วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

เลือกตั้งได้คนเลว แต่งตั้งได้คนดี? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On September 5, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ปฏิกิริยาหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ “ได้คืบจะเอาศอก” ของกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารที่ออกมา “โยนหินถามทาง” ด้วยการประกาศจะตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้ง แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ออกมายืนยันว่า ส.ว.สรรหามีอำนาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่ใช่แค่มีอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล

กระแสการเมืองจึงพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสงวนท่าทีไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง แต่ก็ทิ้งคำพูด (26 สิงหาคม 2559) ให้ทุกฝ่ายต้องจับตาว่า “ต่อให้งานหนักกว่านี้ ไม่ได้เงินเดือน ผมก็จะอยู่ แต่อยู่ด้วยกลไกประชาธิปไตย ให้สง่างาม แต่จะมาอย่างไรก็ยังไม่รู้เหมือนกัน พอพูดอย่างนี้เดี๋ยวสื่อก็จะไปบอกแล้วว่าเปิดตัว ไม่รู้จะเปิดอะไรกันนักหนา เปิดตัว”

เปรมโมเดล

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาจุดพลุ “เปรมโมเดล” สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง อย่างสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้งแต่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 8 ปี เพียงบริหารจัดการประนีประนอมอำนาจทั้งในและนอกสภาให้ได้ เพราะผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญถือว่าประชาชนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว ยิ่งสร้างผลงานไปเรื่อยๆ ถึงเวลาเลือกตั้งก็จะมีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อทำงานต่อไปอีก 4 ปีแน่ๆ

โดยเฉพาะคำพูดของ พล.อ.เปรมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์นำผู้นำกองทัพและข้าราชการอวยพรวันคล้ายวันเกิด 96 ปี ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ โดยกล่าวชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกมาช่วยชาติ ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ทั้งย้ำว่า “เมื่อเดินหน้ามาแล้วก็ต้องเดินต่อไป เราออกมาแล้ว ถอยไม่ได้ เดินหน้าต่อไป”

ขณะที่นิด้าโพลก็ระบุผลสำรวจว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สอบผ่านทุกด้าน และยังได้รับความนิยมสูงขึ้นอีกด้วย รวมถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคทหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นพลังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ และการเมืองในอนาคตภายใต้บทเฉพาะกาล 5 ปี จะมีทิศทางไปทางใด โดยเฉพาะบทบาทของ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ซึ่ง คสช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เชื่อว่าเป็น “คนดี” มีความจำเป็นที่จะมาผลักดันให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และควบคุมไม่ให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งออกนอกลู่นอกทาง

พูดง่ายๆคือ กลุ่มผู้มีอำนาจไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่าจะเป็น “คนดี” หรือ “ไม่โกง” อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึง ส.ว.สรรหาที่จะเข้ามาทำงานว่าเพื่อป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย คสช. คำนึงถึงคนที่จะมาแก้ปัญหา ไม่ได้มาจับผิดรัฐบาลหรือสืบทอดอำนาจ

“หากไม่ไว้ใจ ส.ว. แล้วไว้ใจอีกพวกหรือไง ผมไม่ได้รังเกียจ ส.ส. แต่ขอ 5 ปีเท่านั้น”

พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำว่า นักการเมืองที่จะมาจากการเลือกตั้งมีทั้งคนดีและคนที่หวังผลประโยชน์ นี่คือจุดด้อยของประชาธิปไตย ไม่กังวลถ้านักการเมืองเป็นคนดีทั้งหมด แต่จะทำอย่างไรให้คนที่ดีเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน

วาทกรรมคนดี-คนเลว

วาทกรรม “ปฏิรูปประเทศ” ทำให้สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้แนวคิดการแต่งตั้ง “คนดี” เพื่อเข้ามาควบคุมนักการเมือง “คนเลว” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง (แต่ฝ่ายเดียว) ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์

การเมืองไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังจมปลักกับวาทกรรม “คนดี-คนเลว” ทั้งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นแค่วาทกรรมการเมืองที่ต้องการสร้างความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม เพียงเพื่อกำจัดอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นเครื่องมือในกระบวนการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง กองทัพ หรือกลุ่มทุนผูกขาด

