วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

ไม่ถึงจุดเปลี่ยน?

On October 10, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ทิศทางการเมืองสัปดาห์นี้ ต้นสัปดาห์วันที่ 11 ตุลาคม 2559 ครบกำหนดที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ผ่านการปรับแก้ตามคำแนะของศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้ถึงมือของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

จากนี้อีกไม่นานหากโปรดเกล้าฯลงมา รัฐธรรมนูญใหม่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่อำนาจต่างๆของหัวหน้า คสช.ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะยังมีต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

อำนาจที่ว่ารวมถึงอำนาจตามมาตรา 44 ที่ยังใช้ได้ตามปรกติ แม้จะมีคนติงว่าเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว ตามมารยาทการใช้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญใหม่ควรจะลดน้อยลง หรือไม่ใช้เลยยิ่งดี

โดยเฉพาะอำนาจออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาจากการเลือกตั้งหากมีปัญหาไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่ไปใช้อำนาจยุบสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่น่าจะเหมาะสม

ถัดจากเรื่องรัฐธรรมนูญสัปดาห์นี้ยังต้องติดตามต่อกับทริปฮาวายหรรษาของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าจะมีใครเปิดประเด็นอะไรใหม่ๆเพิ่มเติมอีกหรือไม่

แต่ดูตามหน้าเสื่อแล้วเรื่องนี้ดูท่ามีแนวโน้มจะค่อยๆเงียบไปเหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จะเงียบอย่างที่ต้องการ แต่ก็ได้ฝากรอยช้ำเอาไว้ให้กับรัฐบาลทหาร คสช.มากพอสมควร

นอกจากนี้ยังมีเรื่องกักตัว นายโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง ที่ทางการไทยไม่ยอมให้เข้าร่วมงานรำลึก 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งกรณีนี้น่าจะเป็นกระแสไปถึงงานระลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ในวันที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเคว้งคว้าง คำกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การเมืองของคนรุ่นใหม่” ผ่านระบบสไกป์ ของนายโจชัว หว่อง สามารถปลุกจิตวิญาณการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

นายโจชัว หว่อง บอกเล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้ที่เริ่มต้นในปี 2012 จนมาถึงการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่มีตัวแทนพรรคเดโมซิสโต ของคนรุ่นใหม่ชนะเลือกตั้ง ได้ 1 ที่นั่งในสภา การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่มีใครรู้ว่านานแค่ไหน แต่ต้องอดทนและไม่ย่อท้อ

คำกล่าวของนักต่อสู้รุ่นใหม่จากฮ่องกงคงเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจนักต่อสู่เพื่อประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่พักหลังบทบาทการเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มลดน้อยลง

สรุปทิศทางการเมืองสัปดาห์นี้ เรื่องทริปฮาวายหรรษาจะเบาบางลงหากไม่มีประเด็นใหม่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมา โรดแม็ปเดินสู่การเลือกตั้ง การออกกฎหมายลูกน่าจะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ถูกส่งถึงมือ “บิ๊กตู่”

สุดท้ายการพูดถึงความรุนแรงทางการเมือง การสรุปบทเรียนในอดีตและบรรยากาศของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะถูกต่อยอดจากงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา มาถึงงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งคงปลุกเลือดนักสู้ในหัวใจใครหลายคนให้คุกรุ่นขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่คงไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรมากไปกว่านี้

ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร คสช.ใช้หลักอดทนรอ ถ้ามีแผลอะไรก็ตอกย้ำสะกิดให้อักเสบระบมไปเรื่อยๆ ไม่ยอมให้แผลแห้งตกสะเก็ด ทำลายความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ

ถ้าไม่มีอะไรเป็นประเด็นใหญ่พอที่จะใช้เปลี่ยนแปลงได้ก็รอไปจนถึงวันเลือกตั้ง

รอดูอีกทีก็วันนัดหมายชุมนุมปิดล้อมทำเนียบของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินช่วงสิ้นเดือนว่าจะเป็นชนวนให้เกิดความเคลื่อนไหวใหญ่โดยใช้ประเด็นอื่นๆขยายแนวร่วมได้หรือไม่


You must be logged in to post a comment Login