วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ผู้มีอำนาจต้องมีธรรมาภิบาล / โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

On September 26, 2016

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

การเมืองและผลงานรัฐบาล คสช.

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แสดงให้เห็นว่าเราคงจะต้องเดินไปตามบริบทที่เขากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งคำถามพ่วงที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการสรรหา 250 คน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าบอกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดโรดแม็พไว้แล้วว่าช่วงเดือนธันวาคม 2560 จะมีการเลือกตั้งทั่วไป แสดงว่าพร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้ง เพราะประชาชนและต่างประเทศกำลังมองประเทศไทยว่ารัฐบาลจะทำตามคำพูดหรือไม่

ผมคิดว่ารัฐบาลทำโพลต่างๆออกมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าความนิยมชมชอบของประชาชนต่อรัฐบาลในขณะนี้เป็นผลบวกแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรนอกเหนือจากโรดแม็พที่กำหนดไว้ ทำให้รัฐบาลมีความชอบที่จะบริหารประเทศในช่วงนี้ภายใต้การสนับสนุนของประชาชน ซึ่งผลงานของรัฐบาลขณะนี้ โดยเฉพาะการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน เขาต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่คุณจะชี้อะไรไปก็ตาม คุณจะต้องยืนในหลักการที่สามารถตอบสังคมได้ว่ามีการตีกรอบ มีการทำงานโดยไม่แบ่งกลุ่ม ตรงนี้ต้องมีความชัดเจนภายใต้กฎหมาย

ยกตัวอย่างเรื่องที่ดิน การทวงคืนต่างๆ อันนี้เห็นชัด เรื่องการจัดระเบียบต่างๆในสังคม เช่น หาบเร่แผงลอยต่างๆ อันนี้ก็ถือเป็นผลงานที่เห็นชัด แต่ที่ไม่ชัดเจนคือเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ แม้กระทั่งการปราบยาเสพติดและการพนัน อบายมุขต่างๆ ผมคิดว่ายิ่งปราบยิ่งเยอะขึ้น ทำไมปราบไม่หมดสักที รัฐบาลมีมาตรา 44 แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด นี่เป็นสิ่งที่น่าคิด

ส่วนเรื่องการใช้อำนาจในการโยกย้าย การปรับเปลี่ยนตำแหน่งต่างๆ ผมมองว่ารัฐบาลทำได้ แต่ต้องตอบคำถามสังคมได้ว่าคนหรือบุคคลต่างๆที่โยกย้ายเปลี่ยนแปลงนั้นมีตำแหน่งชัดเจน แต่ทำไมที่มาที่ไปของบุคคลต่างๆจึงเป็นกลุ่มในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรงนี้เป็นเรื่องความเชื่อถือ เรื่องของธรรมาภิบาลที่รัฐบาลต้องตอบสังคมได้

เรื่องการสร้างความปรองดองผมมองว่าต้องใช้เวลา ไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้ขึ้นมาแล้วจะเกิดความปรองดอง อย่าลืมว่ารัฐบาลมาจากการรัฐประหาร เมื่อได้อำนาจมาโดยยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ช่วงที่ทำรัฐประหารจะไม่มีใครต่อต้าน แต่เมื่ออยู่ไปแล้วก็ต้องมีคำตอบว่า ทำไมคนนี้ต้องมานั่งอยู่ตรงนี้ ทำไมคนนั้นกลับไปนั่งอยู่ตรงโน้น เป็นกลไกการบริหารประเทศก็จริง แต่รัฐบาลต้องตอบสังคมเรื่องความเสมอภาค ความยุติธรรม ถ้าตอบสังคมได้ความปรองดองก็จะเกิด แต่ที่ขณะนี้ยังไม่ปรองดองเพราะปัญหาเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน ความเสมอภาค ความยุติธรรม จะเกิดได้จากความรู้สึกที่ตรงกัน เมื่อตรงกันการทะเลาะเบาะแว้งในอนาคตก็จะลดน้อยลง