วาทกรรม “คนดี-คนเลว” จึงไม่ใช่ความหมายตามหลักศีลธรรม จริยธรรม หรือศาสนา ในเรื่องของกรรมดีกรรมชั่ว อย่างที่กลุ่มชนชั้นนำใช้ประณามนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งที่การทุจริตคอร์รัปชันจะเกิดไม่ได้เลยหากระบบราชการและข้าราชการไม่เกื้อหนุนหรือร่วมมือ

ไม่มีใครปฏิเสธว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่โกง ไม่ทุจริต แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เช่นเดียวกับไม่มีใครเชื่อว่านักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งจะไม่ทุจริตและเป็นคนดีทุกคน

มายาคนดีในการเมืองไทย

แท้จริงแล้ว ส.ว. 250 คนที่ คสช. จะแต่งตั้งมาผลักดันการปฏิรูปประเทศก็คือ “นักการเมือง” ประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับ ส.ส. ที่ต่างกันก็คือ ส.ว. เป็นนักการเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจพิเศษ ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน แต่ ส.ส. เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน

ภายใต้วาทกรรมทางการเมือง “คนดี-คนเลว” จึงเป็นแค่ “มายาคติทางการเมือง” อย่างที่นายเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในบทความ “มายาคนดีในการเมืองไทย” ตอนหนึ่ง (19 ธันวาคม 2556) ว่า เรื่องคนดีถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองในสังคมไทยก็เพราะความปรารถนาที่อยากได้คนดีมาเป็นนักการเมือง ผู้บริหาร หรือผู้ปกครองประเทศ ในสภาวการณ์ที่การเมืองไทยเต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชัน การประพฤติมิชอบในอำนาจหน้าที่ ผลพวงของระบอบทักษิณและการผลิตซ้ำของ “ชุดวาทกรรมนักการเมืองมันชั่ว มันเลว มันโกงกินบ้านเมือง”

“คนดีคือใคร?” คำถามทางปรัชญานี้เป็นโจทย์ทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินชีวิต (a conduct of life) ที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับบุคคลหรือคนแต่ละคน เป็นหลักที่เรียนรู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรบนพื้นฐานและความเข้าใจต่อความดี รวมทั้งการวางตนและการปฏิบัติตนที่มีเป้าหมายไปสู่การมีชีวิตที่ดีและมีความสุขตามครรลองของคุณธรรมความดีที่ตนเองยึดถือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณธรรมการเป็นคนดีจะทำให้สังคมดีหรือสงบสุขได้ เพราะการอยู่ร่วมกันในสังคม คุณค่าที่เป็นพื้นฐานและสำคัญที่สุดคือ ความยุติธรรม

นายเกษมยังชี้ว่า สังคมไทยพยายามที่จะนำเอาคุณค่าของความดีให้มีความสำคัญและเหนือกว่าคุณค่าอื่นๆ ทั้งหมดนี้มาจากแนวคิดที่เชื่อว่าการเมืองจะทำให้สังคมที่ดีเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเมืองได้บรรจุคุณค่าของความดีให้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางการเมือง แนวคิดนี้จึงวางแนวทางที่จะทำให้ความดีเป็นรากฐานของการเมืองด้วยการสร้างศีลธรรมทางการเมืองให้เกิดขึ้นภายใต้เจตจำนงให้คนดีเป็นผู้ปกครองประเทศ แต่นี่คือมายาคติ

เจตจำนงให้คนดีเป็นผู้ปกครองประเทศเกิดจากความคิดที่ว่า ถ้ามีคนดีมาเป็นผู้ปกครองแล้วประเทศชาติจะดี สงบสุข และเจริญก้าวหน้า เพราะผู้ปกครองที่ดีจะคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้คนดีเป็นผู้ปกครอง

ความคิดนี้อาจย้อนรอยถอยหลังกลับไปยังแนวคิดเรื่องราชาปราชญ์ (Philosopher King) ในหนังสืออุตมรัฐ (Republic) ของเพลโต ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นความพยายามของเพลโตที่แสวงหาผู้ปกครองที่ดีในโลกสมมุติที่สมมุติว่าเมื่อมีราชาปราชญ์มาปกครอง สังคมที่เป็นอยู่จะสงบสุขและเกิดความเป็นธรรมขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเพลโตก็ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวและนำเสนอรูปแบบผู้ปกครองในบทสนทนาผู้ปกครอง (Statesman) ว่า ผู้ปกครองที่ดีควรต้องอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง เพราะไม่มีหลักประกันอันใดต่อผู้ปกครองจะครองตนเป็นผู้ปกครองที่ดีได้หากปราศจากระเบียบและกฎเกณฑ์ที่กำกับแนวทางในการปฏิบัติตนเป็นผู้ปกครองที่ดี

