วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

‘ภูมิแพ้’ไม่ควรมองข้าม / โดย รศ.นพ.ต่อพงษ์ ทองงาม

On September 12, 2016

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : รศ.นพ.ต่อพงษ์ ทองงาม

ในปัจจุบันประชาชนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อได้รับหรือสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรหญ้า ขนสุนัข ขนแมว ไรฝุ่น หรือสารก่อภูมิแพ้จากอาหาร เช่น แป้งสาลี นม ไข่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าสาเหตุของโรคนี้เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ด้วย

โรคภูมิแพ้เป็นได้เกือบทุกวัย โดยเฉพาะในสังคมเมืองหรือสังคมอุตสาหกรรม เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจว่าเป็นภูมิแพ้จริงหรือไม่ โดยแพทย์จะแนะนำให้ตรวจทดสอบอย่างง่ายๆว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดเพื่อจะได้หลีกเลี่ยง ก็จะทำให้อาการดีขึ้น

หากยังมีอาการอยู่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาร่วมด้วย เช่น หากเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาจใช้ยาแก้แพ้และยาพ่นละอองฝอยเข้าไปในรูจมูก หากเป็นโรคหืดภูมิแพ้ก็อาจใช้ยาสูดเข้าทางปาก เป็นต้น

การรักษาโรคภูมิแพ้ปัจจุบันมี 3 วิธีคือ 1.การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากผู้ป่วยได้รับการทดสอบภูมิแพ้ และทราบว่าตัวเองแพ้อะไร การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อย่างถูกวิธีก็จะทำให้อาการดีขึ้น หรือถ้าไม่ได้ทดสอบภูมิแพ้อาจใช้วิธีสังเกตว่าได้รับสารอะไรแล้วมีอาการก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถควบคุมได้

2.การใช้ยา เช่น ยารับประทาน ยาพ่นเข้าจมูก หรือยาสูดเข้าหลอดลม อาจมีความจำเป็น ผู้ป่วยควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง จึงควรมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

3.การฉีดวัคซีน เป็นการรักษาโดยฉีดวัคซีนสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งแพทย์จะทดสอบภูมิแพ้ก่อนว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด แล้วฉีดสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยมีการปรับภูมิต้านทานทีละเล็กทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณวัคซีน จนในที่สุดร่างกายมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ก็จะมีอาการน้อยลงหรือไม่มีอาการเลย

วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากและไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา การรักษาด้วยวิธีนี้ควรฉีดวัคซีนภูมิแพ้อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ โดยใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี

สำหรับผู้ป่วยที่แพ้อาหารที่มีอาการแพ้รุนแรงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้อย่างเคร่งครัด ในกรณีที่พยายามหลีกเลี่ยงแล้วแต่ยังมีอาการแพ้เนื่องจากได้รับอาหารที่แพ้เจือปนเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยๆ เช่น การแพ้แป้งสาลี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายชนิด ได้แก่ ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารชุบแป้งทอด เป็นต้น ทำให้การหลีกเลี่ยงเป็นไปได้ยาก และมีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งบางครั้งต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ในกรณีนี้แนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้

ปัจจุบันการแพ้อาหารในผู้ป่วยบางรายสามารถรักษาได้ โดยแพทย์จะเป็นผู้เตรียมอาหารที่แพ้ให้ผู้ป่วยรับประทานทีละน้อยๆ และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้ได้ขณะทำการรักษา ซึ่งแพทย์ต้องให้การรักษาอย่างทันท่วงที

เมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำและดูแลตัวเองเป็นพิเศษ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และที่สำคัญควรออกกำลังกายสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่นแจ่มใส อาการก็จะดีขึ้น


You must be logged in to post a comment Login