วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

ญี่ปุ่นฮุบใบกระท่อม! / โดย ณ สันมหาพล

On September 19, 2016

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

น่าหดหู่เมื่อเห็นข่าวญี่ปุ่นนำผลงานวิจัย “ใบกระท่อม” ที่ทำร่วมกับคนไทยไปจดสิทธิบัตร สะท้อนให้เห็นความไม่เอาใจใส่ ความไม่เอาไหนและไร้ประสิทธิภาพเรื่องสิทธิบัตรของไทย ทั้งที่เคยเป็นประเทศที่ประกาศว่าคิดใหม่ ทำใหม่ และสร้างสรรค์ อย่างผลงานด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวรรณกรรม ซึ่งมีรูปแบบของตัวเอง

ผลงานวิจัยใบกระท่อมที่ญี่ปุ่นนำไปจดสิทธิบัตรเป็นสมุนไพรที่คนไทยใช้มานานในการบำบัดอาการเหนื่อยล้าขณะทำงาน โดยมีการพูดถึงเรื่องนี้ในเชิงวิชาการตั้งแต่ปี 2475 ที่มีการค้นคว้าของชาวต่างชาติ

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิจัยญี่ปุ่นได้เข้ามาวิจัยร่วมกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยของไทย จนได้ผลการวิจัยชัดเจนจึงนำไปจดสิทธิบัตรที่สหรัฐ

คำถามคือทำไมถึงนำไปจดที่สหรัฐ คำตอบคือ เพราะสหรัฐไม่ได้เป็นประเทศภาคีอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น หากนำทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาประเทศใดไปใช้ประโยชน์ไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้ประเทศนั้นๆ

ผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นจะได้จากใบกระท่อมคือ สิทธิในการต่อยอดการวิจัยกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ที่ได้คือ อนุพันธ์ของสาร Mitragynine ในใบกระท่อมที่เป็นองค์ประกอบของสูตรยา โดยสารที่ผลิตเป็นเม็ด ผง ยาน้ำ ยาพ่น ครีม เจล ฯลฯ รวมทั้งยาที่มีสารชนิดนี้ผสม ซึ่งอาจนำไปใช้กับคนและสัตว์ แต่ยังไม่มีรายละเอียดถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจว่ามากน้อยแค่ไหน

ใครติดตามความเคลื่อนไหวสินค้าเพื่อการผ่อนคลายและสันทนาการ คงดาดได้ว่าญี่ปุ่นจะมีรายได้มหาศาลแค่ไหนในฐานะผู้ผลิตสินค้านี้ในอนาคต ซึ่งเป็นสินค้าที่ทั่วโลกต้องการเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ขณะนี้ เช่น ชา กาแฟ ยาสูบ เบียร์ เหล้า น้ำอัดลม ฯลฯ ซึ่งมนุษย์เสพติดเครื่องดื่มต่างๆเพื่อการผ่อนคลายและสันทนาการทั้งในและนอกเวลาทำงาน ทั้งในร่มและกลางแจ้ง

อย่างชาที่มีถิ่นกำเนิดในจีน กาแฟในตะวันออกกลาง เหล้า-เบียร์ในยุโรป ซึ่งมีราคาแพงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนกาแฟซึ่งต่อมามีการนำไปปลูกในอเมริกาใต้และกลายเป็นเครื่องดื่มแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปสมัยหนึ่ง ทุกเมืองมีร้านกาแฟชั้นดีสำหรับคนชั้นนำเพื่อเป็นสื่อกลางในการพบปะพูดคุยและสังสรรค์

ชาซึ่งอังกฤษนำมาจากจีนและนำไปปลูกจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจค้ำจุนอาณานิคมในอินเดีย ส่วนยาสูบถือกำเนิดในสหรัฐ ซึ่งเป็นพืชที่ช่วยปลดเปลื้องอารมณ์ของชนเผ่าอินเดียนแดง แต่คนผิวขาวพัฒนามาเป็นยามวนและยาเส้นจนกลายเป็นสินค้าสำคัญที่ขาดไม่ได้ และยังมีฝิ่นที่อังกฤษนำมาจากจีน แต่ต้องยุติไปเพราะถือเป็นยาเสพติดร้ายแรง ทั้งที่เมื่อกว่า 100 ปีก่อนใช้ผลิตมอร์ฟีนและเฮโรอีน

ปัญหายาเสพติดกลายเป็นเรื่องของประชาคมโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือ เช่นเดียวกับไทยก็ต่อต้านและปราบปรามยาเสพติดให้โทษต่างๆ รวมถึงกัญชาและใบกระท่อม ใครปลูก ใครเสพ ถือว่ามีความผิดและต้องถูกจับ

อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาหลายประเทศได้ยอมรับว่ากัญชาเป็นสิ่งเสพติดที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายอารมณ์และเสริมสันทนาการ มีผลกระทบต่อสุขภาพน้อย ซึ่งกัญชาเป็นพืชที่ปลูกง่าย จึงมีแนวความคิดในการนำมาใช้ในการบำบัด

ทำให้มีการพูดถึงการผลักดันกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษ รณรงค์ให้เป็นสิ่งเสพติดที่ทุกคนสามารถใช้ได้ภายใต้การควบคุม ซึ่งหลายประเทศเริ่มให้การยอมรับ

การแก้ปัญหายาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรมเป็นปัญหาใหญ่ของโลก โดยเฉพาะประเทศในลาตินอเมริกาที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของนักค้ายาเสพติด ซึ่งมีอิทธิพลไปถึงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่เมื่อประเทศที่พัฒนาแล้วเห็นว่าการปราบปรามยาเสพติดให้สิ้นซากนั้นเป็นไปไม่ได้จึงต้องหาวิธีการทำให้มีอันตรายน้อยที่สุด และในทางตรงข้ามเกิดประโยชน์ต่อสังคม

ทำให้มีการผ่อนปรนและอนุญาตให้มีการใช้ยาเสพติดต้องห้ามบางชนิดได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ผลในบางประเทศที่ทำให้ปัญหายาเสพติดลดลง ทั้งยังมีรายได้เพิ่มจากภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ

เรื่องของใบกระท่อมและกัญชาเป็นประเด็นที่เริ่มมีการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจริงจัง แม้แต่เครื่องดื่มที่เรียกว่า 4×100 ที่วัยรุ่นภาคใต้นิยมนำมาปรุงดื่ม

การนำสิ่งเสพติดดังกล่าวมาวิจัยอย่างจริงจังและนำมาจดสิทธิบัตร แทนที่จะทำให้เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด จึงอาจทำให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและใช้ในการบำบัดต่างๆที่วางขายตามร้านค้าทั่วโลก


You must be logged in to post a comment Login