วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

อีหรอบเดียวกัน

On September 5, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ปัญหาการส่งเรื่องพิจารณาคำถามพ่วงร่างรัฐธรรมนูญกลับไปกลับมาระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับศาลรัฐธรรมนูญ กำลังถูกจับตามองว่า “มีอะไร” หรือไม่

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องทำตามข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามข้อ 17 และ ข้อ 18 เพื่อให้เป็นมาตรฐานเหมือนกับทุกหน่วยงานราชการอื่นโดยทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่นายกรัฐมนตรี เพื่อป้องกันการเกิดข้อครหา

แต่อีกฝ่ายกลับมองว่าเรื่องมาก ตั้งแง่ เพราะระดับปรมาจารย์ทางกฎหมายส่งเรื่องไปไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด

แม้แต่มือกฎหมายหลักของรัฐบาลยังออกมาติงว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ต้องรับเรื่องพิจารณา ยกเว้นข้อกำหนดบางเรื่องได้ไม่จำเป็นต้องทำให้เหมือนเรื่องอื่นๆ ต้องรับพิจารณาโดยเร็วเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอน ไม่อย่างนั้นจะถูกมองว่ายื้อเวลา

คำว่า “ยื้อเวลา” อาจไม่ใช่แค่ความกังวลว่าจะถูกสังคมมองว่า “ยื้อเวลา” แต่อาจมีข้อกังวลตามกฎหมายมาเกี่ยวข้องด้วย

ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ กรธ.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลประชามติ

กรณีนี้ กกต.ประกาศผลประชามติอย่างเป็นทางการเมืองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อนับนิ้วดูแล้วจะครบกำหนดเวลาที่ต้องยื่นเรื่องวันที่ 9 กันยายน ถ้ายังส่งเรื่องกลับไปกลับมาจนเกินกำหนดจึงเกรงว่าจะมีปัญหาตีความทางกฎหมายตามมาจนมีผลต่อร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้แม้จะมีการตั้งแง่พอให้เห็นความไม่ลงรอยกันอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะอย่างไรก็นั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน

แต่ที่น่าจะเป็นปัญหาตามมาคือกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้งแทน กกต. ให้คสช.คุมการเลือกตั้ง ห้ามผู้สมัครแห่รถ ตั้งเวทีปราศรัยให้เสียง ให้มีบทลงโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ฯลฯ

แม้ตามหลักการทุกคนมีสิทธิ์เสนอกฎหมาย แต่เมื่อข้อเสนอเหล่านี้ออกมาจากหนึ่งในแม่น้ำห้าสายจึงทำให้ถูกมองว่ายิ่งกว่า “ได้คืบจะเอาศอก”

แน่นอนว่าตามหลักการทุกคนมีสิทธิ์เสนอกฎหมาย

แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นไปหลักการที่ยกมาใช้กล่าวอ้าง เพราะในความเป็นจริงแม้ทุกคนมีสิทธิ์เสนอกฎหมาย แต่ไม่มีสิทธิ์ที่กฎหมายที่นำเสนอนั้นจะถูกนำไปพิจารณาสำหรับทุกคน

เหมือนกรณีการร่างรัฐธรรมนูญที่ข้อเสนอจากนักการเมือง นักวิชาการมากมายที่ไม่ได้ถูกนำไปพิจารณา

ประเด็นที่ถูกนำไปพิจารณายังคงเป็นประเด็นที่คิดเห็นเหมือนกัน สอดคล้องกัน ส่งเสริมกัน และมาจากพวกเดียวกันเป็นหลัก

จึงไม่ควรอ้างหลักการที่ทุกคนมีสิทธิ์เสนอกฎหมายเพื่อให้ข้อเสนอที่คิดเห็นเหมือนกัน สอดคล้องกัน ส่งเสริมกัน และมาจากพวกเดียวกัน มีความชอบธรรม

ตามธรรมชาติชนใดเป็นผู้ร่างกฎหมายย่อมมุ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มชนนั้น

ยิ่งวางแผนคุมอำนาจเอาไว้ยาวถึง 20 ปี กฎหมายที่ออกมาก็ต้องมุ่งสนอง สนับสนุนให้สามารถเดินตามแผน เดินตามยุทธศาสตร์ได้

ดังได้เห็นตัวอย่างมาแล้วจากร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อมาถึงกฎหมายลูกก็คงอีหรอบเดียวกัน


You must be logged in to post a comment Login