น่าเสียดายที่ความรู้เกี่ยวกับเพลโตในสังคมไทยจำกัดอยู่เพียงแค่ความคิดเรื่องราชาปราชญ์จนมองไม่เห็นข้อบกพร่องของความคิดนี้ และยังยึดเป็นแนวทางในการแสวงหาคนดีดังกล่าวที่มาจากโลกสมมุติ

กล่าวอย่างสั้นๆก็คือ ไม่มีหลักประกันอันใดที่จะยืนยันว่าคนดีซึ่งเป็นผู้ปกครองจะดำรงตนเป็นผู้ปกครองที่ดีได้เมื่อมีอำนาจ นอกจากกฎเกณฑ์ที่กำกับและตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นๆ

คนดี เป็นยังไง ดูยังไง?

นายโสภณ พรโชคชัย ผู้บริหารด้านอสังหาริมทรัพย์ เขียนบทความ “คนดี เป็นยังไง ดูยังไง” (21 เม.ย. 2554) ตอนหนึ่งถึงปรากฏการณ์ที่หลายคนแสดงตัวเป็นคนดีในสังคมไทยว่า เป็นคนดีจริงหรือไม่ ไม่ใช่คนชั่วในคราบคนดีที่ดีแต่เปลือก โดยเฉพาะพวกปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอที่มักเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อ หรือให้ลูกสมุนยกหางของตนอย่างไม่ละอาย แต่ตัวตนที่แท้จริงกลับเป็นซาตานเกาะกินทำลายชาติ อาศัยอาภรณ์ของความดีมาแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว ประเทศชาติกลับต้องหาเลี้ยงคนเหล่านั้นด้วยภาษี แล้วพวกเขายังใช้สถานะที่เหนือปุถุชนกอบโกยโกงกินจนร่ำรวยมหาศาล

นายโสภณชี้ว่า ปุถุชนธรรมดาทั่วไปนี่แหละคือคนดีแท้ เพราะ 1.เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ประเทศชาติอยู่ได้ เจริญขึ้น และกลายเป็นโอกาสให้กาฝากเสพสุขและฝังลึกลงในกลไกการปกครองแผ่นดิน 2.เป็นผู้ที่ตายเพื่อชาติอย่างแท้จริงในสงครามต่างๆที่พวกเขาไม่เคยได้ก่อ แต่มักก่อโดยชนชั้นปกครองในอดีต หรือเหล่าจักรวรรดินิยม แม้ในยามชาติล่มจม เช่น ลาว เขมร เวียดนาม ปุถุชนนี่แหละคือผู้ที่ยังอยู่สร้างชาติขึ้นมาใหม่ ส่วนพวกคนรวย คนมีสถานะสูงส่ง นายทหารใหญ่ ข้าราชการระดับสูง หรือพวกรักสถาบันจนน้ำลายไหล ล้วนหนีไปเสพสุขใต้ปีกจักรวรรดินิยม

ถ้าเราศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราต้องมองเห็นค่าของปุถุชนคนเล็กคนน้อยที่ค้ำจุนสังคม เราต้องเคารพในเสียงส่วนใหญ่ของปุถุชน แต่บางคนกลับบิดเบือนว่าเสียงส่วนใหญ่เชื่อไม่ได้ โดยยกตัวอย่างว่าชาวเยอรมันส่วนใหญ่หลงผิดจนเกิดฮิตเลอร์ ข้อนี้ไม่จริง ฮิตเลอร์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวและต่อมารวบอำนาจโดยการก่อรัฐประหารจนนำเยอรมนีไปสู่วิบัติ

ในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เราจึงต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของปุถุชน แต่ถ้าเป็นศิลปะวิทยาการ เราต้องฟังผู้เชี่ยวชาญ เช่น การสร้างจรวดไปดวงจันทร์ เป็นต้น

