วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

เจตนารมณ์ใคร? / โดย ลอย ลมบน

On October 10, 2016

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

ผลจากที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ที่มีคำวินิจฉัยตีกลับร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาที่เกี่ยวข้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เกี่ยวกับขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี

ประเด็นที่ให้ปรับแก้คือ ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภายกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนำเสนอ แต่ยังคงไม่ให้อำนาจการเสนอชื่อคนเป็นนายกฯให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือก

พูดให้เข้าใจง่ายๆคือ ส.ว. มีอำนาจเสนอให้เลือกคนนอกบัญชีพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มีอำนาจร่วมลงมติเลือกได้ แต่ไม่มีอำนาจเสนอชื่อคนจะเป็นนายกฯต่อที่ประชุมสภา

อำนาจของ ส.ว. จะมีไปตลอด 5 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มมีรัฐสภาชุดแรกหลังการเลือกตั้ง

ประเด็นนี้ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการปูทางสืบทอดอำนาจหรือไม่ เพราะเป็นการเปิดช่องให้เสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการลดจำนวนเสียงสนับสนุนให้เปิดทางเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส. ลดเหลือเพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.)

แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าการเสนอคนนอกเป็นนายกฯจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้ซึ่งเป็นสเต็ปแรก ส่วนการเสนอให้ที่ประชุมงดเว้นเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองเป็นสเต็ปที่สองที่จะตามมา

นอกจากนี้ยังมีคำชี้แจงด้วยว่าแม้ที่ประชุมจะโหวตให้เสนอชื่อคนนอกให้ที่ประชุมเลือกเป็นนายกฯได้ แต่อำนาจการเสนอชื่อก็ยังเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ ส.ส. จะเสนอชื่อคนนอกให้ที่ประชุมเลือกเป็นนายกฯ

ประเด็นนี้ถูกโต้แย้งว่า ส.ว. มี 250 คน ขณะที่ ส.ส. มี 500 คน ซึ่งไม่มีความเป็นปึกแผ่นแบบเดียวกับ ส.ว. เพราะต่างพรรคต่างพวก หาก ส.ว. ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยกมือเลือกคนจากบัญชีชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกฯก็เป็นเรื่องยากที่จะได้คนจากพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี

เสียงของ ส.ว. ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาจึงสามารถกำหนดผลเลือกนายกฯได้

หากเลือกนายกฯไม่ได้ก็ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ที่สามารถสั่งยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้

นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมานั้นไม่มีใครอยากลงเลือกตั้งบ่อย เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องเหนื่อยกับการหาเสียง

อำนาจมาตรา 44 ที่สามารถสั่งยุบสภาได้จึงเป็นเสมือนเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะช่วยทำให้การต่อรองทางการเมืองเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาและตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเป็นไปได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผู้สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันออกมาเรียกร้องประชาชนว่าอย่าเลือกคนจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่เป็น ส.ส. หากไม่อยากให้เกิดปัญหาหลังการเลือกตั้ง

ดังนั้น โอกาสที่จะได้คนนอกเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งนั้นจึงเป็นไปได้มาก หากพิจารณาจากจำนวนเสียงที่ใช้สนับสนุนให้ที่ประชุมงดเว้นเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองที่ลดลงจาก 2 ใน 3 ของ ส.ส. มาเป็นกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน

ถ้ามีเสียงโหวตสนับสนุนให้เลือกคนนอกบัญชีพรรคการเมืองเป็นนายกฯได้เกินกึ่งหนึ่ง

หมายความว่าเสียงที่โหวตให้เปิดประตูรับคนนอกพร้อมที่จะโหวตเลือกคนนอกนั่งเก้าอี้นายกฯอยู่แล้ว หากไม่อยากเลือกคนนอกเป็นนายกฯจะโหวตช่วยกันเปิดประตูให้เสนอชื่อคนนอกทำไม

ย้อนกลับไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าให้แก้ไขเพราะต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการลงประชามติของประชาชนที่ให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯได้

ก็มีคำถามเหมือนกันว่า คำถามพ่วงที่ใช้ถามประชาชนในการลงประชามตินั้นถามเพียงว่าเห็นด้วยกับการให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯช่วง 5 ปีแรกหรือไม่ ไม่ได้ถามว่าเห็นด้วยกับการให้ ส.ว. มีอำนาจเสนอและร่วมโหวตให้ที่ประชุมรัฐสภางดเว้นการเลือกคนจากบัญชีพรรคการเมืองเป็นนายกฯหรือไม่

อะไรทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจว่าประชาชนมีเจตนารมณ์ให้ ส.ว. สามารถเสนองดเว้นเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าในการเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องเสนอชื่อคนที่จะสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนรับทราบ

เจตนารมณ์ของข้อกำหนดนี้น่าจะต้องการให้ประชาชนได้ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่าจะสนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ให้เลือก ส.ส. จากพรรคการเมืองนั้น เพื่อให้ ส.ส. ไปโหวตเลือกในสภาอีกชั้นหนึ่ง

จึงมีคำถามว่า “คนนอก” บัญชีพรรคการเมืองที่จะถูกเสนอให้ชิงตำแหน่งนายกฯกรณีที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถเลือกคนจากบัญชีพรรคการเมืองเป็นนายกฯได้ มาตามเจตนารมณ์หรือความต้องการของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่

ถ้าจะยึดตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าพรรคไหนชนะเลือกตั้งแสดงว่าประชาชนได้แสดงความจำนงของตัวเองชัดเจนแล้วว่าต้องการคนในบัญชีชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

“คนนอก”มาจากไหน อยู่ๆจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่ไม่เคยเสนอตัวให้ประชาชนเลือกด้วยซ้ำ

จึงมีคำถามให้ชวนคิดและน่าสงสัยว่า การเปิดช่องให้ “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้นต้องการสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งหรือต้องการสนองเจตนารมณ์ของใคร?


You must be logged in to post a comment Login