แต่ของเรามันแตกแยก ร้าวฉานมานานพอสมควร เนื่องจากความไม่ชัดเจนของผู้หลักผู้ใหญ่ในการตัดสินใจ ไม่ใช้หลักธรรมาภิบาลและหลักประชาธิปไตย คนที่สามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในประเทศก็คือผู้บริหาร

ถามว่าผู้บริหารประเทศวันนี้คือรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งต้องทำให้เห็นชัดเจนมากกว่านี้ คืออะไรที่ล่าช้า ที่เป็นปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อกฎหมาย หรือการทะเลาะเบาะแว้ง ต้องหยิบขึ้นมาดู จะพบว่ามีอยู่ 2 สีที่ยังทะเลาะกันคือสีแดงกับสีเหลือง คุณจะทำอย่างไรให้มีความรู้สึกว่าทั้งแดงและเหลืองอยู่ภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับมาตรฐานเดียวกัน ตรงนี้ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถ้าไม่มีมาตรฐานหรือไม่ชัดเจน ทำให้ตายก็ยังทะเลาะเบาะแว้ง และมีโอกาสเกิดความขัดแย้งรอบ 2 ได้ทุกเมื่อ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

มีหลายข้อในมุมมองของนักวิชาการกับนักการเมืองที่เหมือนกัน แทบทุกพรรคการเมืองมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา เช่น เรื่อง ส.ว.จากการแต่งตั้งที่สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ หรือกฎหมายหลายส่วน เช่น ของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องความเสมอภาคในการรักษาพยาบาล เรื่องการศึกษา การเลือกนับถือศาสนา ทุกเรื่องที่เสนอมานั้นรัฐบาลใช้มาตรา 44 ถามว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบางข้อที่ข้อกฎหมายขัดแย้งก็ทำไม่ได้ ถือว่าเป็นโมฆะ

คนที่ทำเรื่องพวกนี้จะต้องดูว่ามันอยู่ตรงไหน อย่างไร เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว กฎหมายลูกหรือกฎหมายที่จะมาบังคับสิ่งต่างๆจะต้องมีความชัดเจน คนที่ร่างรัฐธรรมนูญคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงต้องไปทำกฎหมายลูกให้จบและนำไปสู่การเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องไปจัดการเรื่องวิธีการในส่วนนี้ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

ถ้าไม่ทำให้ตรงกับเจตนารมณ์ก็ต้องมานั่งตีความกันอีก ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด ปัญหาก็จะหมุนไปหมุนมาเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สร้างปัญหาจนกระทั่งบานปลายและทะเลาะขัดแย้งกันก็เพราะความไม่ชัดเจน ตรงนี้ถือเป็นเรื่องอันตราย

ประเด็นที่ผมมองว่าน่าเป็นห่วงคือ เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีกับการชี้ขาดในทุกอย่างที่ต้องไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งเรื่องการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นโยบายต่างๆก็ต้องเป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตเป็นเวลา 20 ปี อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เขาทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งไม่ผิด แต่คุณทำแผนในลักษณะอย่างนี้ คนที่มาจากการเลือกตั้งจะเสนอแนวทางหรือนโยบายอะไรที่ดีที่คิดขึ้นมาไม่ได้ เช่น โครงการรับจำนำข้าวคงไม่ให้เกิดแล้ว หรือเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างๆในอนาคตก็ต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร มีอะไรที่ขัดแย้งหรือไม่กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คงเป็นเรื่องยากลำบากมากที่จะทำ เพราะถ้าขัดแย้งหรือมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งทั้งหมดก็มาจากการแต่งตั้งโดยบุคคลหรือคนกลุ่มเดียวกัน