อย่าถวิลหาดีบริสุทธิ์

นายโสภณระบุว่า พวกคนดีจอมปลอมไม่เชื่อว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” และมักถวิลหาคนดีบริสุทธิ์ที่สวรรค์ประทานมาโดยไม่ยอมเข้าใจความจริงว่า “สถานการณ์ต่างหากที่เป็นผู้สร้างวีรบุรุษ”

ถ้าเราเชื่ออย่างหยุดนิ่งแบบที่ว่า คนดีนั้นต้องดีตลอด ดีบริสุทธิ์ เราก็จะถูกคนดีจอมปลอมที่อ้างว่าสรวงสวรรค์ส่งตนมา เช่น คนทรงเจ้าเข้าผี หรืออื่นๆ หลอกเราได้ การถวิลหาความดีบริสุทธิ์ทำให้เราเชื่อคนง่าย สรรเสริญคนดีจอมปลอมอย่างไร้สติ กลายเป็นว่าเราเอาชะตาชีวิตของตัวเองไปฝากไว้กับพ่อหมอ ท่านครู หรือฝากชะตากรรมของประเทศไว้กับผู้ปกครองคนใด ทั่วโลกชิงชังเผด็จการ เพราะไม่ว่าจะอ้างตนว่าอวตารมาจากไหนก็ล้วนกลายร่างเป็นทรราชเมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จคนเดียวหรือคณะเดียว

ในสังคมอารยะสมัยปัจจุบันเราต้องมีเกณฑ์วัดความดี สิ่งดี หรือคนดี ไม่ใช่สักแต่เชื่อตามคำร่ำลือ หรือการโฆษณาชวนเชื่อ เกณฑ์เหล่านี้คือบรรทัดฐานที่ทำให้เราวินิจฉัยได้ว่า ใครดีจริง หรือดีแบบกำมะลอ อย่างที่โบราณว่าไว้ “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” ต้องทนทานต่อการพิสูจน์ คนที่จะเป็นคนดีจริงต้องเจริญสติ หมั่นตรวจสอบตนเองและเพียรทำดีอยู่เสมอ

เราต้องมีระบบการตรวจสอบและประกันความผิดพลาด เช่น หมออาจลืมกรรไกรไว้ในท้องคนไข้ ไม่มีหมอคนไหนตั้งใจทำ แต่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความประมาท ดังนั้น จึงต้องมีการประกันความผิดพลาดคุ้มครองทั้งนักวิชาชีพและผู้รับบริการ

อาจกล่าวได้ว่า ความดี ความสำเร็จที่แท้ มาจากการฝึกฝน ยืนหยัดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอต่างหาก ไม่ใช่มาจากการท่องมนต์ท่องคาถา ไม่ใช่มาจากการนั่งยุบหนอพองหนอ หรือไม่ใช่มาจากการเที่ยวไปจาริกแสวงบุญยังสถานที่สำคัญของพระศาสดาแต่อย่างใด คนดีจริง “ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้”

องค์กรอิสระ-มาเฟียอำนาจที่ 4

วาทกรรมคนดีภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งเปรียบเหมือนพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังมีองค์กรอิสระต่างๆที่มาจากกระบวนการสรรหาหรือแต่งตั้งเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดแทบไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลย อย่างศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงอำนาจที่พิสดารมากมาย ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยก็ขยายอำนาจจนเหมือน “ซูเปอร์องค์กร” ที่มีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยเฉพาะอำนาจตามมาตรา 7 ที่เคยมีปัญหาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งยังมีอำนาจถอดถอนนักการเมืองด้วย “มาตรฐานจริยธรรม” อีกด้วย

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าองค์กรอิสระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยเปรียบเหมือน “มาเฟียอำนาจที่ 4” เพราะองค์กรใดก็ตามที่มีทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ 3 อำนาจในองค์กรเดียวก็คือองค์กรมาเฟียที่ไม่มีความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย เพราะระบบแบ่งแยกอำนาจถูกทำลาย

โดยเฉพาะการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายวรเจตน์เห็นว่า หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐแล้ว เราจะยังอยู่ในหลักแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่ายได้อย่างไร ศาลตีความทุกคนต้องยอมรับ แต่ไม่ใช่บอกว่าศาลมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ

นอกจากนี้นายวรเจตน์ยังกล่าวถึงศีลธรรมของความดีผ่านรายการ “วัฒนธรรมชุบแป้งทอด” (11 พ.ย. 2558) ว่า “ระบบที่ดีมันจะทำให้ในที่สุดได้คนดีของระบบขึ้นมา คนดีในระบบที่ไม่ดีไม่สามารถทำอะไรได้หรอกครับ กำลังมันน้อยเกินไป แต่ถ้าเกิดระบบที่สร้างขึ้นมามันดีแล้วปล่อยให้ระบบเดินไป บกพร่องก็แก้ไป สุดท้ายตัวระบบจะกลั่นกรองคนที่ดี คนที่ดีหมายถึงคนที่มีความสามารถในการทำงานเพื่อสาธารณะแล้วถูกตรวจสอบได้โดยระบบตรวจสอบที่ดี”

คนเลวเลือกตั้ง-คนดีสรรหา

วาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” จากการปลุกของ กปปส. ซึ่งในที่สุดก็ได้ ส.ว.ลากตั้งที่เชื่อว่าเป็น “คนดีเหนือใคร” เข้ามาควบคุมนักการเมือง “คนเลว” ที่มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจหน้าที่แทบจะเป็น “พรรคการเมืองพิเศษ” ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง (แต่ฝ่ายเดียว) ของนายมีชัย จึงเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจกรอกหูให้เชื่อว่า วิกฤตบ้านเมืองจะหมดไปได้ต้องให้ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็น “คนเลว” อยู่ภายใต้การควบคุมของ “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง” ที่เป็น “คนดี”

คำถามอะไรคือหลักประกันว่า “คนดี” ที่มาจากการแต่งตั้งจะทำให้ประเทศไทยปฏิรูปประเทศสำเร็จ มีประชาธิปไตยที่มั่นคงและเศรษฐกิจมั่งคั่งอย่างที่ คสช. ประกาศ เพราะขนาดรัฐบาลทหารและ คสช. ที่ล้วนแล้วแต่เป็น “คนดี” และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังมีคำถามว่า กว่า 2 ปีในการใช้เวลามีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมและประชาชนยอมรับได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการยึดอำนาจโดยอ้างเหตุผลเพื่อสร้างความปรองดองนั้น บัดนี้ปรองดองกันมากขึ้นหรือแตกแยกกันหนักข้อกว่าเดิม?

ไม่มีใครไม่อยากได้ผู้ปกครองที่ดี นักการเมืองที่ดี หรือ “คนดี” แต่ความดีเป็นเพียงวาทกรรมการเมือง หากไม่มี “ความยุติธรรม” เราจะอยู่กันได้อย่างไร?

ผู้มีอำนาจในบ้านในเมืองนี้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็ล้วนแล้วแต่เล่นกับอำนาจการเมืองและเป็น “นักการเมือง” ด้วยกันทั้งนั้น

หากการใช้วาทกรรมว่า “นักการเมืองนั้นเลว” เป็นความถูกต้อง ก็ย่อมจะหมายถึง “เลวกันทั้งนั้น” ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

ความจริงที่เห็นชัดกว่า แต่ทำเป็นมองกันไม่เห็นก็คือ “นักการเมือง” ที่อาสาเข้ามารับใช้และทำหน้าที่แทนประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศและอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงนั้น “ไม่ว่าจะดีหรือเลว” ต้องเป็นคนที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกมา ต้องพร้อมถูกตรวจสอบ ถูกวิจารณ์ ถูกชื่นชมได้ ถ้าไม่ดี ถ้าเลว ถ้าชั่ว ถ้าโกง ประชาชนต้องตำหนิได้ เอาผิดได้ เปลี่ยนได้ ไล่ได้ และเลือกคนใหม่ที่อาสามารับใช้ประชาชนได้เอง ถ้าดี ถ้าชอบ ถ้าไว้วางใจ จะเลือกให้มาทำงานต่อไปอีกก็ได้

น่าฉุกคิดหรือไม่ว่า ทำไม “คนดี” จึงต้องให้คนอื่นเลือกแทนเราที่เราไม่ได้เลือก ที่สำคัญคือ “คนดี” เหล่านั้นห้ามใครวิจารณ์ ห้ามใครตรวจสอบ..

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า “ดีจริง”?


You must be logged in to post a comment Login