วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ความเสื่อมของอนุรักษ์นิยม / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On September 5, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

ได้อ่านบทความที่ “ศาสตราจารย์” ท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า “ทหารไม่ใช่คนไทยหรือครับ?” เพื่อที่จะบอกว่าทหารก็มีสิทธิจะเป็น “นายกฯคนนอก” ได้ ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่สรุปความว่า ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมในปัจจุบันไม่สามารถใช้ “ภูมิปัญญา” ปกป้องคุณค่าอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมไว้ได้อีกต่อไปแล้ว พวกเขาจึงอาศัยสิ่งที่เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวคือ “อำนาจปืน” เท่านั้น

ผมคิดว่ามุมมองของอาจารย์นิธิสอดคล้องกับความเป็นจริงอยู่มากทีเดียว เพราะเวลาที่เราเห็นกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐและเครือข่ายของพวกเขาโต้แย้งฝ่ายที่เห็นต่าง ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ พวกเขามักจะแปลความหมายของความคิดก้าวหน้า เช่น เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอย่างคลุมเครือ หรืออย่างผิดๆ ขณะเดียวกันเมื่ออ้างความคิดอนุรักษ์นิยม เช่น ความเป็นไทย ความเป็นพุทธ และอื่นๆ พวกเขาก็ไม่สามารถให้เหตุผลได้ชัดเจนว่าทำไมเมื่อชาติของเราจะรักษาความเป็นไทยและความเป็นพุทธแล้วจึงไม่สามารถจะเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยได้

ในโลกสมัยใหม่ การดำรงอยู่ของความเชื่อ คุณค่า อุดมการณ์ใดๆ จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับที่ชัดเจนพอสมควร ไม่ใช่สักแต่ว่าต้องปลูกฝังให้คนเชื่อว่า “ดี” หรือ “เหมาะสมที่สุด” กับชาติของเราเท่านั้น

นักปรัชญาเสรีนิยมพูดเอาไว้กว่าร้อยปีมาแล้วว่า การที่สังคมมีเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกได้เต็มที่ย่อมจะเป็นประโยชน์แม้ต่อการปกป้องความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมเอง เพราะถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพให้ประชาชนตั้งคำถามต่อความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมเลยก็เท่ากับว่าความคิดความเชื่อนั้นไม่มีโอกาสได้เผชิญกับการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกท้าทายด้วยวิธีอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุผลที่รองรับความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมก็จะค่อยๆเลือนหายไป คนส่วนใหญ่ก็เพียงแค่เชื่อตามที่ปลูกฝังกัน หรือเชื่อตามที่บอกหรือสอนต่อๆกันมาเท่านั้นว่า ความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมที่ยึดถือสืบทอดกันมาช้านานนั้นดี ถูกต้อง เหมาะสมกับสังคมเรามากที่สุด

แต่พวกเขาไม่สามารถอธิบายเหตุผลเบื้องหลังความเชื่อนั้นได้ว่าคืออะไร และอธิบายเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมเมื่อวันเวลาผ่านไป โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ความคิดความเชื่อเก่าๆเหล่านั้นจึงยังคงเหมาะสมกับสังคมเรามากที่สุด

ทว่าหากสังคมมีเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก ความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมที่คนส่วนใหญ่ยึดถือกันมานานก็ย่อมจะถูกท้าทาย ถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือเทียบเคียงกับความคิดความเชื่อใหม่ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมก็มีโอกาสที่จะแสดงเหตุผลดั้งเดิมของตัวมันเอง และมีการพัฒนาเหตุผลใหม่ๆ เพื่อตอบโต้กับการท้าทายใหม่ๆ กระทั่งปรับปรุงตัวมันเอง โดยอาจจะลดลักษณะความเป็นอนุรักษ์นิยมในบางด้านที่ล้าหลัง ตกยุคทิ้งไป คงรักษาไว้เฉพาะเนื้อหาสาระที่เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม

ฉะนั้นในบริบทโลกสมัยใหม่ ความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมไม่สามารถจะปกป้องไว้ได้ด้วยอำนาจเผด็จการ เพราะอำนาจเผด็จการนั่นเองจะ “แช่แข็ง” ความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมไม่ให้มีโอกาสได้ถูกท้าทายอย่างเสรี ไม่มีโอกาสแสดงเหตุผลที่ชัดเจนและปรับปรุงตัวมันเอง

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่กลัวหรือหวาดระแวงเสรีนิยมประชาธิปไตยจึง “คิดผิด” อย่างแรง เพราะเท่ากับคุณกำลังกลัวโอกาสที่ความคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์อนุรักษ์นิยมจะดำรงอยู่ได้อย่างมีเหตุมีผล เหมาะกับโลกที่เปลี่ยนไป ดูอังกฤษและญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ทำไมเมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมยอมรับให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์จึงดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่

ถ้าจะมีประชาชนบางส่วนไม่ยอมรับ เขาก็แสดงออกตามกติกาประชาธิปไตย เช่นในอังกฤษ ประชาชนที่ไม่ยอมรับก็สามารถตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ หรือมีการทำโพลสำรวจความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ได้ เมื่อเสียงข้างมากยังยอมรับสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอยู่ก็ไม่มีใครจะล้มสถาบันกษัตริย์ได้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น พูดง่ายๆคือ ในอังกฤษตราบที่เสียงข้างมากของประชาชนยังยอมรับสถาบันกษัตริย์ ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ก็จะอยู่คู่กับความมั่นคงของประชาธิปไตยเสมอไป

เพราะในอังกฤษสถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยเสียงข้างมากของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และไม่มีการอ้างสถาบันกษัตริย์ในทางที่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย หรืออ้างต่อสู้ทางการเมืองเพื่อล้มระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงว่าเพราะคุณค่าของสถาบันอนุรักษ์นิยมได้ถูกท้าทายภายใต้เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยได้ จึงทำให้สถาบันอนุรักษ์นิยมมีโอกาสได้รักษาความมีเหตุผลของคุณค่าดั้งเดิมเอาไว้ได้ และแก้ไขความล้าหลังบางอย่าง พร้อมกับพัฒนาความคิดและเหตุผลใหม่ๆให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

ปัญหาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยที่เชื่อว่า คุณค่า ความคิด อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเป็นสิ่งที่ดีงาม เหมาะสมกับสังคมไทย คือการที่พวกเขาไม่เปิดกว้างต่อเสรีภาพในการตั้งคำถาม ท้าทาย วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ คุณค่า ความคิด อุดมการณ์ที่พวกเขาเชื่อ จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถดึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของคุณค่า ความคิด อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมออกมาแสดงได้อย่างกระจ่างแจ้ง ขณะเดียวกันก็ไม่กระจ่างในหลักการ ตรรกะเหตุผลของความคิดก้าวหน้า เช่น ความคิดเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน

เมื่อพวกเขาไม่เข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล เบื้องหลังของคุณค่า ความคิด อุดมการณ์ที่พวกตนยึดถือ และไม่เข้าใจกระจ่างในความคิดที่ก้าวหน้า ซึ่งเข้ามาท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีเดียวที่เหลืออยู่ที่พวกเขาใช้ปกป้องคุณค่า ความคิด อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมก็คือ “อำนาจปืน” แต่นี่เป็นวิธีที่สวนทางกับความยั่งยืนของคุณค่า ความคิด อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่เปิดกว้างต่อเสรีภาพในการตั้งคำถามท้าทายจากความคิดใหม่ๆ


You must be logged in to post a comment Login