ขอย้ำว่าเป็นเรื่องยากลำบากหากเราจะมองในบริบทที่ถูกกำหนด เช่นเดียวกับกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง ผู้ที่เกี่ยวข้องที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ผมยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวต้องมีความเสมอภาคเพื่อใช้บังคับแล้วไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะกฎหมายการเลือกตั้งต้องไม่มีเงื่อนไขเอื้อต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือบุคคลที่มาลงสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนที่ กกต. เสนอให้มีการดีเบตบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯก่อนการเลือกตั้งนั้น ปรกติก็มีการดีเบตอยู่แล้ว แต่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ ถ้าจะดีเบตแบบเผชิญหน้ากัน กกต. ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจและมีส่วนในการตั้งคำถาม เช่น เป็นคำถามอย่างไร ประเภทไหน ใครเป็นคนตั้ง การดีเบตทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ เพราะคนที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกฯต้องมีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถที่ต้องตอบประชาชนได้

พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯคนนอกหรือไม่

สมัยหนึ่งที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มาจากนายกฯคนนอกก็เกิดปัญหารุนแรง ถ้าเป็นนายกฯคนนอกที่ประชาชนยอมรับก็อาจไม่มีปัญหาถ้าหากนักการเมือง พรรคการเมืองไม่สามารถตั้งใครได้ แต่ถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลและได้นายกฯก็ไม่ควรจะเข้าไปก้าวล่วง แต่ดูจากการเลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะมีเสียงข้างมากชนะเด็ดขาดเหมือนที่ผ่านมา เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้ง การกำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงการหาเสียงของพรรคการเมือง ผิดแผกแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 หรือฉบับที่ผ่านๆมาแน่นอน

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นนายกฯคนนอกนั้น ผมคิดว่าที่กำหนด ส.ว.สรรหา 250 คน ให้โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเชื่อว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดนี้จะได้เป็น ส.ว. ส่วนใหญ่ จึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกฯอีกสมัยก็มีสูง แต่จะเกิดกระแสต่อต้านหรือไม่นั้น ผมมองตามรัฐธรรมนูญมันเขียนไว้ให้เขามีสิทธิที่จะตั้งได้ รัฐธรรมนูญออกมาอย่างนี้คงไปคว่ำไม่ได้

คนที่จะต่อต้านก็จะถูกถามว่าต่อต้านลักษณะอย่างไร ถ้าบอกว่าต่อต้านเพราะไม่ชอบ ไม่อยากให้เขาเป็น ก็ต้องถามว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมือง นักการเมือง แล้วโหวตกัน ก็คงไปทำอะไรไม่ได้ จะบอกว่าไม่ให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ ต้องดูว่าเสียงพอมั้ย แล้วมีคนเสนอหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องให้ทุกอย่าง มันก็มีโอกาส ถ้าไม่เปิดช่องก็ไม่มีโอกาส

การเมืองหลังเลือกตั้งปี 2560

ผมประเมินว่าการเมืองสมัยหน้ามีโอกาสและความเป็นไปได้สูงมากที่จะได้รัฐบาลผสม แต่จะผสมกี่พรรคหรือจะผสมในลักษณะอย่างไร เข้าใจว่า 2 ขั้วพรรคการเมืองใหญ่คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยคงยากที่จะมารวมกันได้ ยากมาก ยกเว้นแต่ว่าถ้าจำเป็นต้องรวมก็คงจะในลักษณะที่ว่าไม่อยากให้มีนายกฯคนนอก แต่โดยส่วนตัวผมแล้วคิดว่ายากมาก เพราะ 2 พรรคสู้กันมายาวนานไม่ต่างกับขมิ้นกับปูน ทำให้ 2 พรรคถูกกำหนดให้มาเป็นคู่แข่งขันกันในทางการเมือง

