามปรกติ ในขณะที่ธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากเป็นปรกติแก่ผู้ฝาก

ด้วยเหตุนี้ธนาคารพาณิชย์จึงต้องลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ก่อนหน้านี้เคยให้สูงถึง 8% ลงมาเรื่อยๆเพื่อลดต้นทุน จนกระทั่งปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในอัตรา 1% กว่าๆเท่านั้น

ขณะที่หลายคนมองว่าสภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำคงจะฟื้นตัวในเวลาไม่นาน แต่พอเข้า พ.ศ. 2551 วิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา เจ้าพ่อทุนนิยม ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบไปด้วย ภาวะตกต่ำจึงลากยาวมาจนถึงปัจจุบันและยากที่จะฟื้นตัวกลับมารุ่งเรืองเหมือนในอดีต ยิ่งมีการปฏิวัติทางดิจิตอลที่ทำให้ธุรกิจหลายอย่างที่อาศัยเงินกู้จากธนาคารต้องทยอยปิดตัวลง ยิ่งส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยที่ธนาคารเคยได้รับลดน้อยลงไปอีก

ด้วยเหตุนี้ธนาคารพาณิชย์จึงหันมาเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งทำให้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นหมายความว่าค่าธรรมเนียมสามารถเป็นแหล่งรายได้ของธนาคารและเป็นรายได้ที่ยุติธรรมด้วย เพราะใครใช้บริการของธนาคาร คนนั้นก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบริการ

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยเงินฝากที่ถึงแม้จะมีอัตราต่ำไม่ถึง 2% ก็ยังเป็นภาระที่ต้องจ่ายอยู่ดี ครั้นจะไม่ให้ดอกเบี้ยเงินฝาก หากคนแห่มาถอนเงินธนาคารก็จะลำบาก จึงต้องประคองอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำไว้และหันไปหารายได้จากแหล่งอื่นๆแทน นั่นคือ การขายกรมธรรม์ประกันชีวิตและกองทุนต่างๆ

บริษัทประกันชีวิตถือเป็นสถาบันการเงินอย่างหนึ่งซึ่งมีกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นสัญญาฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนเมื่อสัญญากรมธรรม์สิ้นสุด การขายกรมธรรม์ประกันชีวิตทำให้ธนาคารมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการซื้อขายสามารถเป็นช่องทางหนึ่งในการแสวงหารายได้ของธนาคาร

กองทุนต่างๆที่ธนาคารจัดตั้งขึ้นมาเสนอให้คนซื้อก็เป็นการเบนความสนใจให้คนเอาเงินไปลงทุนโดยยอมรับความเสี่ยง การลงทุนในกองทุนจึงอาจมีทั้งกำไรและขาดทุน ซึ่งผู้ลงทุนต้องยอมรับ นี่คือความยุติธรรมที่นักลงทุนยอมรับได้

วิธีการร่วมลงทุนโดยซื้อหน่วยลงทุนที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับความเสี่ยงในการขาดทุนและแบ่งผลกำไรร่วมกันนี้เป็นที่ปฏิบัติกันมานานแล้ว และเป็นสิ่งที่ระบบธนาคารอิสลามนำเสนอว่าเป็นกลไกในการแสวงหารายได้อย่างหนึ่ง ซึ่งหากนำไปใช้ในการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยและอบายมุขโดยบริหารอย่างซื่อสัตย์แล้วสามารถได้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยด้วยซ้ำ

กองทุนต่างๆที่ธนาคารเปิดขึ้นจึงช่วยลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร และเป็นการทำให้ผู้ลงทุนหันมาร่วมลงทุนกับธนาคารโดยรับความเสี่ยงร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปของเงินปันผลที่คิดจากฐานกำไร ในขณะที่ดอกเบี้ยคิดจากเงินต้นโดยที่ผู้ฝากไม่มีความเสี่ยงเลย

ปัจจุบันธนาคารมีแนวโน้มว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระดับต่ำใกล้ศูนย์หรืออาจเป็นศูนย์ เพื่อให้คนเอาเงินไปร่วมลงทุนเพื่อหารายได้โดยรับความเสี่ยงร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความยุติธรรมที่นักธุรกิจและนักลงทุนยอมรับ

กลไกการเงินที่แสวงหารายได้ที่ระบบธนาคารอิสลามนำเสนอนี้เป็นระบบที่นอกจากจะยุติธรรมแล้ว ยังเป็นระบบที่รักษาตัวธนาคารไว้ไม่ให้ล้มถ้าไม่มีการทุจริตจากข้างใน


You must be logged in to post a comment Login