วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ชี้ขาดคำถามพ่วง

On September 9, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

อัปเดตความคืบหน้าร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำถามพ่วง ล่าสุดศาลฯมีคำสั่งรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว

ประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณามีอยู่เรื่องเดียวคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งมานั้นชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่

เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน ศาลฯสั่งให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งความเห็นและเอกสารที่เห็นว่าเกี่ยวข้องมาให้พิจารณาภายในวันที่ 12 กันยายน

จะเห็นว่าศาลฯไม่ได้ขอความเห็นเพิ่มเติมจากคณะของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ขอความเห็นจาก สปท. ที่เป็นผู้เสนอประเด็นคำถามพ่วงให้ สนช. ขณะที่ ครม.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับประเด็นคำถามพ่วงเรื่องอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. บอกว่าเตรียมเอกสารเอาไว้พร้อมแล้ว โดยเอกสารที่จะส่งไปจะมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นตั้งแต่เริ่มกระบวนการเสนอและพิจารณาคำถามพ่วง และเตรียมบุคคลเข้าชี้แจงต่อศาลฯหากศาลมีคำสั่ง

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. มองในมุมบวกว่าที่ศาลฯไม่ขอเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมจาก กรธ.เพราะได้ส่งรายละเอียดไปครบถ้วนแล้ว

“ไม่รู้สึกกังวล ทุกอย่างเป็นไปตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนหากขยายอำนาจให้ส.ว.มีอำนาจเสนอชื่อจะนำไปสู่วิกฤติการเมืองหรือไม่ ตอบแทนศาลไม่ได้ รอให้ศาลวินิจฉัยก่อน”

ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. บอกว่า

“เมื่อศาลฯขอมา เรายินดีให้ความร่วมมือ สปท.จะสรุป รวบรวมความเห็นและข้อสังเกตจากการประชุม ที่เกี่ยวกับประเด็นคำถามพ่วง ส่งให้ศาลฯ รายละเอียดจะเป็นรายงานที่ไม่มีความเห็นใดเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงจากเดิม จากเนื้อหาเหตุผลที่ สปท.เคยส่งไปให้ สนช.เมื่อวันที่ 1 เมษายน เชื่อว่า ศาลคงอยากทราบที่มาที่ไปของแนวคิดคำถามพ่วง”

สำหรับผลการประชุม สปช.เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุม สปท.มีมติ 136 เสียง เลือกคำถามพ่วง “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ในระยะ 5 ปีแรก นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา”

จะเห็นได้ว่า สปท.ไม่ได้พูดถึงเรื่องให้ส.ว.มีอำนาจเสนอชื่อนายกฯ หรือร่วมรับรองผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ อย่างที่ สนช.นำมาขยายผลจนเป็นประเด็นหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

ส่วน ครม.นั้นน่าจะไม่เคยมีการประชุมเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเพียงรัฐมนตรีบางคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัว

เมื่อศาลฯขอความเห็นจากครม.ด้วยก็ต้องจับตาว่าครม.จะมีความเห็นต่อคำถามพ่วงอย่างไร และเมื่อขอความเห็น ครม.ก็ควรต้องเรียกประชุมและมีมติอย่างเป็นทางการด้วยหรือไม่

ถ้าพิจารณาในตอนนี้ กรธ.และ สปท.มีความเป็นไปในทางเดียวกันคือให้อำนาจส.ว.แค่ร่วมโหวตเลือกนายกฯเท่านั้น

มีเพียง สนช.ที่ต้องการเพิ่มอำนาจให้สามารถเสนอชื่อนายกฯและร่วมยกมือรับรองรายชื่อที่ถูกเสนอได้ด้วย

เมื่อเป็นอย่างนี้บางทีความเห็นครม.อาจมีน้ำหนักชี้ขาดว่าสุดท้ายแล้วคำถามพ่วงจะให้อำนาจส.ว.แค่ไหน อย่างไร เพราะต้องไม่ลืมว่านายกรัฐมนตรีกับหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นคนเดียวกัน

ความเห็นของครม.จึงมีน้ำหนักบ่งบอกความต้องการของคณะรัฐประหารว่าต้องการให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนสามารถทำอะไรได้บ้าง

เมื่อคณะรัฐประหารแสดงความต้องการเด่นชัดไปทางใดทางหนึ่ง ก็มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลฯจะต้องรับฟังไปประกอบการพิจารณาชี้ขาดเรื่องนี้


You must be logged in to post a comment Login