ส่วนที่นักวิชาการออกมาวิเคราะห์ว่า คสช. ได้ล็อบบี้ทุกพรรคการเมืองไว้แล้วในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2560 ยกเว้นพรรคเพื่อไทย จะโดดเดี่ยวพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวนั้น คสช. ก็โดดเดี่ยวเรามาตลอดอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้าเราได้เสียงข้างมาก สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยได้ประมาณ 249 หรือ 250 เสียง ก็เกือบกึ่งหนึ่ง ผมคิดว่าก็มีความชอบที่ทุกคนจะมารวมกันเพื่อจะเป็นรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองต่างๆก็มองว่าการเป็นรัฐบาลง่ายกว่าเป็นฝ่ายค้าน

พรรคเพื่อไทยที่เป็นห่วง ไม่ได้ห่วงที่จะถูกผลักให้ไปเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว เพราะพรรคเพื่อไทยเคยเป็นฝ่ายค้านมาแล้ว ถ้าเสียงที่เราได้ต่ำกว่าน้อยกว่า แต่ถ้าเสียงของเราอยู่ในเกณฑ์สูงก็น่าจะรวมกันเป็นรัฐบาลได้ ผมยืนยันว่าถ้ามีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งออกมาเมื่อไร ทุกพรรคการเมืองก็ต้องมีความพร้อม แต่ถามว่าพร้อมจะลงแข่งเหมือนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งหรือไม่ ครั้งนี้ต่างกัน คือต้องดูว่า กกต. หรือคนที่กำหนดนโยบายจะให้มีความชัดเจนอย่างไร จะให้ประชาชนใช้สิทธิ มีเสรีภาพได้ขนาดไหน รวมถึงผู้สมัครพรรคการเมืองต่างๆสามารถหาเสียงได้ระดับไหน ตรงนี้เป็นสิ่งที่จะต้องมาดูกัน ไม่อย่างนั้นก็จะมีผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครและผลที่จะออกมา

ส่วนกระแสข่าวที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะมาเป็นแม่ทัพนำพรรคเพื่อไทยสู้ศึกการเลือกตั้งนั้น ผมคิดว่าผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยมีหลายคน และมีผลงานมีฝีมือทุกคน รวมถึงคุณหญิงสุดารัตน์ จะพิจารณาใครก็ต้องดูความชัดเจน คุณหญิงสุดารัตน์อาจจะถือธงก็ได้ หากคนในพรรคสนับสนุนเยอะก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ผมขอย้ำว่าจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์หรือใครก็ตามที่จะมาเป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยสู้ศึกการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ก็ต้องมีนโยบายและแนวทางที่ทำให้ประชาชนทั้งประเทศเชื่อมั่นและเกิดความศรัทธา เป็นผู้สมัครเบอร์ 1 ของพรรค เป็นที่ยอมรับและสามารถตอบสนองเรื่องของฐานคะแนน รวมถึงผู้สมัครที่จะลงเลือกตั้งด้วย

มองคดีรับจำนำข้าวอย่างไร

หลายฝ่ายเป็นห่วงอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะถูกยึดทรัพย์จากคดีโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมองว่าการตรวจสอบทุจริตทุกรัฐบาลก็มีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่เมื่อพบว่าใครทุจริตก็ต้องอยู่ภายใต้กระบวนการตรวจสอบ ซึ่งต้องให้เขาพิสูจน์ ต้องให้สามารถชี้แจงหรืออะไรก็ตามบนเงื่อนไขที่ยุติธรรม เที่ยงธรรม ไม่ใส่ร้ายป้ายสี

ไม่ว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์หรือใครก็ตามที่ถูกปรักปรำก็ต้องให้ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ไม่ใช่ด่วนสรุปหรือใช้อำนาจที่ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปรกติมาใช้ อำนาจต่างๆจึงต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม ถูกต้อง ถ้าหากการใช้อำนาจและกฎหมายไม่เป็นธรรม ผมก็ขอบอกว่าจะทำให้เกิดปัญหา ความแตกแยกที่เกิดขึ้นมาตลอดก็เพราะความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม


You must be logged in to post a comment Login